ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ คือ, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ความหมาย, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์

           กิจการธนาคารพาณิชย์ในแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการและกรอบการดำเนินงานต่างกันตามสภาพแวดล้อมทาเศรษฐกิจ  สังคม และสภาพความสัมพันธ์ที่เป็นมาแต่อดีต หากแต่เนื้อหาของการดำเนินงานจะคล้ายคลึงกัน

           เราแบ่งธนาคารพาณิชย์ตามขอบข่ายการดำเนินงานได้ ๒แบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ในระบบธนาคารเดี่ยว (unit banking) และธนาคารพาณิชย์ในระบบธนาคารสาขา (branch banking)

           ระบบธนาคารเดี่ยว หมายถึง ระบบที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีสำนักงานเพียงแห่งเดียว ดำเนินการโดยเอกเทศ ไม่อยู่ใต้การควบคุมของธนาคารอื่น และไม่มีธนาคารใดอยู่ในการควบคุมของตน ธนาคารลักษณะนี้แพร่หลายมากในสหรัอเมริกา มักจะเป็นธนาคารที่ตั้งในท้องถิ่นและดำเนินงานโดยบุคคลในท้องถิ่นเพื่อสนองความต้องการด้านบริการทางการเงินของบุคคลในชุมชนนั้น

           ระบบธนาคารสาขา หมายถึง ระบบการธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีสาขามากมายหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศหรือในต่างประเทศด้วย เพื่อความสะดวกในการโยกย้ายถ่ายเทเงินทุนระหว่างประเทศ และให้บริการด้านธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศแก่ลูกค้าของธนาคาร สาขาแต่ละแห่งจะให้บริการในท้องถิ่นที่สาขาตั้งอยู่ แต่นโยบายการดำเนินงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นระบบธนาคารสาขาเช่นเดียวกับประเทศไทย

           ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ "การธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า "การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ๑ (ข) ซื้อขายตั๋วแลกเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด๒ (ค) ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ"๓ การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เปรียบเสมือนเป็นตัวกลางทางการเงิน ทำหน้าที่รับฝากเงินและกู้ยืมเงินจากแหล่งต่างๆ ที่มีเงินเหลือมาให้กู้ยืมต่อแก่ผู้ที่ต้องการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งให้กับผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้และคิดดอกเบี้ยจากผู้ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่สูงกว่า ธนาคารได้รายได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างนั้น รายได้นี้ธนาคารนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าอาคาร และวัสดุต่างๆ รายได้ส่วนที่เหลือหลังจากการจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นกำไรจากการประกอบการ ซึ่งพิจารณาการดำเนินงานได้จากงบการเงินของธนาคารพาณิชย์

          ธนาคารพาณิชย์มีเงินรับฝากเป็นแหล่งที่มาของเงินทุน (source of funds) ที่สำคัญในการดำเนินงาน รองลงมาคือ เงินกู้ยืม และเงินส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ เอง ซึ่งจะมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเงินรับฝาก

          เงินรับฝากที่ธนาคารพาณิชย์รับฝากจากประชาชนทั่วไป แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะของระยะเวลาของการฝากได้เป็น ๓ ประเภท คือ

          ๑. เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่ผู้ฝากจะโอนจ่ายเงินในบัญชีของตนให้กับผู้อื่นได้ด้วยการเขียนเช็คสั่งจ่าย ธนาคารพาณิชย์จะโอนเงินจำนวนเท่ากับที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เป็นเจ้าของบัญชี) ระบุไว้บนเช็ค ให้กับผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงินหรือจ่ายให้กับธนาคารอื่นที่ส่งเช็คฉบับนั้นมาเรียกเก็บ ปกติธนาคารจะไม่ให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากประเภทนี้ เพราะถือว่าบัญชีนี้ให้ประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่เป็นตัวเงินกับผู้ฝาก คือ ทำให้ผู้ฝากได้รับความสะดวกในการใช้จ่ายเงินโดยเขียนเช็คสั่งจ่ายแทนการเบิกเงินสดจากธนาคาร

          ๒. เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่สนับสนุนการออมของผู้ออมรายย่อย ธนาคารจะไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะรับฝากแต่ละครั้ง หรือกำหนดไว้ต่ำมาก จึงเป็นบัญชีที่ผู้ออมอาจนำเงินฝากไว้แม้ว่าจะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไม่มีกำหนดเวลาของการรับฝากเหมือนเงินฝากประจำ ธนาคารให้ดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ฝากค้างไว้ แม้ว่าดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเงินฝากประจำ แต่เงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้ความสะดวกในการถอนเงินมากกว่า

          ๓. เงินฝากประจำ เป็นเงินฝากที่ผู้ฝากจะกำหนดระยะเวลาของการฝากไว้ เช่น เป็นเงินฝากระยะ ๖ เดือน ๑ ปี ๒ ปี เป็นต้น ปกติธนาคารจะกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ธนาคารจะรับฝากสำหรับการฝากแต่ละครั้ง เงินฝากประเภทนี้จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น เพราะเงินฝากที่มีระยะเวลากำหนดแน่นอนและมีระยะเวลานานเป็นเงินที่ธนาคารพาณิชย์จะนำไปหาผลประโยชน์ได้สะดวกกว่าเงินฝากประเภทอื่น ไม่ต้องเผื่อเงินสำรองไว้เพื่อถอน มากเท่ากับเงินฝากประเภทอื่น การถอนเงินฝากประเภทนี้กับธนาคารพาณิชย์ในเมืองไทยนั้น ผู้ฝากอาจถอนได้เมื่อต้องการ ไม่มีการกำหนดว่าให้ผู้ฝากแจ้งล่วงหน้า แต่เมื่อผู้ฝากขอถอนเงินก่อนที่เงินฝากนั้นจะถึงกำหนดตามที่ตกลงทำสัญญาไว้กับธนาคารเมื่อแรกฝาก  ธนาคารพาณิชย์จะหักลดดอกเบี้ยลงจากที่ได้ตกลงไว้เดิม

          นอกจากเงินฝากสามประเภทใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังมีโครงการส่งเสริมการออมอีกหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะรายได้ของผู้ฝาก เช่น การรับฝากจากผู้ฝากเป็นประจำทุกเดือนเป็นจำนวนเงินเดือนละเท่าๆ กันตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ๒ ปี หรือ ๓ ปี เมื่อฝากครบตามระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายคืนเงินให้พร้อมทั้งสมทบเงินให้อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยจำนวนนี้เมื่อคำนวณออกมาจะใกล้เคียงกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

          ธนาคารพาณิชย์นำเงินที่ได้จากการรับฝากเงิน การกู้ยืม และเงินทุนของตนเองไปให้กู้ยืมแก่ลูกค้า ลงทุนซื้อสินทรัพย์ทางการเงินและดำเนินธุรกิจอื่นในขอบเขตที่ธนาคารพาณิชย์พึงกระทำได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ต่อไป

          ทางใช้ไปของเงินทุนของธนาคารพาณิชย์  (use of funds) มีรายการที่สำคัญอันเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์  คือ เงินให้กู้ยืม มีอัตราประมาณร้อยละ  ๗๕ ของสินทรัพย์ทั้งหมด รองลงมาคือการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ทั้งในภาคเอกชนและรัฐบาล เช่น ซื้อพันธบัตรและตั๋วเงินคลังของรัฐบาล หรือซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำเงินทุนไป
ใช้ในการลงทุนสร้างอาคารสำนักงาน และซื้อสินทรัพย์อื่นๆ และธนาคารพาณิชย์ยังต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรองเพื่อใช้ในการเบิกถอนของผู้ฝากเงินด้วย

          เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะเป็นเงินให้กู้ยืมระยะสั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งที่มาของเงินทุน อันได้แก่ เงินรับฝากจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากอายประมาณ ๑ ปี ด้วยเหตุนี้เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์จึงมุ่งให้กู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการค้าปลีกและค้าส่ง อุตสาหกรรมและการนำเข้าและส่งออกสินค้า รวมกันมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมด กิจการดังกล่าวนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่เจริญแล้วและให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ส่วนในภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่เจริญ เช่น ภาคเกษตรนั้น ธนาคารพาณิชย์ถูกกำหนดโดยข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปล่อยสินเชื่อหรือให้กู้ยืมแก่ภาคเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๓ ของยอดเงินฝากรวมของธนาคารนั้นในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยจะดำเนินการให้กู้ยืมเองหรือนำไปฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรนำไปให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรกู้ยืมแทน ตามนโยบายของทางการที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์
ปล่อยสินเชื่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม เงินให้กู้อีกประเภทหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจและให้กู้ยืมมากขึ้นคือ การให้กู้ยืมแก่บุคคลทั่วไปเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นเงินให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงน้อยมากสำหรับธนาคารพาณิชย์เอง แต่เป็นเงินกู้ในระยะค่อนข้างยาว

         การให้กู้ยืมหรือการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แยกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
         ๑. เงินให้กู้ (loans)
         ๒. เงินเบิกเกินบัญชี (overdrafts)
         ๓. ตั๋วเงินซื้อลด (discounts)





           แตกต่างจากเงินให้กู้ตรงที่ว่า เมื่อผู้กู้ทำสัญญาขอกู้แบบเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารแล้ว ธนาคารยังไม่ถือว่าผู้กู้เป็นลูกหนี้ของธนาคาร จนกว่าผู้กู้จะได้ใช้จ่ายเงินเกินบัญชีกระแสรายวันที่ตนมีอยู่กับธนาคาร ธนาคารจะยินยอมให้ผู้กู้เบิกเงินเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีกระแสรายวันของผู้กู้ได้เท่ากับจำนวนเงินที่กำหนดเอาไว้ในสัญญา ภายในช่วงเวลาอายุของสัญญา ผู้กู้จะใช้เงินเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ และเมื่อใดที่ผู้กู้มีเงินก็นำเงินมาฝากเข้าบัญชีเพื่อลดยอดเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีลง ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนที่เจ้าของบัญชีเบิกเกินบัญชี และเฉพาะวันที่มีการเบิกเกินบัญชีจริงเท่านั้น สัญญาเงินกู้ชนิดนี้เป็นสัญญาที่สะดวกสำหรับผู้ทำการค้าที่บางเวลาต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ต้องการเงินไปใช้เป็นช่วงเวลาไม่นานนัก วิธีเบิกเกินบัญชีเป็นวิธีปฏิบัติของการธนาคารพาณิชย์ในอังกฤษและในประเทศไทยด้วย ส่วนวิธีการให้กู้ยืมเงินก้อนเป็นวิธีที่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกานิยมใช้ในการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกค้า

การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ หมายถึง, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ คือ, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ความหมาย, การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu