อุตสาหกรรมเครื่องถมในกรุงเทพฯ นั้นแม้จะมีการส่งเสริมโดยให้มีการสอนที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ระยะหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏว่าได้เป็นอุตสาหกรรมอันแพร่หลายไปในท้องตลาดมากนักทั้งนี้คงจะเป็นเพราะเครื่องถมเป็นของที่มีค่าและมีราคาสูง จึงใช้กันอยู่แต่ภายในราชสำนัก และในวงผู้มีฐานะดีเท่านั้น ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีผู้ทำเครื่องถมอยู่ ๓-๔ ราย โดยใช้ช่างถมผู้มีฝีมือที่ไปจากนครศรีธรรมราช แหล่งช่างถมที่มีฝีมืออีกแห่งหนึ่งก็ได้แก่โรงเรียนเพาะช่าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่าง ทำสิ่งของอันเป็นเครื่องถมสำหรับพระราชทานแก่พระมหากษัตริย์และบุคคลสำคัญในต่างประเทศ
ส่วนการค้าเครื่องถมกับต่างประเทศในสมัยนั้น กล่าวได้ว่าไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะการคมนาคมติดต่อกับต่างประเทศยังไม่กว้างขวางภายหลังที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในกรุงเทพฯ ได้มีผู้ที่เป็นนักธุรกิจและผู้ที่เป็นช่างถมที่มีฝีมือ ล้วนแต่เป็นชาวนครศรีธรรมราชรวมกัน ๕-๖ คน เข้าทำกิจการอุตสาหกรรมเครื่องถมใช้ชื่อว่า "ไทยนคร" กิจการได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โรงงานของไทยนครมีช่างฝีมือปฏิบัติการในการทำเครื่องเงินเครื่องถมไทยนี้ปริมาณ ๑๐๐ คน ในปัจจุบัน
อุตสาหกรรมเครื่องถมได้เจริญขึ้น และโดยที่การคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศสะดวกกว้างขวางขึ้น เครื่องถมไทยจึงเป็นศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่เชิดหน้าชูตาศิลปะและวัฒนธรรมของไทย ส่งออกไปขายต่างประเทศและนักท่องเที่ยวนิยมซื้อมากขึ้น
การส่งเครื่งถมออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ต้องนับว่าห้างไทยนครเป็นรายแรกที่ทำการบุกเบิกตลาดเครื่องถมในต่างประเทศทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และนายสมจิตต์เที่ยงธรรม เจ้าของร้านไทยนครเป็นผู้บุกเบิกในการส่งเครื่องถมไปให้กรมวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เพื่อทราบคุณภาพของเนื้อเงินก่อนที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ต่อมาก็มีร้านสินค้าไทยซึ่งมีชื่อเป็นภาษาจีน ๒-๓ ร้าน ร้านค้าของแขกร้านหนึ่ง และร้านนารายณ์ภัณฑ์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในเรื่องนี้ และด้วยความพยายามของสมาคมเครื่องเงินและเครื่องถมไทย ได้เคยขอร้องให้ทางราชการควบคุมมาตรฐานเครื่องเงินไทย ต่อมาทางราชการโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศใช้บังคับซึ่งมาตรฐานเครื่องเงินไทย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ราชการได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานตรวจสอบสินค้าเครื่องเงินไทยขึ้น ทำการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องเงินไทยและเครื่องถม ก่อนที่จะอนุญาตให้พ่อค้าส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นเหตุให้เครื่องเงินไทยและเครื่องถมได้มาตรฐาน และได้รับความนิยมจากต่างประเทศยิ่งขึ้นเป็นลำดับสถิติการส่งออกเครื่องเงินและเครื่องถมไปจำหน่ายยังต่างประเทศใน พ.ศ. ๒๕๑๓ มีน้ำหนัก ๓,๓๕๗ กิโลกรัม มูลค่าประมาณ ๑๐,๐๘๑,๓๐๑ บาท และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ในพ.ศ. ๒๕๒๔ สถิติส่งออกสูงถึง ๙,๖๖๙ กิโลกรัม โดยมีมูลค่า ๓๒๖ ล้านบาทเศษ
สถิติการส่งออก ข้อมูลจากกองตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเครื่องเงินและเครื่องถม ได้มาเมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งได้แยกการส่งออกเฉพาะเครื่องถมไว้ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๖ ดังนี้ พ.ศ. ๒๕๓๒ เครื่องถมน้ำหนัก ๑๘.๕๖๕๔ กิโลกรัม มูลค่า ๒๐๙,๔๔๘ บาท พ.ศ. ๒๕๓๓ น้ำหนัก ๗๙๙.๙๐๓๒ กิโลกรัม มูลค่า ๑๕,๐๐๘,๖๑๘ บาท ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุด
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗กระทรวงพาณิชย์ประกาศยกเลิกใช้บังคับ ซึ่งมาตรฐานเครื่องเงินและเครื่องถมไทย เพราะไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ และเพื่อส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้น โดยให้ผู้ผลิตเครื่องถมส่งออกได้โดยเสรี
เครื่องถมไทยปัจจุบันที่ผู้ผลิตรักษาคุณภาพของเนื้อเงิน เป็นศิลปอุตสาหกรรมส่งออกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านกรรมวิธีและการผลิต และทางด้านสถิติการจำหน่าย
วันดี หุตะสิงห หัวหน้าศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเขียนบทความเรื่อง "มารักเครื่องถมไทยกันเถอะ" มีความเห็นสรุปว่า
"ความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเครื่องถมไทยนั้น จะอยู่ในความนิยมของผู้ใช้เพียงใดย่อมอยู่ที่ความสำคัญของผู้ผลิต โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบ รูปทรง มีความคิดเห็นว่าทางสมาคมเครื่องถมน่าจะมีอะไรๆ ที่ดูแปลกและดูใหม่ขึ้นอีก คือหมายความว่าน่าจะริเริ่มทำเครื่องถมในแบบใหม่ดูบ้าง ซึ่งแบบเก่าก็ทำไปตามเดิม แต่แบบใหม่ก็น่าจะลองทำขึ้นอีก เป็นต้นว่า อาจจะลงถมแบบเกลี้ยงๆ โดยไม่ต้องมีลวดลายดูบ้าง แต่ออกแบบรูปทรงให้ดูสมัยใหม่ขึ้น ง่ายขึ้น หรืออาจจะใช้เครื่องถมที่มีอยู่แล้วอย่างเช่นกระดิ่งเล็กๆ รูปกลมเล็กๆ ลงถมที่มีลวดลาย หรือไม่มีลวดลายใส่ลงไปในก้อนแก้ว เช่นที่ทับกระดาษของญี่ปุ่นที่มีไข่มุกอยู่ข้างในซึ่งพอเรามองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นของญี่ปุ่น ดูจะเป็นของใหม่ขึ้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่วนเรื่องลายไทยนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องใช้ลายไทยแท้ๆ เราอาจใช้แบบรูปทรงที่ดีๆ แล้วลงลวดลายไทยที่ทำให้ดูสมัยใหม่ขึ้น ง่ายขึ้นแต่คงลักษณะไทยๆ ไว้ หรือคงลวดลายไทยแท้ๆ แต่ลงเพียงนิดหน่อย แล้วปล่อยเนื้อเงินทิ้งไว้เกลี้ยงๆ หรือทำเทกสเจอร์ (พื้น) ให้ดูขรุขระโดยไม่ต้องใส่กรอบที่เป็นเส้น หรือกรอบลายไทยอีกเลย"