เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยที่สร้างขึ้นในภาคกลางของประเทศไทย มีลักษณะแบบแผนของแต่ละหลังที่แน่นอนและคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ มีอายุประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ปีมาแล้ว ลักษณะหลังคาทรงมนิลาสูง มีปั้นลม กันสาด และใต้ถุนสูง เนื่องจากเรือนไทยในภาคกลางมีลักษณะเฉพาะอย่างนี้ คนทั่วไปจึงเรียกว่า เรือนไทยเดิมภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วยเรือนลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
เรือนครอบครัวขยาย ในครอบครัวหนึ่งเมื่อลูกเล็ก ๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แล้วมีสามีหรือภรรยา จำเป็นต้องแยกครอบครัวออกไป ลูกชายแต่งงานแล้วไปอยู่บ้านฝ่ายผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงแต่งงานแล้วพ่อแม่จะปลูกเรือนให้อยู่อีกหลังหนึ่งต่างหาก อาจสร้างขึ้นใหม่ ให้อยู่ตรงข้ามกับเรือนของพ่อแม่ โดยใช้ชานเป็นตัวเชื่อม ถ้ามีลูกสาวหลายคนก็ปลูกเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
โดยสรุปแล้วผังของเรือนครอบครัวขยายมี ๓ แบบ คือ
๑. ปลูกเรียงเป็นแถวไปตามยาวต่อจากเรือนของพ่อแม่
๒. จัดวางตัวเรือนเป็นกลุ่ม มีชานเชื่อมตรงกลาง ชานเชื่อมนี้เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม
๓. ปลูกเรือนขึ้นใหม่อยู่บริเวณใกล้ ๆ เป็นหลัง ๆ ไม่มีชานเชื่อม