ศาสนาพราหมณ์เกิดในอินเดียก่อนพุทธศาสนาประมาณ ๑,๐๐๐ ปีขึ้นไป ศาสนานี้แบ่งชนชาติอินเดียออกเป็น ๔ วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์มีหน้าที่เป็นครูอาจารย์ เป็นปราชญ์ ซึ่งเปรียบเสมือนศีรษะที่เป็นบ่อเกิดความคิดสติปัญญากษัตริย์มีหน้าที่ปกครองป้องกันประเทศ เปรียบเสมือนอก ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งกำลัง คือกำลังแห่งสังคม แพศย์ หมายถึงพวกพ่อค้า ชาวไร่ ชาวนา เปรียบเสมือนขา ซึ่งเป็นส่วนที่ทรงร่างกายไว้ พวกนี้ควบคุมการเศรษฐกิจของชาติไว้ในกำมือ และ ศูทร หมายถึงผู้ทำสังคมให้เคลื่อนที่ก้าวหน้าในการงานทั้งปวง ซึ่งเปรียบเสมือนเท้า
โดยเหตุที่พราหมณ์มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ความรู้ที่ได้รับจากพราหมณ์ จึงเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ศาสนานี้ไม่มีศาสดาผู้ให้กำเนิดเหมือนพระพุทธศาสนา หรือคริสต์ศาสนาแต่ถือเทพเจ้าเป็นที่เคารพสักการะ ๓ องค์ด้วยกัน คือ พระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร
พราหมณ์มีหน้าที่สั่งสอนศิลปวิทยา ทำพิธีกรรมต่างๆ และเป็นผู้รับทักษิณา คือเมื่อมีผู้ให้สิ่งของแก่คนตายซึ่งเรียกว่า บรรพบุรุษ พราหมณ์เป็นผู้รับสิ่งของนั้น และต้องทำตามพิธี ถือว่าบรรพบุรุษได้ของนั้นแล้ว ผู้ที่มิใช่พราหมณ์สอนใครไม่ได้ รับทักษิณาไม่ได้ เด็กในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ จะต้องไปเข้าโรงเรียนพราหมณ์ก่อนรับการศึกษา พราหมณ์จะเสกมนตร์ลงที่ตัวเด็กนักเรียน และเอาด้ายสายสิญจน์คล้องคอเฉวียงบ่าให้ เสร็จพิธีแล้วจึงเริ่มศึกษาได้ ด้ายสายสิญจน์นี้ พราหมณ์ไทยเรียกสายธุรำ พราหมณ์ฮินดูเรียก ยัชโญปวีต
ต่อมาศาสนาพราหมณ์ของชาวอินเดียปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่าศาสนาฮินดูทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อศาสนาขยายตัวกว้างขวางออกไป ก็มีความแปรปรวนไปบ้างเป็นธรรมดาเกิดมีลัทธิประเพณีแปลกๆ ขึ้น แต่ชาวฮินดูก็คงนับถือพระเวท พระคัมภีร์อื่นๆ อย่างเดียวกับพวกพราหมณ์เดิมเหมือนกัน
คัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์นั้น เดิมมีเพียง ๓ พระเวท หรือที่เรียกกันว่าไตรเพท อันได้แก่ (๑) ฤคเวท กล่าวถึงเทพและชื่อของเทพทั้งหลาย (๒) ยชุรเวทกล่าวถึงการบูชาและวิธีบูชาต่างๆ (๓) สามเวท กล่าวถึงคำสวดบูชาและสรรเสริญเทพทั้งหลาย ต่อมาได้เพิ่มเข้ามาอีกเวทหนึ่ง คือ อาถรรพเวท กล่าวถึงมนตร์หรือเคล็ดลับที่ทำให้เกิดความเจริญ ความเสื่อม ทำให้เขารัก ทำให้เขาฉิบหาย หรือตายได้
ในประเทศไทย ลัทธิศาสนาพราหมณ์ได้มีปะปนอยู่ในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธส่วนใหญ่นอกจากจะยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งแล้วบางพวกยังนับถือเทพดาและพระพรหมต่างๆ ตามคติศาสนาพราหมณ์อีกด้วย งานส่วนใหญ่ของพราหมณ์ในประเทศไทย ก็คือการประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และรัฐพิธีตรุษสงกรานต์ เป็นต้น ปัจจุบันนี้มีพระราชครูวามเทพมุนี เป็นประธานมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ เทวสถาน ข้างเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งคนทั่วๆ ไปเรียกว่า โบสถ์พราหมณ์ และมีคณาจารย์พราหมณ์อีก ๑๕ คนเป็นผู้ร่วมประกอบศาสนกิจ ในประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไม่ถึง ๔,๐๐๐ คน เมื่อคิดเป็นร้อยละก็ต่ำกว่า ๐.๐๑% ของพลเมืองของประเทศ
ศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพราหมณ์, ศาสนาพราหมณ์ หมายถึง, ศาสนาพราหมณ์ คือ, ศาสนาพราหมณ์ ความหมาย, ศาสนาพราหมณ์ คืออะไร
ศาสนาพราหมณ์, ศาสนาพราหมณ์ หมายถึง, ศาสนาพราหมณ์ คือ, ศาสนาพราหมณ์ ความหมาย, ศาสนาพราหมณ์ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!