ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การพระราชทานตราตั้งห้าง, การพระราชทานตราตั้งห้าง หมายถึง, การพระราชทานตราตั้งห้าง คือ, การพระราชทานตราตั้งห้าง ความหมาย, การพระราชทานตราตั้งห้าง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การพระราชทานตราตั้งห้าง

          มีธรรมเนียมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ข้อหนึ่งที่ไทยเรารับมาจากชาติตะวันตก  และได้ใช้เป็นธรรมเนียมแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้  คือ  ธรรมเนียมการพระราชทานตราตั้งห้าง  อันมีความหมายว่า  ได้พระราชทานเกียรติยกย่องบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการค้ากับพระราชสำนักมาเป็นเวลายาวนาน และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไว้วางใจของประชาชน โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระครุฑพ่าห์ประกอบกับถ้อยคำว่า  “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” เป็นเครื่องหมายเสดงว่า  ทรงพระมหากรุณา ธรรมเนียมเช่นนี้เริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว และยังคงถือปฏิบัติมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

         ตามระเบียบการพระราชทานตราตั้งห้าง  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ลงวันที่ ๑๕  พฤษกาคม พุทธศักราช  ๒๔๘๒  กำหนดแนวทางการขอพระราชทานตราตั้งห้างไว้ว่า  บุคคลทั้งหลายมีสิทธิที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตราตั้งห้างของตน  ห้างร้านบริษัทที่จะขอพระราชทานตราตั้งได้นั้นต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล  หรือได้จดทะเบียนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย  และได้ทำการติดต่อกับกรมกองต่าง  ๆ ในพระราชสำนักมาก่อน และต้องปรากฏว่า  มีฐานะการเงินดีเป็นที่เชื่อถือแก่มหาชนทั้งหลายมานานพอสมควรด้วย  ไม่มีหนี้สินรุงรัง  เว้นแต่หนี้อันเป็นปกติวิสัยธรรมดาเฉพาะกิจการค้าตามประเภท  นอกจากนั้นห้างร้านบริษัทที่จะขอพระราชทานตราตั้งได้จะต้องประกอบการค้าใดสุจริต  ตั้งอยู่ในศีลธรรม ไม่เคยมีความผิดฐานทุจริต เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้สึกของมหาชน

          หนังสือที่ยื่นขอพระราชทานตราตั้ง ให้ยื่นต่อสำนักพระราชวัง  และต้องมีรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการ เช่น  ผู้ขอมีหน้าที่ใดในห้างร้านใด แสดงชื่อ นามสกุล และที่อยู่อันเป็นหลักแหล่งของผู้ขอให้ชัดเจน รวมทั้งแสดงความประสงค์ว่า ขอตราตั้งสำหรับกิจการค้าประเภทใดโดยยื่นพร้อมใบสำคัญแสดงฐานะการเงิน และการค้าขายของร้าน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการวินิจฉัยด้วย

          ตราตั้งนั้นจะพระราชทานหรือไม่สุดแล้วแต่จะมีพระราชดำริเห็นสมควร เมื่อผู้ที่ขอรับพระราชทานตราตั้งได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ออกตราตั้งมอบให้แก่ผู้ที่ขอพระราชทาน  เครื่องหมายตราตั้งนั้นเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ หน้าอัดทรงเชิด และมีคำว่า“โดยได้รับพระบรมราชานุญาต”  อยู่ที่เบื้องล่างแห่งดวงตรานั้นด้วย  ถ้าเป็นห้างร้านบริษัทในต่างประเทศ  จะใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า “By Appointment  to HiS Majesty  the  King  of  Thailand”  แทนภาษาไทยก็ได้ ห้างร้านหรือบริษัทใดที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง จะใช้เครื่องหมายตราตั้งประดับ  ณ  สถานที่ทำการค้าหรือจะพิมพ์รูปจำลองเครื่องหมายตราตั้งลงในกระดาษของใบเก็บเงิน  ใบรับเงิน  ฉลากซองพาณิชยบัตร  และยานพาหนะขนส่งเฉพาะที่เกี่ยวกับกิจการค้าที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ได้

          ตราตั้งที่พระราชทานนี้  เป็นการพระราชทานเฉพาะบุคคล  และสำหรับกิจการค้าประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตโดยเฉพาะ จะโอนไปให้บุคคลอื่นไม่ได้ และตราตั้งนี้เป็นอันล้มเลิกตามพระราชอัธยาศัย  หรือเมื่อบุคคลที่ได้รับพระราชทานตราตั้งถึงแก่กรรม  หรือล้มละลายหรือต้องชำระบัญชีเลิกห้างหุ้นส่วน  หรือต้องพระราชอาญาจำคุก หรือกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือพ้นจากหน้าที่ใด  ๆ  ในห้างร้านบริษัทนั้น หรือเลิกกิจการค้าประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตั้งนั้น  หรือเมื่อโอนกิจการค้านั้นให้แก่ผู้อื่น  ซึ่งถ้าเกิดเหตุประการหนึ่งประการใดดังกล่าวมาแล้วขึ้น ต้องส่งคืนตราตั้งให้แก่สำนักพระราชวังโดยเร็ว  และจะใช้เครื่องหมายตราตั้งต่อไปไม่ได้เป็นอันขาด

          อนึ่ง  เพื่อเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับพระราชทานตราตั้ง ระเบียบการพระราชทานตราตั้งห้างได้กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้ได้รับพระราชทานตราตั้งไว้ คือบุคคลผู้ได้รับพระราชทานตราตั้งต้องบำเพ็ญตนให้อยู่ในฐานะอันดี  เสมอเหมือนกับเมื่อได้รับพระราชทานตราตั้ง  หรือตีขึ้นไปกว่าฐานะเช่นนั้นนอกจากนี้  ห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายตราตั้งเป็นเครื่องหมายการค้าของห้าง  ห้ามมิให้ใช้ธงอันมีรูปเครื่องหมายตราตั้ง  ห้ามมิให้ใช้คำว่า “หลวง”  เช่น  “ช่างทองหลวง”  เป็นต้น  ห้ามมิให้ใช้ตราตั้ง  หรือรูปจำลองเครื่องหมายตราตั้งในการอันไม่เกี่ยวกับกิจการค้าขาย  ซึ่งได้รับพระราชทานตราตั้งโดยเฉพาะ  ห้ามมิให้ประกาศ  หรือแจ้งความโฆษณาว่า  ตนเป็นผู้ทำการติดต่อกับราชการในพระราชสำนัก  และห้ามมิให้ทำรูปจำลอง  หรือสำเนาตราตั้งแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นโดยมิได้รับอนุญาต

         นับตั้งแต่ได้มีธรรมเนียมการพระราชทานตราตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นต้นมา  ได้มีบริษัทห้างร้านจำนวนมากที่ประกอบสัมมาอาชีวะด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นเกียรติยศ  พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนอย่างสำคัญให้ผู้ประกอบกิจการค้าเหล่านั้นเกิดกำลังใจ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเจริญให้เกิดแก่กิจการค้าของตนยิ่ง ๆ  ขึ้นไป และโดยไม่ละเลยความสุจริตต่อมหาชน ทำให้บังเกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการค้าและสังคมโดยส่วนรวม

การพระราชทานตราตั้งห้าง, การพระราชทานตราตั้งห้าง หมายถึง, การพระราชทานตราตั้งห้าง คือ, การพระราชทานตราตั้งห้าง ความหมาย, การพระราชทานตราตั้งห้าง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu