พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก
พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก หมายถึง, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก คือ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ความหมาย, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก คืออะไร
เมื่อวันที่ ๒-๓ และ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ได้มีพระราชพิธีสำคัญพระราชพิธีหนึ่งที่บังเกิดในโอกาสอันยากยิ่งเพราะต้องใช้เวลารอคอยถึง ๔๒ ปี ๒๓ วัน จึงจะประกอบพระราชพิธีนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากเมื่อ ร.ศ. ๑๒๖ หรือ พุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นงานใหญ่ เรียกว่า พระราชพิธีรัชมงคล ในปีนั้นและพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในปีถัดมา แล้วทรงครองราชย์สืบต่อมาจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ สิริรวมเวลาในรัชสมัยได้ ๔๒ ปี ๒๒ วัน
ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จครองราชสมบัติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ นับถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นเวลา ๔๒ ปี ๒๓ วัน เป็นเวลาอันยืนนานยิ่งกว่าสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช หรือ ยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในอดีตทุกรัชกาลจึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นตามราชประเพณี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานกระแสพระราชดำริว่า “...ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ นี้ ปีในรัชกาลจะเต็มครบ๓๙ ปี ย่างขึ้นเป็นปีที่ ๔๐ เสมอด้วยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติยืนนานกว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ในสยามประเทศ สมควรที่จะขึ้นไปทำการกุศลสักการะบูชาพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ถวัลยราชสมบัติในกรุงเก่าเป็นการพิเศษครั้งหนึ่ง...” ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมงคล มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นราชสักการะ มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เลี้ยงพระ และบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยา ๓๓ พระองค์ กรุงธนบุรี ๑ พระองค์ กรุงรัตนโกสินทร์ ๔ พระองค์ ในการนี้โปรดให้บูรณะปรับปรุงพระราชวังเดิมกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกพม่าทำลายเผาพระที่นั่งต่างๆ จนเหลือแต่ซากเป็นบริเวณรกร้าง ให้มีสภาพตามประวัติศาสตร์ โดยสร้างพลับพลาตรีมุขขึ้นบนฐานเดิมของพระที่นั่งเก่า ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบวงสรวงอดีตพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์โดยเชิญพระพุทธรูปปางประจำแต่ละรัชกาลจากหอพระราชพงศานุสร และหอพระราชกรมานุสรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานในมณฑลพระราชพิธี ณ พลับพลาตรีมุข จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น
ในปีถัดมา คือ พุทธศักราช ๒๔๕๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่ทรงครองราชย์ยืนนานกว่าสมเด็จพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในพระราชพงศาวดาร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธานจัดงานเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร มีพระราชพิธีสมโภชสิริราชสมบัติ พระราชพิธีก่อฤกษ์ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระราชพิธีฉลองพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทย และชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้บริจาคเงินสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า ประดิษฐานไว้ ณ ลานพระราชวังดุสิตพร้อมกับถวายพระราชสมัญญาว่า “ปิยมหาราช” จารึกไว้ที่ฐานพระบรมรูปนั้น นอกจากนั้นเงินบริจาคที่ยังเหลือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นำไปสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นสถานอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ จึงกล่าวกันว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างจากเงินหางม้าพระบรมรูปทรงม้า
ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ยั่งยืนนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทั้งปวงมีความจงรักภักดีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อแผ่นดินและประชาชนมาถึง ๔๓ ปี พากันชื่นชมนิยมว่าเสด็จดำรงรัฐสีมายืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในอดีต จึงมีสมานฉันท์พร้อมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติสนองพระเดชพระคุณ ทั้งขอพระราชทานให้ทรงกำหนดงานพระราชกุศลและพระราชพิธีอนุโลมตามพระราชประเพณีเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงกำหนดการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกไว้เพียง ๓ วัน ให้เหมาะแก่กาลสมัย โดยมีรายการดังนี้
วันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นวันพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูริยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ ๔๔ รูป มีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานสวดพระพุทธมนต์สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ถวายพระธรรมเทศนาทุลลภกถา ทรงสดับปกรญ์พระบรมอิฐพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ณ หอพระราชกรมานุสร พระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ หอพระราชพงศานุสร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นวันงานสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษก เสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราช ซึ่งอัญเชิญจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ออกประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชครูอัษฎาจารย์ (ละเอียด รัตนพราหมณ์) อ่านประกาศพระบรมราชโองการบวงสรวงสังเวยพระสยามเทวาธิราชพระสงฆ์ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ แล้วรับพระราชทานฉันภัตตาหาร ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนพปฎลมหาเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ดวงพระบรมราชสมภพ พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยเป็นการสมโภชสิริราชสมบัติรัชมังคลาภิเษกเพื่อความไพบูลย์แห่งราชอาณาจักร ราชบัลลังก์และอาณาประชาชนทั้งปวง
เวลา ๑๒.๐๐ น. ทหารบก ทหารเรือทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายละ ๒๑ นัด พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา วัดในพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ย่ำฆ้องกลองระฆังพร้อมกัน
วันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นวันพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เวลา ๐๘.๕๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีจิตรลดาถึงสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินสู่พลับพลาตรีมุข พระราชวังโบราณ ซึ่งจัดเป็นมณฑลพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวงสังเวย แต่ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางประจำรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เพียงรัชกาลเดียวจากหอพระราชกรมานุสรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปประดิษฐานที่พระที่นั่งคชาธารภายใต้สัปตปฎลมหาเศวตฉัตร
เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ถวายศีลจบแล้ว เสด็จออกไปยังมุขเด็จซึ่งตั้งพระที่นั่งชุมสาย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องสังเวย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการ อ่านประกาศพระบรมราชโองการสดุดีบวงสรวงสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต พระสงฆ์ ๓๔ รูป มีสมเด็จพระญาณสังวรเป็นประธานสงฆ์ และพระสงฆ์วัดโบราญใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี พิษณุโลก สระบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม ๓๔ รูป เท่าจำนวนสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีเจริญพระพุทธมนต์ และรับพระราชทานฉันภัตตาหาร เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนผ้าไตร และย่ามที่ระลึกพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกแด่พระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทกพระราชอุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเสร็จการพระราชพิธี
พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกนี้ เป็นพระราชพิธีเพื่อความไพบูลย์แห่งราชอาณาจักรราชบัลลังก์ และอาณาประชาราษฎร์ เป็นการสืบ ต่อราชประเพณีอันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะแสดงให้เห็นถึงความกตัญญ กตเวที รำลึกถึงผู้มีพระคุณต่อชาติบ้านเมืองในอดีต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยจักต้องหวงแหนและปฏิบัติสืบเนื่องกันตลอดไป
พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก หมายถึง, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก คือ, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ความหมาย, พระราชพิธีพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน : พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!