ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ คือ, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ความหมาย, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

          การพระราชทานอภัยโทษ  หมายถึง  การพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แก่ผู้ต้องโทษประเภทต่าง ๆ ให้ได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษ  โดยมีทั้งการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลแก่ผู้ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ  ถวายฎีกาขอพระราชทานพระมหากรุณาขึ้นมาและในรูปของการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป  ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช  ๒๔๗๕  ในระยะแรก เมื่อคณะราษฎร์ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว  พุทธศักราช  ๒๔๗๕  มีบทบัญญัติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ โดยมีการกำหนดให้การอภัยโทษเป็นอำนาจของคณะกรรมการราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕  แล้วรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองอำนาจในการอภัยโทษให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ดุจเดิม โดยถือว่าเป็นการใช้พระราชอำนาจในทางบริหาร  ดังที่ปรากฏในมาตรา ๕๐ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทาน อภัยโทษ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์มาบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณา ญาสิทธิราชย์นั้น เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาด และเป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์โดยแท้  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยฉบับต่อๆ มาก็ได้รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการอภัยโทษไว้ด้วยถ้อยคำทำนองเดียวกัน จนกระทั่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ในมาตรา ๒๒๕ ก็ได้บัญญัติไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ้งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”

          ปัจจุบันนอกจากจะมีการกำหนดพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว  ยังมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๗  ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ซึ่งอาจแยกพิจารณาเป็น  ๒  กรณี  ดังนี้

          กรณีแรก การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล  มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ  หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้ส่วนกรณีผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำจะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้เมื่อได้ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้ อนึ่ง เรื่องราวหรือคำแนะนำการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต  ให้ถวายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเรื่องราวทูลเกล้าฯ  ถวายฎีกามาถึงสำนักราช เลขาธิการกองนิติการจะเป็นผู้ประมวลเรื่องราวทั้งหมดและเสนอให้ที่ประชุมคณะองคมนตรีประชุมปรึกษา  คณะองค มนตรีทั้งคณะก็จะได้พิจารณาทูลเกล้าฯ  ถวายความเห็น  เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อนำความเห็นต่างๆ ของทุกฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะองคมนตรีที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิจารณาฎีกานั้นประกอบข้อพิจารณาทั้งหมด  แล้วพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยโดยพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ  ในการนี้ก็มิใช่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามความเห็นที่เสนอมาเสมอไป แต่เป็นดุลยพินิจของพระองค์เองโดยเด็ดขาดในการที่จะพระราชทานอภัยโทษ

          กรณีที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป มีหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษที่มิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษกรณีดังกล่าวเมื่อได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นแล้ว  จะต้องมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นใช้เป็นการทั่วไป

          อนึ่ง  พึงสังเกตว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัย โทษ โดยไม่ระบุว่าเป็นโทษประเภทใด  ดังนั้น  พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษจึงมีความหมายกว้างรวมทั้งโทษทางอาญา และโทษทางวินัย หรือทัณฑ์ตามกฎหมายอื่นด้วย  ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงอาจใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ แก่ผู้ถูกลงโทษทางวินัยหรือทัณฑ์อื่นใด

          ผลของการพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมาย อาจแยกพิจารณาได้เป็นสองกรณี คือ กรณีที่มีการพระราชทานอภัย โทษเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไข  กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้บังคับโทษนั้น กล่าวคือ ถึงแม้จะมีการบังคับโทษไปบ้างแล้ว ก็ต้องหยุดการบังคับโทษนั้นทันทีส่วนกรณีการอภัยโทษเป็นแต่เพียงเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษเท่านั้น ถ้ายังมีโทษหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เปลี่ยนเป็นเบา  หรือลดโทษแล้วยังเหลืออยู่  ตามกฎหมายก็ให้บังคับเฉพาะโทษที่ยังเหลือนั้นต่อไป  จนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล

          กล่าวโดยสรุป  แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด  พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์นี้  ก็ยังคงเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ทั้งตามโบราณราชนิติประเพณี  และตามรัฐธรรมนูญ

พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ คือ, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ความหมาย, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu