ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย หมายถึง, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คือ, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ความหมาย, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

          คำว่า  “พระมหากษัตริย์” นั้น เราได้นำมาใช้ในภาษาไทยกันจนคุ้นเคย จนบางครั้งอาจจะลืมไปแล้วว่า คำว่า  “มหากษัตริย์”  ที่แท้จริงแปลความว่า นักรบผู้ยิ่งใหญ่  ที่เป็นดังนี้ เพราะเป็นธรรมเนียมนิยมว่า ผู้เป็นประมุขของรัฐทั้งหลายจะพึงมีหน้าที่ปกป้องอาณาเขตแว่นแคว้นของตนให้พ้นจากการรุกรานของอริราชศัตรู  ดังปรากฏแนวคิดนี้ในเอกสารโบราณเรื่อง “ราโชวาทชาฎก” อันเป็นชาดกนอกนิบาต คือไม่ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก หากแต่พระคันถรจนาจารย์ได้รวบรวมข้อความว่าด้วยราชธรรมได้แก่ ธรรมะของพระมหากษัตริย์ทั้งหลายมาประมวลเข้า แล้วแต่งเรียบเรียงเป็นชาดก มีความหลายตอนกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้คุ้มครองพระราชอาณาเขตไว้ อาทิเช่น

         “ราชาอันว่าสมเด็จพระบรมกระษัตราธิราช อนุรัก์ขันโต พึงรักษา ชคติ ซึ่งขันธสิมา มญฑล ปาวโฏ  กอบด้วยความเพียรขวนขวาย อัต์เถสุ ในอรรถ อันเป็นประโยชน์ทั้งหลาย”

         และอีกตอนหนึ่งว่า
          “ราชาอันว่าสมเด็จพระบรมกระษัตราธิราช รัก์เขติ รักษา รัฏฐํ  ซึ่งประชาราษฎร  มาเนน ด้วยพระราชหฤไทยอันรัก รัฏ์ฐา อันว่าประชาราษฎรทั้งหลาย”

           สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ของไทยแต่ปางบรรพ์ก็ได้ทรงกระทำหน้าที่สำคัญข้อนี้มาโดยตลอด  ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยาและแม้เมื่อไม่นานมานี้ ในยุคแรกเริ่มแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ยังทรงนำทัพออกต่อสู้กับข้าศึกพม่าด้วยพระองค์เอง ล่วงมาถึงกาลสมัยปัจจุบันแม้การรบในลักษณะเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญของเหล่าทหารหาญ และเหนือสิ่งอื่นใด ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ตามที่รัฐธรรมนูญได้ถวายพระเกียรติยศไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม”และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นภายหลังก็ได้มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ทุกฉบับ และบางครั้งมีการบัญญัติเพิ่มเติมในตอนท้ายด้วยว่า  “ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง”  (ดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ มาตรา๑๑) อย่างไรก็ตาม สำหรับความตอนท้ายนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมารวมทั้งฉบับปัจจุบันไม่ได้นำมาบัญญัติไว้

          สำหรับถ้อยคำที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” นี้จะมีความหมายเพียงใด นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ ดร. วิษญุ  เครืองามได้อธิบายว่า “ในเรื่องนี้มีสองความเห็น คือ
          (๑) การที่รัชธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยนั้น เป็นการถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ตามแบบพิธีเท่านั้นแท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงบังคับบัญชาและสั่งการทหารประการใดประการหนึ่งมิได้เพราะขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับบัญชาของทหาร
          (๒) การที่รัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยนั้น เท่ากับยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพไทย ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ และมีพระราชอำนาจบังคับบัญชาการทหารและสั่งการเกี่ยวกับกองทัพได้ โดยทรงใช้พระราชอำนาจทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ทั้งนี้ พระบรมราชวินิจฉัยและพระบรมราชโองการที่ทรงสั่งการตามมาตรานี้จำต้องมีนายกรัฐมนตรี  หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งมีผลเท่ากับว่าทรงสั่งการตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีนั่นเอง

          ด้วยเหตุนี้  พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกกฎอัยการศึกตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในด้านตัวบุคคลนั้น  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการหาร โดยทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการเรื่องให้นายทหารรับราชการนั่นเอง”

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความเห็นฝ่ายใดจะมีน้ำหนักยิ่งหรือหย่อนกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง มีข้อควรสังเกตว่า พระราชสถานะ “จอมทัพไทย” ตามรัฐธรรมนูญนี้ มิใช่เป็นแต่เพียงถ้อยคำในกระดาษเท่านั้น หากแต่ได้ประทับลงในจิตสำนึกของทหารไทยทุกคน เริ่มตั้งแต่ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารนั้น ก็เป็นมงคลสูงสุดสำหรับหน่วยด้วยเหตุว่าเป็นของที่ได้รับพระราชทาน และได้บรรจุเส้นพระเจ้าไว้ในพระกรัณฑ์บนยอดปลายสุดของธง ดังนั้น เมื่อกองทหารและธงชัยเฉลิมพลไปปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมไปในกองทัพนั้นด้วย ทหารไทยจึงมีขวัญกำลังใจที่มั่นคง เพราะต่างตระหนักดีกว่า ตนปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติเช่นเดียวกับพระประมุขนั่นเอง

          อนึ่ง พึงสังเกตว่ายศ  “จอมพล”  ซึ่งเป็นยศสูงสุดของทหารในสมัยหนึ่งนั้น ต่างกับ  “จอมทัพ”  ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับพระมหากษัตริย์ทั้งนี้  เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกองทัพและยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งปวง หากแต่ทรงเป็นเกียรติศักดิ์สูงสุดของกองทัพแห่งชาติ

          นอกจากนี้ สมควรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันสมัย นอกจากสงครามที่มีการรบพุ่งกันด้วยอาวุธตามแบบที่เราคุ้นเคยกันแล้ว ยังมีสงครามในลักษณะอื่นอีกหลายรูปแบบ เช่นสงครามด้านเศรษฐกิจ  สงครามด้านวัฒนธรรมซึ่งประชาชนแต่ละชาติจำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนจากภัยคุกคามเหล่านั้น เมื่อพิจารณาตามนัยนี้แล้วพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นจอมทัพไทย อาจจะมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าทรงเป็นมิ่งขวัญสูงสุดของกองทัพเท่านั้น หากแต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว พระมหากษัตริย์ของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงเป็น “จอมทัพ”  นำ  “ไทย”  ทั้งชาติฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไม่ว่าจะเป็นสงครามด้านใด โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญสูงสุดคือ ความสงบร่มเย็นของแผ่นดินไทยและอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง

พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย หมายถึง, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คือ, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ความหมาย, พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu