
ย้อนมากล่าวถึงพระไตรปิฎกและส่วนต่าง ๆ ของพระไตรปิฎก เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่ามีเรื่องน่าศึกษาและน่านำไปปฏิบัติอย่างไรบ้างอันแสดงถึงคุณค่าและลักษณะคำสั่งสอนในพระไตรปิฎกโดยย่อ พอมองเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพชรน้ำหนึ่งของประเทศไทยอย่างไร
พระไตรปิฎกหรือที่เรียกในภาษาบาลีว่าติปิฎก หรือเตปิฎก นั้น กล่าวตามรูปศัพท์แปลว่า ๓ คัมภีร์หรือตำรา ๓ ชุด เมื่อแยกเป็นคำๆ
เป็น พระ + ไตร + ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง ไตรแปลว่า ๓ ปิฎกแปลได้ ๒ อย่าง คือแปลว่าคัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าอีกอย่างหนึ่ง ที่แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าหมายความว่าเหมือนภาชนะที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ไม่กระจัดกระจาย
พระไตรปิฎกแบ่งโดยย่อ คือ :
๑. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและภิกษุณี
๒. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
๓. พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นสาระสำคัญ
โดยเฉพาะคำว่า พระอภิธรรมปิฎก ถ้าเขียนตามพื้นฐานภาษาบาลีจะเขียนว่า พระอภิธัมมปิฎก แต่โดยที่คนไทยนิยมเขียนคำว่าธรรมพื้นฐานภาษาสันสกฤต จึงเขียนเป็น พระอภิธรรมปิฎก
ส่วนต่าง ๆ ของแต่ละปิฎก
๑. พระวินัยปิฎก แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ:
๑. ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุ
๒. ส่วนที่ว่าด้วยศีลของภิกษุณี
๓. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องสำคัญ
๔. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องที่สำคัญรองลงมา
๕. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
ชื่อในภาษาบาลีของ ๕ ส่วนนั้น คือ ๑. ภิกขุวิภังค์หรือมหาวิภังค์ ๒. ภิกขุนีวิภังค์ ๓. มหาวรรค ๔. จุลวรรค และ ๕. บริวาร กล่าวโดยลำดับเล่มที่พิมพ์ในประเทศไทย วินัยปิฎกมี ๘ เล่ม คือ ส่วนที่ ๑ ได้แก่เล่ม ๑-๒ ส่วนที่ ๒ ได้แก่เล่ม ๓ ส่วนที่ ๓ ได้แก่เล่ม ๔ - ๕ ส่วนที่ ๔ ได้แก่เล่ม ๖-๗ และส่วนที่ ๕ ได้แก่เล่ม ๘
๒. พระสุตตันตปิฎก แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ
๑. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดยาว เรียกว่า ทีฆทิกาย มี ๓๔ สูตร ได้แก่เล่ม ๙ - ๑๐ -๑๑
๒. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรขนาดกลาง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย มี ๑๕๒ สูตร ได้แก่เล่ม ๑๒ - ๑๓ - ๑๔
๓. ส่วนที่ว่าด้วยพระสูตรซึ่งประมวลหรือรวมคำสอนประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตตนิกาย มี ๗,๗๖๒ สูตรได้แก่เล่ม ๑๕ - ๑๙
๔. ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ ๑ ข้อถึง ๑๑ ข้อและมากกว่านั้นเรียกว่าอังคุตตรนิกาย มี ๙,๕๕๗ สูตร ได้แก่เล่ม ๒๐ - ๒๔
๕. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดหรือ เล็ก ๆ น้อย ๆ ๑๕ หัวข้อ เรียกว่า ขุททกนิกายจำนวนสูตรมีมากจนไม่มีการนับจำนวนไว้ ได้แก่เล่ม ๒๕ - ๓๓ รวมเป็นพระสุตตันตปิฎก๒๕ เล่ม
๓. พระอภิธรรมปิฎก แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน คือ
๑. ส่วนที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มธรรมะเรียกว่า ธัมมสังคณี ได้แก่เล่ม ๓๔
๒. ส่วนที่ว่าด้วยการแยกกลุ่มธรรมะเรียกว่า วิภังค์ ได้แก่เล่ม ๓๕
๓. ส่วนที่ว่าด้วยธาตุ เรียกว่า ธาตุกถา ได้แก่ส่วนแรกของเล่ม ๓๖
๔. ส่วนที่ว่าด้วยบัญญัติคือการนัดหมายรู้ทั่วไป เช่น การบัญญัติบุคคล เรียกว่า บุคลคลบัญญัติ ได้แก่ส่วนหลังของเล่ม ๓๖
๕. ส่วนที่ว่าด้วยคำถามคำตอบทาง พระพุทธศาสนาเพื่อชี้ให้เป็นความเข้าใจผิดพลาดต่าง ๆ เรียกว่า กถาวัตถุ ได้แก่เล่ม ๓๗
๖. ส่วนที่ว่าด้วยธรรมะเข้าคู่กันเป็น คู่ ๆ เรียกว่า ยมก ได้แก่ เล่ม ๓๘ - ๓๙
๗. ส่วนที่ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งเกื้อกูลให้เกิดผลต่าง ๆ รวม ๒๔ ปัจจัย เรียกว่า ปัฏฐาน ได้แก่เล่ม ๔๐ ถึงเล่ม ๔๕ รวม ๖ เล่ม และรวมพระอภิธรรมปิฎกแล้วเป็นหนังสือ ๑๒ เล่ม
กล่าวโดยจำนวนเล่ม เล่ม ๑ - ๘ เป็นพระวินัยปิฎก เล่ม ๙ - ๓๓ รวม ๒๕ เล่มเป็นพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓๔ - ๔๕ รวม ๑๒ เล่มเป็นพระอภิธรรมปิฎก รวมเป็นพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม ซึ่งประเทศไทยจัดพิมพ์ขึ้น