พายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน (hurricane) ไซโคลน (cyclone) บาเกียว (baquio) หรือวิลลี่วิลลี่ (willy willy) เหล่านี้เป็น "พายุไซโคลนในโซนร้อน" หรือ "พายุหมุนในโซนร้อน" (tropical cyclones) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีชื่อต่างๆ กันตามบริเวณแหล่งที่เกิด พายุชนิดนี้เกิดขึ้นเฉพาะในโซนร้อนของมหาสมุทร หรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ ๒๖°ซ. หรือ ๒๗°ซ. ขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง ในซีกโลกเหนือ ทิศของลมรอบศูนย์กลางของพายุเหล่านี้จะพัดจากขวาไปซ้าย ในทิศตรงข้ามกับเข็มนาฬิกา และมีความเร็วของรอบศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๑๗ กิโลเมตร ต่อชั่วโมงขึ้นไป ส่วนในซีกโลกใต้เหล่านี้เกิดขึ้นในเขตร้อนบางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิกและแอตแลนติกเหนือด้วย เว้นแต่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ในซีกโลกใต้ไม่เคยปรากฏว่ามีพายุเฮอร์ริเคนเกิดขึ้นเลย
ลักษณะของพายุไซโคลนในโซนร้อนหรือพายุหมุนในโซนร้อนแบ่งออกได้ตามลำดับต่อไปนี้
- ดีเปรสชั่น (depression) คือพายุไซโคลนในโซนร้อน ซึ่งมีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางไม่เกิน ๖๓ กิโลเมตร
ต่อชั่วโมง
- พายุโซนร้อน (tropical storm) คือพายุไซโคลนในโซนร้อน ซึ่งมีความเร็วลมรอบศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๔ ถึง ๑๑๗
กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- เฮอร์ริเคน (ไต้ฝุ่น ไซโคลน บาเกียว และวิลลี่วิลลี่) คือ พายุไซโคลนในโซนร้อน ซึ่งมีความเร็วลมรอบศูนย์กลาง
มากกกว่า ๑๑๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนของการเกิดพายุไซโคลนในโซนร้อนกับปรากฏการณ์อื่น แล้วจะเห็นได้ว่าในปีหนึ่งๆ มีจำนวน พายุไซโคลนในโซนร้อนเกิดขึ้นน้อยกว่า การเกิดของพายุนี้จำต้องมีลักษณะของอากาศหลายอย่าง ซึ่งเข้าจังหวะกันพอดี นักวิทยาศาสตร์
ได้สังเกตว่าส่วนมากพายุไซโคลนในโซนร้อนเกิดจาก "คลื่นตะวันออก" (easterly waves)คลื่นตะวันออกนี้ คือ บริเวณความกดอากาศต่ำซึ่งเคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกไปทางทิศ ตะวันตกและส่วนมากอยู่ในบริเวณละติจุดต่ำๆ แต่อยู่นอกเขตของบริเวณเส้นศูนย์สูตรเพราะยังไม่เคยปรากฏว่าได้ตรวจพบพายุไซดคลนในโซนร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตรเลย
ตารางไปนี้แสดงจำนวนและแหล่งเกิดของพายุหมุนในโซนร้อนในคาบ ๑๐ ปีตามบริเวณต่างๆ ของโลก
ต่อไปนี้ เราอาจจะอธิบายลักษณะและคุณสมบัติต่างๆ ของไต้ฝุ่นได้เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
๑. พายุไต้ฝุ่น คือพายุโซนร้อน ซึ่งเกิดในมหาสมุทรหรือทะเลในโซนร้อนและมีลมพัดรอบศูนย์กลางอย่างน้อยด้วยความ
เร็ว ๑๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (อาจจะถึง ๓๐๐กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้)
๒. พายุไต้ฝุ่น เป็นบริเวณความกดต่ำ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นร้อยๆ กิโลเมตรจนถึงประมาณ ๑,๖๐๐ กิโลเมตร หรือกว่านั้น และมีอายุอยู่ได้หลายๆ วัน ลมของพายุนี้พัดรอบๆ ศูนย์กลางและลอยตัวขึ้นคล้ายบันไดวน
๓. คุณสมบัติที่สำคัญและน่าสนใจอย่างหนึ่งของพายุนี้ก็คือ ที่บริเวณศูนย์กลางของพายุเราเรียกว่า "ตา" ของไต้ฝุ่น ตาเป็นบริเวณเล็กๆ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ๑๐ ถึง ๕๐ กิโลเมตร ในบริเวณตาของไต้ฝุ่นจะมีอากาศค่อนข้างดี ลมพัดค่อนข้างเบา
๔. พายุไต้ฝุ่น มีพลังงานมากมายมหาศาล ในวันหนึ่งสามารถผลิตพลังงานได้เท่ากับลูกระเบิดไฮโดรเจนขนาด ๑ ล้านตัน ที เอ็น ที ได้มากว่า ๑๐,๐๐๐ ลูก ไต้ฝุ่นได้รับพลังงานมหึมาจากพลังงานความร้อนแฝง ซึ่งไอน้ำในทะเลกลั่นตัวเป็นน้ำ
๕. ในละติจูดต่ำๆ ไต้ฝุ่นจะเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออก มาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก
๖. เมื่อไต้ฝุ่นเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นดิน ภูเขา หรือมวลอากาศเย็น ทำให้พลังงานของไต้ฝุ่นค่อยๆ สลายตัวลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นพายุโซนร้อนหรือดีเปรสชั่น
๗. อันตรายจากพายุไต้ฝุ่น มีหลายอย่าง เช่น ฝนตกหนัก ลมแรง พายุฟ้าคะนอง คลื่นจัด และอุทกภัย (ซึ่งมักจะทำให้มีผู้คนเสียชีวิตได้มาก) ฝนอาจจะตกได้กว่า ๑,๘๐๐ มิลลิเมตรในระยะเวลา ๒๔ ชั่วโมง พายุโซนร้อนซึ่งพัดเข้าแหลมตะลุมพุกจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ทำให้คนเสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐คน และสูญเสียทรัพย์สมบัติหลายร้อยล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุเนื่องจากน้ำทะเลท่วม
เมื่อวันที่ ๑๒ ถึง ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ พายุไซโคลนในมหาสมุทรอินเดียเคลื่อนตัวผ่านบริเวณแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร (Ganges- Brahmaputra) ประเทศบังคลาเทศพายุไซโคลนลูกนี้มีความรุนแรงมาก มีอิทธิพลกระทบกระเทือน ต่อประชาชนกว่า ๓ ล้านคนในเนื้อที่กว่า ๗,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน ส่วนอันตรายอย่างอื่น เช่น อดตายหรือโรคระบาดนั้นตามมาภายหลังอีกมากมายหลายอย่างฉะนั้นเมื่อพายุไซโคลนในโซนร้อนอยู่ที่ไหน จึงควรจะอยู่ห่างจากที่นั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง จงอย่าอยู่ในที่ลุ่มหรือที่ต่ำเป็นอันขาด
๘.เราสามารถจะกำหนดที่อยู่ของพายุไต้ฝุ่นได้ โดยการวัดความกด ตรวจดู
ลักษณะอากาศ ทิศ และความเร็วลม การหาที่อยู่ของไต้ฝุ่นอาจสำรวจได้จากเครื่องมือหลายอย่าง เช่น
-สถานีตรวจอากาศตามเกาะหรือในทะเล
-เครื่องบินตรวจอากาศ
-เรดาร์
-ดาวเทียมตรวจอากาศ
๙.ในปัจจุบันนี้ โดยที่ระบบโทรคมนาคมของการสื่อสารมวลชนดีขึ้นมาก ประชาชนสามารถจะทราบคำเตือนเรื่องพายุไต้ฝุ่นได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ประชาชนควรระมัดระวังในเมื่อได้รับคำเตือนเรื่องพายุร้ายแรงและอันตรายจากพายุไต้ฝุ่น เรือในทะเลควรจะหลบหนีออกไปจากบริเวณไต้ฝุ่น เรือในทะเลควรจะหลบหนีออกไปจากบริเวณไต้ฝุ่น