เราทราบว่ามีฮอร์โมนบางชนิดควบคุมการออกดอกของไม้ผลหลายชนิดได้ ฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะควบคุมปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ก็จะสามารถ ควบคุมการออกดอกของไม้ผลชนิดนั้นได้ เช่น ในกรณีการควบคุมการออกดอกของมะม่วง พบว่าหากต้นมะม่วงมีปริมาณสาร จิบเบอเรลลินในกิ่งยอดมาก ก็จะทำให้กิ่งนั้นไม่ออกดอก ดังนั้น ถ้าสามารถลดปริมาณ สารจิบเบอเรลลินในกิ่งยอดมะม่วงลงได้ ก็จะทำให้กิ่งนั้นออกดอกได้ จากหลักการนี้เอง จึงได้มีการใช้สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อใส่ให้แก่ต้นไม้แล้ว สารเคมีชนิดนี้จะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลินได้ กลุ่มของสารดังกล่าวนี้เรียกรวมๆว่า สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช (เหตุที่เรียกสารกลุ่มนี้ว่า สารชะลอการเจริญเติบโต ก็เนื่องจากสารจิบเบอเรลลินเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต หรือทำให้พืชมีการยืดตัวของกิ่งก้านต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีการให้สารอื่นที่มีผลลดการสร้างสารจิบเบอเรลลินในพืชลงได้ ก็จะทำให้พืชนั้น มีการยืดตัวของกิ่งก้านน้อยลง จึงเรียกว่า สารชะลอการเจริญเติบโต) ตัวอย่างของสารที่ใช้กันมากในการควบคุมการออกดอกของไม้ผล โดยไปลดการสร้างสารจิบเบอเรลลินในพืช ได้แก่ สารแพกโคลบิวทราโซล (paclobutrazol) เมื่อมีการใช้สารนี้กับไม้ผลบางชนิด เช่น มะม่วง ทุเรียน มะนาว ก็จะชักนำให้พืชเหล่านี้ออกดอกได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องรอสภาพอากาศหรือสภาพแวดล้อม ภายนอกอีกต่อไป
สารเคมีอีกประเภทหนึ่งที่พบว่าสามารถ ควบคุมการออกดอกของไม้ผลบางชนิดได้โดยเฉพาะลำไย ก็คือ สารโพแทสเซียมคลอเรต (potassium chlorate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการทำไม้ขีดไฟ หรือพลุ แต่มีคุณสมบัติเร่งการออกดอกของลำไยได้ดี และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สาเหตุที่สารนี้สามารถกระตุ้นการออกดอกของลำไยได้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าสารนี้เป็นสารกระตุ้นการแตกตา หมายความว่า ตาดอกของลำไยมีอยู่แล้วแต่ยังไม่พัฒนา เมื่อมีการใช้สารดังกล่าว จึงกระตุ้นให้ตานั้นแตกออกมาเป็นดอกได้ การค้นพบว่า สารโพแทสเซียมคลอเรตสามารถกระตุ้นการออกดอกของลำไยได้นั้น จัดเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของคนไทยที่เกิดจากการสังเกตและทดลองด้วยตนเอง จนกระทั่งพบวิธีการที่สำคัญต่อการควบคุมการออกดอกของลำไย ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม