นิยมแบ่งเรียกกันออกเป็น ๒ อย่าง คือ ไม้และของป่าอย่างอื่น เช่น ฟืน ถ่าน ไผ่ หวาย ชันน้ำมัน บางทีก็หมายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หนัง เขา ขี้ผึ้ง และน้ำผึ้ง อย่างไรก็ตาม ผลิตผลที่สำคัญที่สุดของป่า ได้แก่ ไม้
ไม้จัดเป็นอินทรียสารอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ เซลลูโลส และลิกนิน เซลลูโลสเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ส่วนลิกนินทำให้ผนังเซลล์แข็งตัวและเชื่อมประสานเซลล์ต่าง ๆ ให้ติดกัน และประกอบกันขึ้นเป็นเนื้อไม้ดังที่เห็นได้จากภายนอก ซึ่งมีลักษณะเป็นต้น เป็นท่อน หรือเป็นแผ่นชิ้น นอกจากสารประกอบทั้งสองอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในไม้ยังมีสารพวกแป้ง น้ำตาล โปรตีน สารให้สี แทนนิน และสารอื่น ๆ ผิดแปลกแตกต่างกันไป ตามส่วนของเนื้อไม้ที่เป็นกระพี้ แก่น และแตกต่างไปตามชนิดของพันธุ์ไม้อีกด้วย
อีกนัยหนึ่ง ไม้เป็นสารที่เกิดจากการเจริญเติบโตของพืช คือ เป็นผนังของเซลล์ต่าง ๆ แต่พืชก็ไม่ได้ให้ไม้ทุกชนิด พืชที่ให้ไม้หรือต้นไม้ที่แท้จริงนั้น ทางวิชาการหมายถึงเฉพาะพืชที่มีท่อน้ำ ท่ออาหารสามารถส่งลำต้นและใบขึ้นไปสู่แสงสว่างได้ ซึ่งได้แก่ พืชพวกผักกูดหรือเฟิร์น พวกไม้สนเขา พวกไม้สัก พวกหมาก มะพร้าว หรือพวกไผ่ อย่างไรก็ตาม สำหรับไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจริง ๆ ในประเทศไทยนั้น คงได้จากไม้ ๒ พวก คือ พวกไม้สนเขา เรียกว่า ไม้ใบแคบ และ พวกไม้สัก เรียกว่า ไม้ใบกว้าง
ไม้ใบแคบ เป็นไม้ที่มีเมล็ดอยู่นอกรังไข่ เนื้อไม้ไม่มีท่อน้ำที่ขยายใหญ่เป็นพิเศษ หมู่เซลล์ลำเลียงและเซลล์ค้ำจุนเป็นเซลล์ประเภทเดียวกัน ปกติแล้วมีเนื้ออ่อน นอกจากไม้สนเขาแล้ว ไม้พวกนี้ก็มีพญาไม้สนหางกระรอก และอื่น ๆ อีก ๒ - ๓ สกุล ไม่มีมากเหมือนไม้ใบกว้าง
ไม้ใบกว้าง มีเมล็ดอยู่ในรังไข่ และมีใบเลี้ยงคู่ หมู่เซลล์ลำเลียงขยายเป็นท่อใหญ่ มีช่องเปิดหัวท้ายต่อเนื่องกันเป็นแนวยาว ส่วนเซลล์ค้ำจุนมีรูปหัวแหลม ท้ายแหลมและมีผนังหนา เนื้อไม้มีความแข็งอ่อนแตกต่างกันมาก ไม้พวกนี้มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ไม้สัก ประดู่ แดง เต็ง รัง สมพง นุ่น และสนทะเล ส่วนไม้พวกผักกูด ซึ่งแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์ที่ใบ และพวกหมาก มะพร้าว หรือไผ่ ซึ่งเป็นไม้มีเมล็ด ในรังไข่ ใบเลี้ยงเดี่ยว ขณะนี้ยังมีความสำคัญไม่มากนัก