ท่าอากาศยานทุกแห่งแบ่งพื้นที่ในท่าอากาศ-ยานเป็น ๒ เขตใหญ่ๆ คือ เขตการบิน และเขตนอกการบิน ซึ่งในแต่ละเขตจะมีมาตรฐานกำหนดว่าต้องมีอะไรบ้าง
เขตการบิน (AIRSIDE) คือ พื้นที่ภายในสนามบินที่เครื่องบินใช้สำหรับการขึ้นลงและขับเคลื่อน และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง รวมตลอดถึงอาคารหรือส่วนของอาคารที่ออกไปสู่พื้นที่นั้นซึ่งมีการควบคุมการเข้าออก องค์ประกอบสำคัญในเขตการบินได้แก่ ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน ทางเข้าออกเครื่องบิน เป็นต้น
เขตนอกการบิน (LANDSIDE) คือ พื้นที่และอาคารภายในท่าอากาศยาน หรือสนามบินที่ไม่ได้อยู่ในเขตการบิน ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้ที่มิได้เดินทางสามารถเข้าออกได้โดยไม่มีการควบคุมองค์ประกอบสำคัญในเขตนี้ได้แก่ อาคารผู้โดยสารอาคารคลังสินค้า ระบบการจราจรภายในท่าอากาศ-ยาน ซึ่งรวมทั้งที่จอดรถ เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอกท่าอากาศยาน เช่น ถ้าหากเราอยู่บนถนนวิภาวดี-รังสิตช่วงดอนเมือง ก็จะเห็นอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานกรุงเทพ ถนนภายในท่าอากาศยานลานจอดรถยนต์ แต่จะไม่สามารถเห็นองค์ประกอบของเขตการบิน (ถ้ามองจากภายนอก)
อาคารผู้โดยสาร (PASSENGER TERMINAL) คือ อาคารหลักที่ท่าอากาศยานจัดไว้สำหรับให้ผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารขาออกทำพิธีการต่างๆ สำหรับการเดินทาง ตลอดจนพักรอก่อนออกเดินทาง ดังนั้น อาคารผู้โดยสารจึงเป็นอาคารที่สำคัญ เพราะเป็นอาคารสำหรับให้บริการแก่ผู้โดยสารโดยตรง และถึงแม้ว่าท่าอากาศยานแห่งหนึ่งๆ จะต้องมีองค์ประกอบและสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง แต่อาคารผู้โดยสารจะเป็นอาคารที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดจากภายนอกท่าอากาศยานและเป็นเสมือนภาพรวม หรือตัวแทนที่จะแสดงให้เห็นว่าท่าอากาศยานมีขนาดใหญ่ โอ่อ่า และมีความทันสมัยเพียงใด
การที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีรูปแบบใดนั้น มีปัจจัยกำหนดหลายปัจจัยคือ พื้นที่ของท่าอากาศยาน ปริมาณการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยาน และประเภทผู้โดยสาร อาคารผู้โดยสารโดยทั่วไปมี ๖ รูปแบบคือ
๑. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบพื้นฐาน(SIMPLE CONCEPT) เป็นรูปแบบอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารไม่มาก สามารถจัดลานจอดอากาศยานใกล้กับตัวอาคาร ผู้โดยสารจะต้องเดินไปขึ้นเครื่องบินเอง
๒. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบที่มีการขนถ่ายระหว่างตัวอาคารกับเครื่องบิน (TRANSPORTER CONCEPT) รูปแบบนี้จะจัดเครื่องบินจอดที่ลานจอดอากาศยานที่อยู่ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสาร และต้องใช้รถขนส่งผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบิน ประโยชน์ของรูปแบบนี้คือ ใช้เงินลงทุนต่ำ เพราะไม่ต้องสร้างอาคารเทียบเครื่องบินส่วนข้อเสียคือ ผู้โดยสารไม่สะดวก
๓. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบที่ต่อเนื่อง(LINEAR CONCEPT) เป็นรูปแบบอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งอาคารรูปแบบนี้จะให้เครื่องจอดประชิดติดตัวอาคารผู้โดยสารเป็นแนวเรียงกันไป และมีสะพานเทียบเครื่องบินให้บริการผู้โดยสารเดินเข้าออกเครื่องบินได้เองโดยตรง
๔. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบคล้ายนิ้วมือ(FINGER CONCEPT) เนื่องจากอาคารในรูปแบบ LINEAR CONCEPT มีข้อเสียคือ ผู้โดยสารอาจจะต้องเดินเป็นระยะทางไกล เนื่องจากมีลักษณะเป็นแนวยาว ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ท่าอากาศยานขนาดใหญ่จึงมีการออกแบบอาคารผู้โดยสารในลักษณะที่มีรูปแบบคล้ายนิ้วมือ ยื่นไปในเขตการบิน เรียกว่าอาคารเทียบเครื่องบิน (PIER) ซึ่งมีข้อดี คือ เครื่องบินสามารถจอดได้ประชิดกับตัวอาคารจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารเดินระยะสั้นลงท่าอากาศยานกรุงเทพมีอาคารผู้โดยสารที่เป็นลักษณะดังกล่าวนี้
๕. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบคล้ายเกาะ(SATELLITE CONCEPT) ลักษณะเด่นของอาคารรูปแบบนี้คือ มีอาคารเทียบเครื่องบินอยู่ในเขตการบินโดยเอกเทศ และเครื่องบินจะจอดอยู่รอบๆ อาคารนี้ โดยมีระบบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารเทียบเครื่องบินแยกต่างหาก ซึ่งข้อดีของอาคารรูปแบบนี้คือเครื่องบินเข้าออกได้ง่าย และสะดวกกับผู้โดยสารที่ต่อเที่ยวบิน ส่วนข้อเสียคือ ต้องใช้พื้นที่ในเขตการบินมาก
๖. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบผสม (HYBRID CONCEPT) คือ รูปแบบอาคารที่นำแนวความคิดทุกๆ แนวความคิดมาผสมผสานกัน ตามลักษณะความจำเป็นของท่าอากาศยานแต่ละแห่งสำหรับภายในอาคารผู้โดยสารจะมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนที่เป็นพิธีการของผู้โดยสารแต่ละประเภท และพื้นที่สำหรับเป็นส่วนบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและเพลิดเพลินขณะพักรอที่อาคารผู้โดยสาร
อาคารคลังสินค้า (CARGO TERMINAL) กิจการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นกิจการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ อาคารคลังสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้กิจการด้านนี้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอาคารคลังสินค้าเป็นสถานที่เชื่อมต่อระหว่างการขนส่งสินค้าทางอากาศกับภาคพื้นดิน ดังนั้น อาคารจึงต้องมีสถานที่ที่เพียงพอและมีการบริการด้านพิธีการต่างๆ รวมทั้งมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย
โดยทั่วไปพื้นที่ของอาคารคลังสินค้าด้านหน้าจะมีพื้นที่ให้รถขนสินค้าจอดได้ สำหรับในอาคารเป็นสำนักงานเพื่อดำเนินพิธีการรับส่งสินค้าและส่วนที่เป็นคลังสินค้า (WAREHOUSE) ซึ่งส่วนนี้จะมีลักษณะเป็นอาคารโล่งๆ เพราะต้องมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับจัดวาง หรือเก็บสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็นพื้นที่สำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก พื้นที่สำหรับสินค้าที่อาจเน่าเสียได้ง่าย เป็นต้น ภายในคลังสินค้ามีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับสำรองพื้นที่ การขนส่ง การให้ข้อมูล การออกเอกสารเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออก ตลอดจนการติดตั้งเครื่องมืออัตโนมัติสำหรับใช้ในระบบจัดเก็บและขนถ่ายสินค้าภายในคลัง เป็นต้น
หอบังคับการบิน (CONTROL TOWER) มีลักษณะเป็นอาคารทรงสูง อาจอยู่ในเขตการบินหรือเขตนอกการบินก็ได้ ในสมัยก่อนหอบังคับการบินมักอยู่ในเขตการบิน แต่ต่อมาเนื่องจากพื้นที่ด้านเขตการบินมีจำกัด ประกอบกับมีวิวัฒนาการของเครื่องช่วยเดินอากาศ ดังนั้น ปัจจุบันจึงมักสร้างหอบังคับการบินในเขตนอกการบิน นอกจากนั้น หอบังคับการบินอาจอยู่ติดต่อกับอาคารผู้โดยสารเช่นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือแยกอยู่เป็นอาคารต่างหากก็ได้ ดังเช่นที่ท่าอากาศยานชางยีประเทศสิงคโปร์ แต่ที่สำคัญต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติงานในหอบังคับการบินสามารถติดต่อสื่อสารกับเครื่องบินได้ และสามารถมองเห็นภาพในท่าอากาศยานได้ทุกจุด ดังนั้น ส่วนบนสุดของหอบังคับการบินจึงเป็นห้องมีกระจกล้อมรอบเพื่อให้มีมุมมองที่ชัดเจน
ผู้ปฏิบัติงานในหอบังคับการบิน ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับเครื่องบิน เรียกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (AIR TRAFFICCONTROLLERS) มีภารกิจสำคัญคือ กำหนดให้เครื่องบินอยู่ในเส้นทางตามทิศทางและระยะสูงที่ต้องการ รวมทั้งจัดการจราจรให้เครื่องบินขึ้นลงด้วยความสะดวกและปลอดภัย อุปกรณ์ในหอบังคับการบินเป็นอุปกรณ์ทันสมัย เนื่องจากเครื่องบินมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ที่เป็นหัวใจคือ เรดาร์ ซึ่งจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเช่น ชื่อเรียกขานของเครื่องบิน ความสูงจริงขณะเครื่องบินไต่ขึ้นหรือร่อนลง ระยะสูงที่กำหนดให้บิน ความเร็วของเครื่องบิน ทิศทางของเครื่องบินเป็นต้น ข้อมูลจากจอเรดาร์นี้จะถูกนำมาใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศให้เป็นไปโดยปลอดภัยนอกจากนั้น เรดาร์ยังสามารถให้ข้อมูลสภาพอากาศได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้นักบินบินหลีกเลี่ยงจากตำแหน่งของสภาพอากาศที่จะเป็นอันตราย นอกจากเรดาร์แล้ว อุปกรณ์ในหอบังคับการบินยังมีวิทยุติดต่อสื่อสาร สำหรับติดต่อระหว่างพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศกับนักบิน และในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางวิทยุจะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ปืนสัญญาณแสง(LIGHT GUN) ใช้ส่งสัญญาณ โดยใช้แสงสว่างจากโคมไฟ ซึ่งมีลำแสงแคบ และความเข้มแสงสว่างสูงมีด้วยกัน ๓ สี คือ ขาว เขียว แดง เพื่อให้นักบินทราบว่าได้รับอนุญาตหรือไม่อนุญาตจากหอบังคับการบิน ในการนำเครื่องบินลงที่ท่าอากาศยาน