การเลี้ยงปลาในนาข้าว เป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่ เพื่อผลิตอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นตามปกติ นาข้าวจะมีระดับน้ำลึก ๕-๒๕ เซนติเมตร และดินพื้นท้องนาค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ในปริมาณสูง ทรัพยากรดังกล่าวเป็นอาหารอย่างดีสำหรับปลา
ข้าวเป็นพืชหลักในการทำนา ฉะนั้น การเลี้ยงปลาจึงต้องปรับให้เข้ากับการปลูกข้าว ก่อนอื่นควรจะวางท่อทางระบายน้ำไว้อย่างสมบูรณ์ และจะต้องมีที่ส่วนลึก ให้ปลาได้หลบอาศัยเมื่อระดับน้ำลดต่ำ
การเลี้ยงปลาในนาข้าวจะกระทำได้เฉพาะในท้องที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีการชลประทาน มีน้ำตลอดปีหรืออย่างน้อย ๓-๖เดือน ซึ่งพอเพียงสำหรับการเจริญเติบโตของปลาพอที่จะใช้เป็นอาหารได้
การเตรียมแปลงนาสำหรับเลี้ยงปลา ควรขุดคูรอบแปลงนา มีความกว้าง ๐.๕๐-๑.๕๐ เมตร และลึก ๐.๒๕-๐.๔๐ เมตรนำดินจากคูดังกล่าวขึ้นไปเสริมคันให้สูง และกว้างตามปริมาณของดินที่ขุดขึ้น ภายในแปลงนาควรซอยคูเล็กๆ ติดต่อกับคูรอบนอกเพื่อความสะดวกในการระบายน้ำจับปลาและวางท่อระบายน้ำเข้าและออก
ปลาที่นำมาเลี้ยงในนาข้าวจะต้องเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว สามารถอยู่ได้ในน้ำตื้นซึ่งมีอุณหภูมิสูง และทนทานต่อความขุ่นของน้ำ ชนิดของปลาที่นิยมเลี้ยงในนาข้าว ได้แก่ ปลาไน ปลาหมอเทศ ปลาสลิด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลาหมอตาล
การเลี้ยงปลาในนาข้าวอาจดำเนินได้ ๒ ระยะด้วยกันคือ ระยะแรกเลี้ยงปลาควบคู่ไปกับการทำนา การปล่อยปลาลงเลี้ยงต้องให้ต้นข้าวตั้งเป็นตัวก่อน ๑-๒ สัปดาห์ มิฉะนั้น ปลาจะว่ายหาอาหาร ทำให้ต้นข้าวหลุดลอยเสียหาย และระยะที่ ๒เลี้ยงปลาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าว ในระยะข้าวสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวต้องลดระดับน้ำลง ปลาจะลงหลบอาศัยในส่วนลึก หลังจากเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว ก็เตรียมแปลงนาสำหรับเลี้ยงปลาต่อโดยเก็บตอซังข้าวในผืนนามากองไว้เป็นที่สำหรับเป็นปุ๋ย และระบายน้ำเข้าเพื่อเลี้ยงปลาต่อไป
ตารางแสดงอัตราการปล่อยปลาในนาข้าว
ชนิดปลา
ขนาด (เซนติเมตร)
จำนวนปล่อยต่อไร่
ปลาหมอเทศ๑-๓
๑,๐๐๐-๑,๒๐๐
ปลาไน๕-๖
๕๐๐–๖๐๐
ปลานิล๔-๕
๕๐๐-๑,๒๐๐
การเลี้ยงปลาในนา เป็นการผลิตอาหารแป้งและอาหารโปรตีนในที่เดียวกัน ทำให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาหารโปรตีนบริโภคอีกด้วย ประโยชน์จากการเลี้ยงปลาในนาข้าวพอสรุปได้ คือ
๑. เพิ่มผลผลิตข้าว
๒. ทำให้ดินดี มีปุ๋ย ไถง่าย
๓. ปลาช่วยกำจัดวัชพืชและแมลง
๔. ช่วยให้อินทรีย์สารต่างๆ สลายตัว
๕. ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น
ในปัจจุบันการเลี้ยงปลาในนามีอุปสรรคหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยากำจัดแมลงศัตรูพืช และถูกศัตรูรบ-กวน หรือไม่ก็ถูกลักขโมย ประเทศไทยเราแม้จะมีที่ทำนาที่อยู่ในระบบชลประทานที่ดีถึง ๓๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่การเลี้ยงปลาในนาข้าวก็ยังไม่ค่อยมีผู้นิยมเท่าที่ควร เพราะชาวนาพบปัญหาดังกล่าวข้างต้น