ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ครอบครัวไทย, ครอบครัวไทย หมายถึง, ครอบครัวไทย คือ, ครอบครัวไทย ความหมาย, ครอบครัวไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ครอบครัวไทย

          ระบบครอบครัวและเครือญาติ หมายถึงระบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกันโดยทางสายเลือด หรือการแต่งงานการจะนับว่าใครเป็นญาติของเราบ้างนั้นขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในแต่ละวัฒนธรรม การจัดระบบเครือญาติเป็นเรื่องทาง "วัฒนธรรม" ไม่ใช่เรื่อง"ธรรมชาติ" แม้ว่าปรากฏการณ์ พ่อ แม่ ลูก จะเป็นเรื่องธรรมชาติ และมีปรากฏในทุกๆ สังคมแต่แต่ละสังคมก็จะมีการจัดระบบเครือญาติในการกำหนดบทบาทแนวปฏิบัติ และหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวต่างกันไป บางสังคมเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับญาติข้างพ่อ เช่น สังคมจีน สังคมอินเดีย บางสังคมก็ให้ความสำคัญกับญาติข้างแม่ เช่น สังคมกะเหรี่ยงโปว หรือบางสังคมก็ให้ความสำคัญกับญาติทั้งสองฝ่าย เช่นสังคมพม่า สังคมอินโดนีเซีย สังคมไทย เป็นต้น
         เนื่องจากระบบครอบครัวและเครือญาติเป็นระบบความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานที่สุดในสังคมและมีความสำคัญมากในการเข้าใจสังคมไทย การกล่าวถึงลักษณะของครอบครัวไทยในที่นี้จึงจะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับสังคมไทย โดยเฉพาะในระดับสังคมหมู่บ้านในชนบทไทย ซึ่งครอบครัวและเครือญาติมีบทบาทอย่างมากในวิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้าน ในการนำเสนอเพื่อให้เห็นภาพดังกล่าวนี้ จะกล่าวถึงกฎเกณฑ์การตั้งถิ่นฐานหลังการแต่งงานที่มีผลต่อวัฎจักรของครอบครัว และการสร้างกลุ่มครอบครัวและเครือญาติอันนับเป็นโครงสร้างของสังคมหมู่บ้าน และกฎเกณฑ์การรับมรดกในครอบครัวไทย จากนั้นเพื่อให้เห็นความสำคัญของครอบครัวและเครือญาติในสังคมในวงกว้างจะขอกล่าวถึงคำเรียกญาติ การนับญาติ และการขยายการนับญาติในสังคมไทย และส่วนสุดท้ายจะให้ภาพความเปลี่ยนแปลงในระบบครอบครัวอันเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

          เมื่อการย้ายที่อยู่หลังการแต่งงานเป็นไปในลักษณะดังกล่าว จึงมีผลโดยตรงกับวัฎจักรของครอบครัว หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ การเป็นครอบครัวเดี่ยว  ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกกับการเป็นครอบครัวขยาย ซึ่งในที่นี้ขอใช้ในความหมายกว้าง ซึ่งหมายถึง ลักษณะของครอบครัวที่ประกอบด้วยคน ๓ รุ่น คือ ตายายพ่อแม่ และลูกสาวลูกเขย ขึ้นอยู่กับขั้นตอนแต่งงานของลูกสาว ซึ่งทำให้เกิดวัฎจักรการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวเดี่ยว และจากครอบครัวเดี่ยวไปสู่ครอบครัวขยาย ดังนี้
          ขั้นตอนที่ ๑ ครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อแม่และลูกชายลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน
          ขั้นตอนที่ ๒ เมื่อลูกชายลูกสาวถึงวัยแต่งงาน ลูกชายแต่งงานแล้วออกไปอยู่กับบ้านฝ่ายหญิงลูกสาวคนโตแต่งงานและพาสามีเข้ามาอยู่ในบ้านเมื่อลูกสาวมีลูกทำให้เกิดสภาพเป็นครอบครัวขยาย
          เมื่อลูกสาวคนเล็กแต่งงาน ลูกสาวคนโตและสามีย้ายออก ลูกสาวคนเล็กและสามีมีลูกและทั้งคู่อยู่ดูแลพ่อแม่ ช่วงที่ครอบครัวของลูกสาวอยู่ในบ้านของพ่อแม่และผลัดกันย้ายออก นับเป็นช่วงของครอบครัวขยายที่กินเวลายาวนาน และจะเป็นช่วงของวัฎจักรของครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยายตราบเท่าที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
          การเป็นครอบครัวขยายในขั้นตอนที่ ๒ นี้นักมานุษยวิทยาเรียกว่าเป็น stem family ซึ่งหมายถึงการที่ตายายและพ่อแม่อยู่เป็นหลัก และลูกผลัดกันอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และย้ายออกไปในลักษณะที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อลูกคนรองแต่งงานพาสามีเข้ามา ลูกคนโตและสามีก็แยกครอบครัวออกไปตั้งบ้านเรือนใหม่ ซึ่งแตกต่างจากครอบครัวจีนซึ่งเป็นครอบครัวขยายในลักษณะที่ไม่ว่าลูกชายคนใดจะแต่งงานจะพาสะใภ้เข้ามาอยู่ในบ้าน ในบ้านจึงมีทั้งครอบครัวของพี่ชายคนโต คนรอง และน้องคนเล็ก แต่ถ้าเป็นครอบครัวไทย ลูกที่แต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่ชั่วคราว จนกระทั่งมีลูกของตัวเอง หรือเมื่อน้องคนต่อไปแต่งงาน หรือเมื่อพร้อมก็จะย้ายออกไปตั้งครอบครัวใหม่
          ขั้นตอนที่ ๓ พ่อแม่เสียชีวิต วัฎจักรของครอบครัวกลับกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวอีกครั้งหนึ่งลูกสาวคนเล็กกับสามีกลายเป็นเจ้าของบ้าน โดยลูกสาวคนเล็กเป็นผู้ได้รับมรดกจากพ่อแม่
          ดังนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าครอบครัวไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือเป็นครอบครัวขยาย ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวนั้นๆอยู่ในช่วงใดในวัฎจักรของครอบครัว โดยปกติเมื่อนักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาหมู่บ้านในภาคต่างๆ ของไทย จะพบทั้งหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวขยาย เพราะในหมู่บ้านหนึ่งๆ ย่อมประกอบด้วยบ้านซึ่งอาจจะอยู่ในสถานะของครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายแต่ถ้านักมานุษยวิทยาคนเดียวกันกลับไปที่หมู่บ้านเดิมที่เคยเข้าไปศึกษาเมื่อสิบปีต่อมา จำนวนของครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายในหมู่บ้านนั้น ก็จะต่างไปจากจำนวนที่ได้บันทึกไว้เมื่อสิบปีที่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเป็นครอบครัวขยายนั้นมีความโน้มเอียงที่เป็นครอบครัวขยายที่มีองค์ประกอบที่ค่อนมาทางฝ่ายหญิงและครอบครัวของฝ่ายหญิง

ครอบครัวไทย, ครอบครัวไทย หมายถึง, ครอบครัวไทย คือ, ครอบครัวไทย ความหมาย, ครอบครัวไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu