ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เมืองหลวงเก่าของไทย, เมืองหลวงเก่าของไทย หมายถึง, เมืองหลวงเก่าของไทย คือ, เมืองหลวงเก่าของไทย ความหมาย, เมืองหลวงเก่าของไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
เมืองหลวงเก่าของไทย

          ในอดีตอันยาวนาน ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นกลุ่มครอบครัวเล็กๆ จำนวนไม่เกิน ๑๐ คน ที่เร่ร่อนหาอาหารและมีที่พักพิงอยู่ตามถ้ำเพิงเผาตามธรรมชาติเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ต่อมา เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเผ่าพันธุ์จำนวนมากขึ้น จึงตั้งหลักแหล่งตามที่ราบที่มีผืนดินอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่เคลื่อนย้ายเร่ร่อนกันอีกต่อไป ที่อยู่อาศัยของเผ่าพันธุ์เหล่านี้มีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นเศษเครื่องมือเครื่องใช้ของคนยุคนี้เมื่อ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มาแล้วอยู่ทั่วไป หมู่บ้านเหล่านี้บางแห่งตั้งอยู่ใน    ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์มีที่ทำกินกว้างขวางจำนวนประชากรใหหมู่บ้านมีมากขึ้น มีคติความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษและผีอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางธรรมชาติ มีการจัดการทรัพยากร ควบคุม  บริหารกำลังคน ร่วมมือกันภยันตราย และเพื่อการชลประทาน กลายเป็นเมืองที่ปรากฏร่องรอยเป็นหลักฐานให้เห็นได้ในปัจจุบัน

          เมื่อ ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวอินเดียได้เข้ามาติดต่อค้าขาย และได้นำอารย ธรรมทางศาสนาอันเป็นคติความเชื่อแบบใหม่เข้ามาผสมผสานกับคติความเชื่อฟื้นเมือง ศาสนาสำคัญที่เข้ามาคือ พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ที่มีส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจักรวาลพระจักรพรรดิ หรือพระราชามหากษัตริย์ เป็นแนวคิดของการรวมตัวกันของเมืองหลายๆ เมือง    เข้าเป็นแว่นแคว้นเดียวกัน โดยมีเมืองของพระมหากษัตริย์ที่เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งหลายเป็นเมืองราชธานีหรือเมืองหลวง

          เมืองที่รวมตัวกันเป็นแว่นแคว้นเดียวกันได้นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน และมีช่วงเวลามากน้อยไม่เท่ากัน ในระยะแรกๆ คงจะเกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้อ่าวไทยซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกรากแล้วจึงค่อยๆ เข้าสู่แผ่นดินภายในทวีปมากขึ้นลักษณะการรวมตัวจะมีความเหนียวแน่นหรือผูกพันกันหลวมๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่องค์ประกอบของปัจจัยและสภาพแวดล้อมในการรวมตัวกันเป็นสำคัญ โดยมีศาสนาเป็นตัวสร้างเสริมอำนาจศูนย์กลางในการรวมตัวกันนั้น ดังนั้น เมืองที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง หรือเมืองหลวงอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆ ภายในแว่นแคว้น จึงมีการ
สร้างสัญลักษณ์แห่งอำนาจเป็นศาสนาสถานขนาดใหญ่ซึ่งปรากฏร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน

          เมืองที่มีศาสนาสถานขนาดใหญ่ซึ่งแสดงความเป็นเมืองราชธานี หรือเมืองหลวงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ได้แก่ เมืองนครปฐม หรือนครชัยศรี ซึ่งมีร่องรอยคูกำแพงเมืองกว้างใหญ่โดยมีเจดีย์จุลประโทนเป็นศูนย์กลาง เมืองอู่ทองที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัวที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองที่มีศาสนสถานทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่นเก่าตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ส่วนทางฝั่งตะวันออก    คือ เมืองลพบุรี ซึ่งมีชื่อเดิมว่า กรุงละโว้ เป็นเมืองเก่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่มีศาสนสถานที่โอ่อ่าแสดงความยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา

          เมืองใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำภาคกลางจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเมืองศูนย์กลางของอำนาจการปกครองไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแต่ในที่สุด ศูนย์กลางอำนาจการปกครองนั้นก็ตกอยู่กับเมืองสุพรรณภูมิเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙    เพชรบุรี สรรคบุรี ฯลฯ ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ส่วนเมืองลพบุรีหรือละโว้บนพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนกับบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตก และได้ขยายอาณาเขตขึ้นไปตามลำน้ำปิง โดยจัดตั้งเมืองหริภุญไชยหรือที่ภายหลังคือเมืองลำพูน ขึ้นบนที่ราบหว่างหุบเขาอันกว้างใหญ่ที่ต้นแม่น้ำปิงเป็นเมืองสืบต่อมา และถ่ายทอดอารยธรรมทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทให้แก่ราชวงศ์พระเจ้ามังราย ที่เข้ามาครอบครองในภายหลัง

          เมืองละโว้ได้รับคติทางศาสนาพราหมณ์จากราชอาณาจักรขอมกัมพูชา และพุทธศาสนาแบบมหายานที่ขึ้นมาจากทางทิศใต้ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คติความเชื่อทั้งสองนั้นเข้ากันได้และส่งเสริมการปกครองบ้านเมืองที่รวมกันเป็นราชอาณาจักรใหญ่ ดังนั้น เมืองละโว้จึงเป็นเมืองที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ไปถึงบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งลุ่ม    แม่น้ำมูล คือเมืองพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมาเมืองพนมรุ้ง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจนถึงเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา ซึ่งทั้งเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้งต่างก็มีศิลาจารึกที่แสดงอำนาจความเป็นอิสระของการเป็นเมืองหลวงปกครองดินแดนในละแวกใกล้เคียงในระดับหนึ่งด้วยส่วนเมืองละโว้นั้น ในช่วงเวลานี้มีเอกสารประเภท ตำนานที่แสดงถึงการแตกแยก ที่ทำให้เมืองหริภุญไชยซึ่งมีเมืองในอาณัติ คือ นครเขลางค์แยกออกไปปกครองตนเองโดยอิสระ เป็นอีกแว่นแคว้นหนึ่งที่ต้นแม่น้ำปิง

         ในระยะเวลาต่อมา เมืองละโว้มีบทบาทก่อให้เกิดเมืองหลวงขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองสุโขทัย ที่ขึ้นไปจัดตั้งไว้ที่ตอนบนของที่ราบฝั่งแม่น้ำยม เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่หลังจากนั้นไม่นาน สุโขทัยก็แยกตัวออกเป็นอิสระอีกแว่นแคว้นหนึ่งเช่นเดียวกับเมืองหริภุญไชย เรื่องราวในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ วัดศรีชุม เรื่องพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวรบกับขอมสบาดโขลญลำพงอาจเป็นเรื่องราวตอนที่สุโขทัยแยกตัวออกจากเมืองละโว้ก็ได้ ส่วนเมืองละโว้นั้น ก็ได้มีการขยับขยายราชธานีลงทางใต้ ตั้งบ้านเมืองในบริเวณที่แม่น้ำ ๓ สายคือ ป่าสัก ลพบุรี และเจ้าพระยา   ไหลมาบรรจบกัน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเมืองสุพรรณภูมิ ต่อมาก็ได้จัดตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงในที่สุด

          เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งที่อาจกล่าวว่าอยู่ในขอบเขตใกล้ทะเลอ่าวไทย คือ เมืองศรีมโหสถแห่งลุ่มน้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในเขตอำเภอศรีมโหสถ (โคกปีบ)จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเมืองที่มีศาสนสถานเป็นจำนวนมาก โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองนี้อาจสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แต่โบราณสถานที่เป็นของเมืองนี้อย่างแน่นอน และเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น คือ รอยพระพุทธบาทคู่ที่วัดสระมรกต ซึ่งอยู่นอกที่ ๑๔ เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองศูนย์กลางปกครองดินแดนใกล้เคียงสืบต่อกันมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ จึงได้กลายเป็นเมืองในราชอาณาจักร    ขอมกัมพูชา ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวงและมีหลักฐานแสดงการนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

          ส่วนทางภาคใต้นั้น ได้พบชุมชนของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ตั้งหลักแหล่งทำการค้าอยู่ทั่วไป เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่อำเภอคลองท่อมจังหวัดกระบี่ เป็นต้น แต่เมืองที่พัฒนาขึ้นเป็น ศูนย์กลางของคติความเชื่อและการปกครองจะอยู่ ทางชายทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งมีที่ราบทำกินกว้างกว่า เช่น ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นต้น ซึ่งเป็นเมืองที่นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมืองต่างๆ ในภาคใต้เหมือนกับจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ประมาณตั้งแต่พุทธ    ศตวรรษที่ ๑๘ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ดังปรากฏหลักฐานเป็นศิลาจารึกหลักที่ ๓๕ พบที่ดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เมืองนครศรีธรรมราชได้เข้ารวมกับกรุงศรีอยุธยาหรืออโยธยา ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓

          ชื่อเมืองต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คือ เมืองละโว้ เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองหริภุญไชย เมืองสุพรรณภูมิและเมืองอื่นๆ  ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นโบราณสถานที่เคยเป็นศาสนาสถานภายในเมืองขนาดใหญ่แต่ไม่ทราบชื่อเดิมที่แท้จริงนั้น อาจกล่าวได้ว่าเคยเป็นศูนย์กลางทางคติความเชื่อทางศาสนาซึ่งในสมัยโบราณมักจะเป็นเมืองศูนย์กลางการ
ปกครองด้วย เมืองเหล่านี้จะมีอำนาจปกครองเมืองเล็กๆ อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงหรือมีสภาพภูมิศาสตร์เหมือนกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะมีขอบเขตไม่มากน้อยเพียงใด เพราะบางครั้งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่อำนาจตามเมืองเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปตามเมืองอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เมื่อพระมหากษัตริย์ของเมืองนั้นๆ มีอำนาจขึ้นมาแทนที่ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงเป็นภาพของบ้านเมืองที่บางเมืองได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา

          เมืองหลวงเก่าของไทยที่จะกล่าวถึงต่อไปจะกล่าวถึงเฉพาะเมืองที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ได้เปลี่ยนจากการใช้ภาษาศักดิ์สิทธิ์คือ ภาษามอญ ขอม บาลี และสันสกฤต มาใช้ภาษาไทย เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองที่เรียกว่าเมืองหลวง และยังคงมีประวัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ เมืองเชียงใหม่แห่งแคว้นล้านนา เมืองสุโขทัยแห่งแคว้นสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาแห่งราชอาณาจักรสยาม และกรุงธนบุรีศูนย์กลางของราชอาณาจักรสยามที่ฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเห็นต่อไปว่า แต่ละเมืองต่างก็มีพื้นฐานขององค์ประกอบแห่งอำนาจ และขั้นตอนของพัฒนาการในการเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกันออกไป





เมืองหลวงเก่าของไทย, เมืองหลวงเก่าของไทย หมายถึง, เมืองหลวงเก่าของไทย คือ, เมืองหลวงเก่าของไทย ความหมาย, เมืองหลวงเก่าของไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 24

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu