ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

รัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญ หมายถึง, รัฐธรรมนูญ คือ, รัฐธรรมนูญ ความหมาย, รัฐธรรมนูญ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 5
รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ (Constitution) หมายถึง กฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ ถ้าแปลตามความหมายของคำ จะหมายถึง การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม (รัฐ + ธรรม + มนูญ) ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Law) เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้

รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก

รัฐธรรมนูญมีประวัติมายาวนาน แต่มีหลักฐานชัดเจนในประเทศอังกฤษ สมัยพระเจ้าจอห์น ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย และใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขต ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหาบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหร่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระ โดยในมหาบัตรได้กำหนด ถึงองค์การ และอำนาจของสภาใหญ่ (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่างตามที่กำหนดไว้ โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาใหญ่มิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหาบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1776 สหรัฐอเมริกาได้ประกาศอิสรภาพ จากการเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ และในปี ค.ศ.1789 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ (The Constitution of United States) รัฐธรรมนูญนี้ได้มีการวางกฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศ อำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองต่างๆ ในประเทศอย่างเป็นระเบียบ โดยมีการแยกองค์กรการปกครองประเทศออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งรู้จักกันในนาม "หลักการแบ่งแยกอำนาจ" (Seperation of Power) มีการบัญญัติให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และยอมรับอำนาจสูงสุดของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา โดยเรียกว่า "อำนาจอธิปไตย" (Sovereignty) การจัดทำรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯนี้ เป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆ เอาเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกายังเป็นการนำเอาแนวคิดของ นักปรัชญาที่ถกเถียงกันอย่างเป็นนามธรรมมาบัญญัติ ไว้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกอำนาจ หลักอำนาจอธิปไตย หลักสัญญาประชาคม ด้วยเหตุนี้เอง นักกฎหมายบางท่านจึงเห็นว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก และเป็นอนุสาวรีย์แห่งกฎหมายมหาชน.

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

"คนไทยส่วนมากเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แต่ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งนายปรีดีเคยให้สัมภาษณ์คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ว่า ‘พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ผม ในนามคณะราษฎรเป็นผู้ยกร่าง’ ทำให้เราทราบว่าผู้ร่างคือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส มันสมองของคณะราษฎรขณะนั้น"

ข้างต้น คือคำกล่าวของ ดร. ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเสวนา “๗๕ ปี ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ : ๗๕ ปี ของอะไร ?” ในหัวข้อ “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕“ ซึ่งสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ (เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ไทย เมื่อวันที่ ๓ มีนาคมที่ผ่านมา

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

เมื่อคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้ปกครองอยู่เป็นเวลานานก็ได้สิ้นสุดลง และเกิดระบอบการปกครองใหม่ที่คณะราษฎรนำมาใช้ นั่นคือระบอบการปกครอง "ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitution) เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ" และหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 3 วัน คณะราษฎรก็ได้นำ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" ออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475

ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งถือกันว่าเป็น "มันสมอง" ของคณะราษฎร เมื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วคณะราษฎรก็ได้นำร่าง "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475" ที่ได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เดิมทีนั้นคณะราษฎรต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญถาวรแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทางรับสั่งให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ไปพลางก่อนและให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไปจึงได้มีการเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไปและเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวประกาศใช้บังคับแล้วก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งต่อมาก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มีสาระสำคัญที่เห็นเด่นชัดมีอยู่สองประการ คือ

1. จำกัดอำนาจกษัตริย์ เมื่อพิจารณาจาก "ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1" ที่ได้แจกจ่ายให้แก่ประชาชนในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 แล้ว จะเห็นได้ว่า คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เพราะไม่ศรัทธาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ จึงได้ "…..รวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์ ….." ส่วนสถานภาพของพระมหากษัตริย์นั้น คณะราษฎรได้ชี้แจงว่า "…..คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร….."

หลักการที่ปรากฏอยู่ในประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้หลายๆแห่งด้วยกันในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฯ โดยเริ่มตั้งแต่คำปรารภที่ว่า "…..โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม….." ซึ่งชี้ให้เห็นชัดว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกับประชาชนทั่วๆไป จากนั้นในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ได้ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงตัว "ผู้มีอำนาจสูงสุด" ของประเทศว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" ซึ่งเท่ากับว่ากษัตริย์ได้สูญเสียอำนาจสูงสุดให้กับประชาชนแล้ว และในมาตรา 2 คณะราษฎรก็ได้ย้ำถึงสถานะของกษัตริย์อีกครั้งหนึ่งว่ามีสถานะเท่าๆกับองค์กรอื่นอีก 3 องค์กรที่จะ "เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร" คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาล

ในมาตรา 6 ได้มีการให้อำนาจแก่ "ตัวแทนของประชาชน" ที่จะวินิจฉัยการกระทำผิดทางอาญาของกษัตริย์ได้โดยบัญญัติไว้ว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย" ส่วนบรรดาการกระทำต่างๆของ "พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 7 คือ "…..ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ"

บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งแสดงถึงการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกอย่างชัดแจ้ง นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวยังมีอีกหลายกรณีที่กษัตริย์ไม่สามารถทำได้ เช่น ยับยั้งร่างกฎหมายไม่ได้ (มาตรา 8) ทรงถอดถอนเสนาบดีไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการราษฎร(มาตรา 35) ฯลฯ ซึ่งท่านผู้สนใจรายละเอียดดังกล่าวย่อมสามารถตรวจสอบได้จากพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

2. ให้อำนาจแก่ประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนในการปกครอง ประเทศตามแบบอย่างประเทศในยุโรป จึงได้กำหนดเรื่องจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญและเพิ่มอำนาจให้แก่ "ตัวแทนของประชาชน"

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้กำหนดองค์กรที่ทำหน้าที่ "ตัวแทนของประชาชน" ไว้สององค์กร องค์กรแรกได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยในครั้งแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรมีจำนวนทั้งสิ้น 70 คน และจะทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรอยู่ 6 เดือนหลังจากได้รับแต่งตั้ง จากนั้นจะเปิดให้ราษฎรในแต่ละจังหวัดเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 10) ต่อไป ส่วนองค์กรที่ทำหน้าที่บริหาร ได้แก่ คณะกรรมการราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง (มาตรา 33) องค์กรทั้งสองนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้แบบอย่างมาจากต่างประเทศเพราะในขณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับปี ค.ศ.1932 นั้นประเทศต่างๆในยุโรปต่างก็มีสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งนั้น ส่วนฝ่ายบริหารหรือคณะกรรมการราษฎรนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะได้แนวความคิดมาจากองค์กรที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารในรัสเซีย "People"s Commissioner" ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับปี ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) ซึ่งใช้อยู่ในช่วงระยะเวลานั้น

องค์กรทั้งสองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คณะราษฎรถือว่าเป็น "ตัวแทนของประชาชน" ที่จะเข้ามาบริหารประเทศแทนกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีการบัญญัติให้อำนาจเอาไว้หลายอย่าง เช่น สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาของพระมหากษัตริย์ได้ (มาตรา 6) มีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ (มาตรา 10) ซึ่งนับได้ว่าเป็นการให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรอย่างล้นเหลือและกว้างขวางถึงขนาดสามารถถอดถอนพนักงานรัฐบาลได้ ส่วนคณะกรรมการราษฎรที่ทำหน้าที่บริหารก็มีอำนาจใช้สิทธิแทนพระมหากษัตริย์ (เท่ากับสำเร็จราชการแทนพระองค์) ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่พระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้หรือไม่อยู่ในพระนคร (มาตรา 5) นอกจากนี้ก็ยังมีอำนาจให้ความยินยอมต่อการกระทำใดๆของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหากพระมหากษัตริย์ไม่ได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรแล้ว การกระทำนั้นตกเป็นโมฆะ(มาตรา 7) มีอำนาจให้อภัยโทษ (มาตรา 30) และแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงถอดถอนเสนาบดี (มาตรา 35 ได้ )ฯลฯ

สาระสำคัญทั้งสองประการของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ชี้ให้เห็นชัดว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นคือ ราษฎรและผู้สนับสนุนเพราะเป็นทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มีอำนาจมาก และแม้ว่าฝ่ายบริหารคือ คณะกรรมการราษฎร(ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากบรรดาสมาชิกด้วยกันเอง) จะสามารถถูกสภาผู้แทนราษฎร (ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร) ถอดถอนได้ แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือพระมหากษัตริย์ที่จะควบคุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (เช่น ยุบสภา) ได้ ดังนั้นอำนาจสูงสุดจึงตกอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก็คือ คณะราษฎรและผู้สนับสนุนนั่นเอง มิได้ตกอยู่กับประชาชนตามแบบประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ "ประชาธิปไตย" ทั้งหลาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 จึงน่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศและบุคคลที่มีอำนาจในการปกครองประเทศมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบการปกครองประเทศ

และในที่สุดหลังจากที่ทรง "อดทน" ต่อวิธีการปกครองประเทศแบบใหม่มาได้เกือบสองปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2477 โดยในพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ พระองค์ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า "…..ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร….."

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญแบบใหม่

ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีผลบังคบใช้เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครอง รวมถึงได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย ฉบับพุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จากคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557 มีเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งสภาขึ้นทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และให้มีคณะรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน จัดให้มีกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน แก้ไขสถานการณ์อันวิกฤติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปด้านการเมืองและด้านอื่นๆ ของประเทศ มาจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีกติกาทางการเมืองอย่างรัดกุม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตรวจสอบได้ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ได้มีการบัญญัติถึงกระบวนการ ขั้นตอน และกรอบระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  1. การแต่งตั้งคณะกรรมาธิกายกร่างรัฐธรรมนูญ
  2. การเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  3. การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น สภาปฏิรูปแห่งชาติดเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงส่งต่อให้กับประธานสภาปฏิรูปแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไทยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ โดยให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติลงรับนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ข้อมูลเพิ่มเติม: click.senate.go.th

รัฐธรรมนูญ, รัฐธรรมนูญ หมายถึง, รัฐธรรมนูญ คือ, รัฐธรรมนูญ ความหมาย, รัฐธรรมนูญ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu