ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ความหมายของคำว่า "ป่าไม้", ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" หมายถึง, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" คือ, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" ความหมาย, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ความหมายของคำว่า "ป่าไม้"

          คำว่า "ป่าไม้" นี้มีความหมายที่แตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย  ตอนปลายศตวรรษที่ ๑๓  ในยุโรป  "ป่าไม้"  หมายถึง   พื้นที่ที่พระมหากษัตริย์ได้สงวนไว้  เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับล่าสัตว์ของส่วนพระองค์  ส่วนสิทธิในการตัดไม้และการก่นสร้างแผ้วถางป่า  เพื่อการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ยังเป็นของประชาชนทั่ว ๆ ไปอยู่
          ถัดมาอีกศตวรรษหนึ่ง   "ป่าไม้"   กลับหมายถึง  พื้นที่อันกว้างขวางที่ประกอบด้วยป่าไม้  ทุ่งหญ้า และ  แม้แต่หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านในป่า   สิทธิในการล่าสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวยังคงสงวนไว้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินอยู่  ส่วนสิทธิในการใช้พื้นที่นั้น ๆ  เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ถูกจำกัดลงไป  บรรดาป่าไม้ที่สำคัญ  ๆ ในประเทศอังกฤษ ล้วนแล้วแต่เป็นป่าไม้ประเภทดังกล่าวข้างต้น    โดยกษัตริย์ในราชวงศ์นอร์แมนเป็นผู้กำหนดขึ้น
          ในสมัยต่อมา  เมื่อพระราชอำนาจพิเศษในการล่าสัตว์ของกษัตริย์ได้ถูกจำกัดลง  ความหมายโดยทางนิตินัยของคำว่า  "ป่าไม้"  จึงได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยว มีพรรณไม้จำพวกไม้ต้นปกคลุมอยู่เป็นส่วนใหญ่  หรือมีปริมาณมากกว่าพื้นที่ที่เป็นทุ่งหญ้าหรือไร่นา
          ปัจจุบันองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้คำนิยามคำว่า  "ป่าไม้"  หมายถึง  "บรรดาพื้นที่ที่มีพฤกษชาตินานาชนิดปกคลุมอยู่โดยมีไม้ต้นขนาดต่าง ๆ  เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยไม่คำนึงว่า จะมีการทำไม้ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ก็ตามสามารถผลิตไม้หรือมีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ หรือต่อระบบของน้ำในท้องถิ่น" นอกจากนี้พื้นที่ที่ได้ถูกตัดฟัน หรือ  แผ้วถาง หรือ โค่นเผาไม้ลง และมีเป้าหมายที่จะปลูกป่าขึ้นในอนาคต ก็นับรวมเป็นพื้นที่ป่าไม้ด้วย  แต่ทั้งนี้มิได้นับเอาป่าละเมาะ หรือหมู่ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่นอกป่า หรือต้นไม้สองข้างทางคมนาคม หรือที่ยืนต้นอยู่ตามหัวไร่ปลายนา  หรือที่ขึ้นอยู่ในสวนสาธารณะ ให้เป็นป่าไม้ด้วย
          เมื่อมองในแง่ของอนุรักษ์นิยมแล้ว คำว่า "ป่าไม้"  มิได้หมายถึงเฉพาะกลุ่มหรือหมู่ไม้ของต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่อันกว้างไพศาลเท่านั้น แต่หมายถึงชมรมของสรรพสิ่งที่มีชีวิต ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ แต่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นต้นไม้   นอกจากมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เล็ก สูงต่ำ แตกต่างกัน จนทำให้เป็นเรือนยอดหรือพุ่มไม้ที่มีหลายระดับชั้นแล้ว  ยังมีพฤกษชาติจำพวกไม้พุ่ม  ไม้กอ  ไม้เถา  ไม้เลื้อย  และพืชคลุมดินอีกนานาชนิด  นอกจากพืชแล้ว  ยังมีสัตว์จำพวกสัตว์บก  สัตว์น้ำ  นก แมลง ตลอดจนเห็ดรา (fungi) บัคเตรี แอลจี  และจุลินทรีย์ทั้งที่ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นดินและใต้ผิวดินลงไปจำนวนมากมายจนสุดที่จะคณานับ  เมื่อบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายรวมตัวกันเข้าแล้วก็บังเกิดเป็นสังคมทางชีวภาพ (biological association)  อันประกอบด้วย  สรรพสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีปฏิกิริยาต่อกันและกัน อาทิเช่น นกและสัตว์ ก็ช่วยกะเทาะเมล็ดพันธุ์ไม้  เพื่อให้สามารถงอกได้สะดวกขึ้น แมลงและนก  ก็ช่วยผสมเกสรดอกไม้  บริเวณใต้ต้นไม้หรือพฤกษชาติที่คลุมดินอยู่   จะมีเศษใบไม้   กิ่งไม้  ต้นไม้ที่โค่นล้ม  รวมทั้งซากสัตว์ซากพืช และแมลงต่าง ๆ ทับถมพื้นดินอยู่ เมื่อนานปีเข้าก็อาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินช่วยทำให้ผุพังและสลายตัวเป็นปุ๋ยธรรมชาติ (humus) เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน และช่วยปกคุมผิวดินมิให้ถูกแสงแดดแผดเผาหรือถูกกระแสฝนตกต้องอย่างรุนแรง  ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกันมิให้ดินถูกกระแสน้ำ หรือ กระแสลมที่รุนแรงกัดชะพัดพาให้พังทลายไป  และช่วยให้น้ำฝนบางส่วนที่เหลือจากการระเหยคืนสู่อากาศได้มีโอกาสซึมซาบลงสู่แหล่งเก็บกักน้ำใต้ดิน เมื่อหมดฝนหรือย่างเข้าฤดูแล้ง ก็มีน้ำใสสะอาดไหลออกมาหล่อเลี้ยงลำห้วย ลำธาร หรือน้ำพุ อย่างไม่ขาดสาย ซากพืช  ที่ปกคลุมพื้นที่ป่าไม้ยังช่วยป้องกันหรือลดการระเหยของน้ำในดิน ซึ่งทำให้พืชได้รับประโยชน์จากความชื้นในดินอย่างใหญ่หลวง  ใต้พื้นดินลงไปจะมีเรือนรากของต้นไม้และรากพืชจำนวนมากไชชอนไปแทบทุกสารทิศ ประกอบกับมีไส้เดือนและสัตว์จำพวกที่ขุดรูอยู่ในดิน เช่น อ้น เม่น และจุลินทรีย์นานาชนิด จึงทำให้ดินที่มีป่าไม้ปกคลุมร่วนโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก  ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม น้ำและดิน จะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ทั้งภูมิอากาศในท้องถิ่นที่ป่าไม้ตั้งอยู่ก็มีความละมุนละไม ไม่ร้อนจัด  หรือหนาวจัดอีกด้วย

ความหมายของคำว่า "ป่าไม้", ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" หมายถึง, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" คือ, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" ความหมาย, ความหมายของคำว่า "ป่าไม้" คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu