เกิดจากเชื้อปรสิตในกลุ่มที่เรียกว่า เฮลมินท์ (helminth) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหนอนเชื้อปรสิตในกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ พยาธิตัวกลม พยาธิใบไม้ และพยาธิตัวตืด
เป็นพยาธิชนิดหนึ่งซึ่งมีรูปร่างแบนราบเหมือนรูปใบไม้จึงเรียกว่า พยาธิใบไม้ ในแต่ละตัวจะมีทั้ง ๒ เพศรวมกัน จึงสามารถผสมพันธุ์ในตัวเอง และให้ไข่ออกมา ไข่นี้จะฟักออกเป็นตัวอ่อนเรียกว่า ไมราซิเดียม (miracidium) ซึ่งเข้าไปเจริญเติบโตในหอย แล้วกลายเป็นตัวอ่อนอีกมากมายเรียกว่าเซอร์คาเรีย (cercaria) ซึ่งต่อมาอาจต้องอาศัยอยู่ในโฮสต์อื่นอีกก็ได้ จนกว่าคนจะไปกินจึงจะติดเชื้อพยาธินี้ ส่วนพยาธิใบไม้เลือดไม่ต้องอาศัยโฮสต์อื่นอีกสามารถไชเข้าไปทางผิวหนังของคนได้โดยตรงพยาธิใบไม้อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด ตามอวัยวะที่พบ ได้แก่ พยาธิใบไม้ลำไส้ พยาธิใบไม้ปอด พยาธิใบไม้ตับ และพยาธิใบไม้เลือด
โรคพยาธิใบไม้ลำไส้ ที่พบบ่อยในประเทศไทย เกิดจากพยาธิชนิดฟัสซิโอลอบซิส บุสไค (Fasciolopsis buski) ซึ่งมีขนาดโตมาก ยาวประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร มีสีน้ำตาลแดง
ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้นโดยใช้ปากดูดติดกับเยื่อบุผนังลำไส้ให้ไข่ออกมาในอุจจาระลงไปในน้ำ ฟักตัวเป็นไมราซิเดียมแล้วไชเข้าในหอยน้ำจืดบางชนิด เจริญเติบโตเป็นเซอร์คาเรีย ออกจากหอยว่ายน้ำไปยึดเกาะพืชน้ำบางชนิด เช่น กระจับเจริญเป็นซีสต์ ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินกระจับดิบๆ ก็จะได้รับเชื้อไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ต่อไป
ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธินี้จะมีอาการท้องเดิน ปวดท้องเวลาหิว ถ่ายอุจจาระหยาบ แสดงว่าลำไส้ย่อยอาหารไม่ดี เบื่ออาหาร บางรายมีคลื่นไส้ อาเจียนมีน้ำในช่องท้อง ผอมลง ในรายที่มีพยาธิมากๆ จะมีอาการบวมและขาดอาหาร อาจถึงตายได้
โรคพยาธิชนิดนี้พบมากในแหล่งที่ปลูกกระจับกันมาก ส่วนมากมักเป็นในเด็ก การแพร่กระจายของโรคเกิดจากการถ่ายอุจจาระลงสู่ลำน้ำลำคลอง หรือท้องร่องที่เป็นน้ำนิ่ง ทำให้ไมราซิเดียมมีโอกาสออกจากไข่เข้าสู่ตัวหอยได้ วิธีป้องกันโรคนี้ก็คือ ไม่รับประทานกระจับดิบ โดยใช้ปากกัดเปลือกนอก ควรล้างให้สะอาด ใช้มีดปอกเปลือกนอกเสียก่อน
โรคพยาธิใบไม้ปอด เป็นพยาธิใบไม้ที่มีรูปร่างป้อมและตัวหนามาก ยาว ๘ มิลลิเมตร กว้าง ๕ มิลลิ เมตร และหนา ๓ มิลลิเมตร ชนิดที่พบในบ้านเราคือพาราโกนิมัส เวสเทอร์มาไน (Paragonimus westermani) ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยในปอดของคน ให้ไข่ออกมาพร้อมกับเสมหะ ผู้ป่วยบางรายอาจกลืนเสมหะลงไปทำให้ไข่ออกมาในอุจจาระ ภายใน ๒-๔ สัปดาห์ ไข่จะฟักออกมาเป็นไมราซิเดียม เข้าไปเจริญเติบโตในหอยนาน ๑๐ สัปดาห์ กลายเป็นเซอร์คาเรีย ออกจากหอยเข้าสู่กุ้งหรือปูน้ำจืด เช่น ปูนา ปูภูเขา เจริญเติบโตเป็นเมทาเซอร์คาเรีย (metacercaria) เมื่อคนกินกุ้งหรือปูเหล่านี้ เมทาเซอร์คาเรียจะไชผ่านผนังลำไส้เข้าช่องท้องผ่านกะบังลม ผ่านเยื่อหุ้มปอดเข้าไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในปอดของผู้นั้น
ผู้ป่วยที่เป็นพยาธิใบไม้ปอด มักมีอาการไอเรื้อรังมีเลือดปนออกมาในเสมหะ มักมีจำนวนเสมหะไม่มากนัก ส่วนมากมักจะมีมากในตอนเช้า บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย มักไม่มีไข้ ในบางรายจะมีอาการคล้ายๆคนเป็นวัณโรคมาก
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แถวจังหวัดสระบุรี นครนายก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาและท้องนา ชาวบ้านแถวนั้นนิยมจับปูนาและปูภูเขามารับประทานดิบๆ บางรายเอามาดองน้ำส้มหรือน้ำปลาเพียงคืนเดียวแล้วรับประทาน วิธีป้องกันก็คือ ไม่รับประทานปูดิบ นอกจากนี้มีดและเขียงที่ใช้สำหรับสับหรือหั่นปู ควรล้างให้สะอาด เพราะอาจติดเมทาเซอร์คาเรียได้ คนที่เป็นโรคนี้ไม่ควรถ่ายอุจจาระหรือขากเสมหะลงในลำธารหรือลำคลอง เพราะจะเป็นการแพร่กระจายโรคนี้ออกไป
โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยในบ้านเราโดยเฉพาะทางภาคอีสาน และพบบ้างประปรายทางภาคเหนือ พบได้น้อยมากในภาคใต้ พยาธิใบไม้ตับที่พบเป็นชนิดออพิสทอร์คิส ไวเวอร์รินิ (Opisthorchis viverrini) ซึ่งมีขนาดประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร ตัวแก่จะอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีเล็กๆ ในตับคนหรือสัตว์ เช่น สุนัขหรือแมว เป็นต้น ไข่จะออกมากับน้ำดีลงสู่ลำไส้และออกมาพร้อมกับอุจจาระ หอยจะกินไข่เข้าไปตัวอ่อนจะฟักตัวออกเจริญเติบโตเป็นสปอโรซีสต์ (sporocyst) เรเดีย (redia) และเซอร์คาเรีย ตามลำดับซึ่งจะออกจากหอยไปฝังตัวในเนื้อปลา กลายเป็นเมทาเซอร์คาเรียซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อคนกินปลาดิบก็จะติดพยาธินี้เข้าไป
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ส่วนมากมักเป็นหลังอาหาร อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้น ถ้ารับประทานอาหารที่มีไขมันมากๆ บางรายมีอาการเจ็บบริเวณตับ บางครั้งมีอาการเจ็บร้าวไปถึงบริเวณลิ้นปี่ ผู้ป่วยจะผอมลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งของตับ เป็นต้น
โรคนี้พบได้บ่อยทางภาคอีสาน เพราะชาวบ้านนิยมนำปลาที่จับได้มาทำก้อยปลา ปลาที่มีพยาธินี้ได้แก่ปลาแม่สะแด้ง และปลาในตระกูลปลาตะเพียน เช่น ปลาสร้อยนกเขา ปลากระสูบ ปลากะมัง เป็นต้น วิธีป้องกันก็คือ ไม่รับประทานปลาที่ไม่สุก และไม่ถ่ายอุจจาระลงในลำน้ำลำคลอง
โรคพยาธิใบไม้เลือด พยาธิใบไม้เลือดที่ทำให้เกิดโรคในคน ทางแถบตะวันออกของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น ฟิลลิปปินส์ มีชื่อว่า ชิสโทโซมา จาพอนิคุม (Schistosoma japonicum) ตัวแก่ของพยาธินี้อาศัยอยู่เมื่อมีไข่ ไข่จะไชทะลุเข้าไปในลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะหลุดออกมากับอุจจาระหรือปัสสาวะ แล้วกลายเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะไชเข้าสู่หอยและเจริญเติบโตเป็นเซอร์คาเรียต่อมาเซอร์คาเรียจะออกจากหอย ไชเข้าสู่ผิวหนังของคนที่ลงมาอยู่ในน้ำ แล้วไปเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในหลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยยังไม่พบหอยชนิดที่นำพยาธินี้
ผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิชนิดนี้ จะมีไข้ตอนบ่ายจุกแน่นยอดอก ไอบ้างเล็กน้อย เกิดลมพิษบ่อยๆ บางรายเกิดภาวะขาดอาหารร่วมด้วย ตับและม้ามโตต่อมาอาจเกิดตับแข็ง มีน้ำในช่องท้อง ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายและอาจเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันก็คือ ในบริเวณที่มีการกระจายของโรคนี้ ไม่ควรลงไปอาบน้ำหรือแช่น้ำในลำธารหรือหนองบึง ซี่งมีหอยที่เป็นพาหะนำโรคอาศัยอยู่ เพราะเซอร์คาเรียอาจไชเข้าทางผิวหนังได้ ในหลอดเลือดดำของลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ