การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หมายถึง, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ คือ, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ความหมาย, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ คืออะไร
เดิมเคยเชื่อกันว่าในบริเวณมหาสมุทรอินเดียคงจะไม่มีปรากฏการณ์คลื่นสึนามิที่รุนแรงเกิดขึ้น เพราะถึงแม้ว่าทางด้านตะวันออกของทะเลอันดามันจะเป็นแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate) และมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็ไม่เคยมีคลื่นสึนามิที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
จนเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เกิดคลื่นสึนามิครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้คนเสียชีวิตถึงประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ คน นับเป็นภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๓ ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๑ เกิดจากพายุไซโคลนพัดผ่านประเทศบังกลาเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน และภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ ๒ เกิดจากแผ่นดินไหวทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๒๕๕,๐๐๐ คน
คลื่นสึนามิดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของหัวเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย แล้วเคลื่อนตัวแผ่ขยายไปทั่วทะเลอันดามัน จนถึงชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียและเกาะศรีลังกา บางส่วนของคลื่นยังเคลื่อนตัวไปถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาด้วย รวมประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ และมีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น ๑๑ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย และเคนยา ในกรณีของประเทศไทย พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพราะมีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากใน ๖ จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด เป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน จึงไม่ได้มีการระมัดระวังและป้องกันไว้ล่วงหน้า
ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีดังนี้
- เวลา ๐๗.๕๙ น. ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตกทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ละติจูด ๓.๓ องศาเหนือ ลองจิจูด ๙๕.๘ องศาตะวันออก ลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ ๓๐ กิโลเมตร มีขนาดความรุนแรง ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์ นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน และรุนแรงมากเป็นอันดับ ๕ ของโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้
- หลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ในจังหวัดอาเจะห์ ความสูงและความรุนแรงของคลื่นทำให้เมืองและชุมชนตามชายฝั่งถูกทำลายอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดมากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน บริเวณที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่เมืองบันดาอาเจะห์ (Banda Ajeh) ซึ่งเป็นเมืองหลักของจังหวัด รองลงมาคือ ที่เมืองเมอลาโบะห์ (Meulaboh) ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลอยู่ไปทางใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์ นับเป็นการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย
- เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. คลื่นสึนามิได้เริ่มเคลื่อนตัวมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย มีผู้เสียชีวิตที่เกาะปีนังในประเทศมาเลเซียประมาณ ๗๐ คน และใน ๖ จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง รวมกันประมาณ ๕,๔๐๐ คน
- คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปทางเหนือจนถึงชายฝั่งของประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๗๐๐ กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดีของประเทศพม่า ประมาณ ๖๐ คน ส่วนในประเทศบังกลาเทศมีรายงานผู้เสียชีวิต ๒ คน
- คลื่นสึนามิส่วนที่เคลื่อนตัวจากเกาะสุมาตรามุ่งไปทางตะวันตก เคลื่อนที่ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศอินเดียกลางทะเลอันดามัน จากนั้นเคลื่อนตัวต่อไปถึงชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑู และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย รวมทั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ทางใต้ของอินเดีย มีผู้เสียชีวิตที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประมาณ ๙๐๐ คน และที่รัฐทมิฬนาฑูประมาณ ๘,๐๐๐ คนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองนาคาปัตตินัม (Nagapattinum) ส่วนในประเทศศรีลังกามีผู้เสียชีวิตประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน
- ต่อจากประเทศศรีลังกา คลื่นสึนามิได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเกาะศรีลังกาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ กิโลเมตร เนื่องจากประเทศนี้มีภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะปะการังเตี้ยๆ จึงได้รับความเสียหายมาก มีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ ๘๒ คน
- คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งยังคงเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวประมาณ ๕,๕๐๐ กิโลเมตร แม้จะอ่อนกำลังบ้างแล้วแต่ก็ทำความเสียหายให้แก่บริเวณชายฝั่งของประเทศโซมาเลีย และประเทศเคนยาได้มากพอสมควร มีผู้เสียชีวิตที่ประเทศโซมาเลีย ประมาณ ๓๐๐ คน และที่ประเทศเคนยา ๑ คน
นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่า คลื่นสึนามิ ที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียขยับตัวเลื่อนมาทางทิศตะวันออก และมุดลงใต้ขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน (fault) ขนาดใหญ่เป็นแนวยาวตั้งแต่ทางตะวันออกของพม่าและตะวันตกของไทย ลงไปตามแนวของหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ จนถึงทางเหนือของเกาะสุมาตรา และเนื่องจากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากถึงระดับ ๙.๐ ตามมาตราริกเตอร์ จึงเกิดเป็นคลื่นสึนามิแผ่ขยายออกไปโดยรอบในทะเลอันดามันและบางส่วนของมหาสมุทรอินเดียดังกล่าวแล้ว
การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หมายถึง, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ คือ, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ความหมาย, การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!