ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

จักรวาล, จักรวาล หมายถึง, จักรวาล คือ, จักรวาล ความหมาย, จักรวาล คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
จักรวาล

          ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นว่าในการดำรงความเป็นมนุษย์ของคนเรานั้น  มิได้หยุดอยู่แค่เพียงความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องอย่างแยกออกไม่ได้กับเรื่องของระบบความเชื่อ เพราะระบบความเชื่อมีความหมายความสำคัญทั้งในด้านการบรรเทาความกระวนกระวายทางจิตใจ  การสร้างความมั่นใจ   และการสร้างพลังใจในการดำรงชีวิตรวมทั้งในขณะเดียวกันก็ช่วยในด้านการรักษาและควบคุมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ให้เป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย  เรื่องของเศรษฐกิจเป็นความต้องการทางวัตถุที่จะทำให้คนเห็นแก่ตัวทำอะไรเฉพาะตัวเองเพื่อพรรคพวกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เรื่องของระบบความเชื่อเป็นเรื่องทางจิตใจที่เป็นของส่วนรวม  ซึ่งมีความ-หมายในอันที่จะเหนี่ยวรั้งความเห็นแก่ตัวทางเศรษฐกิจและทางวัตถุให้อยู่ในระดับที่พอดี
          เพื่อที่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์จะดำรงสืบไป  ระบบความเชื่อในทุกสังคมมนุษย์นั้นอาจแบ่งออกกว้างๆ เป็น อย่าง คือ ศาสนาและไสยศาสตร์ อย่างแรกเป็นเรื่องของความเชื่อที่ทำให้มนุษย์สยบแก่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติมีการกราบไหว้วิงวอนขอความช่วยเหลือ   แต่อย่างหลังเป็นเรื่องความพยายามของมนุษย์ที่จะควบคุมและใช้สิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้ทำประโยชน์ให้แก่ตน  อย่างเช่น การทำเสน่ห์ยาแฝดหรือการใช้เวทมนต์คาถาเสกหนังควายหรือตะปูเข้าท้องคนอื่นนั้น  เรียกได้ว่าเป็นไสยศาสตร์   แต่การสวดมนต์กราบไหว้พระพุทธรูปหรือวิงวอนเทพเจ้าเพื่อให้เมตตาช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องของศาสนา   ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างศาสนากับไสยศาสตร์ก็คือ  ศาสนาเป็นเรื่องที่คนสยบต่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ  มีผลทำให้ทุกคนในสังคมต้องอยู่ในกรอบความประพฤติและกฎเกณฑ์ทางสังคมในการอยู่ร่วมกันเป็นที่มาของระบบศีลธรรมและจารีตกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของคนในสังคม ส่วนไสยศาสตร์นั้นอาจเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมได้ เช่น การใช้เวทมนตร์คาถาทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น ในเรื่องนี้จึงทำให้ไสยศาสตร์แบ่งออกเป็น  "ไสยดำ" และ "ไสยขาว"  อย่างแรกใช้ไปในทางที่ชั่วร้ายในขณะที่อย่างหลังใช้ไปในทางป้องกันความชั่วร้ายอย่างเช่น  การสวดมนต์หรือการสวดคาถาปัดเป่าโรคร้าย  โรคระบาด เป็นต้น
          สังคมมนุษย์ในโลกต่างกันมีระบบความเชื่อที่เนื่องด้วยศาสนาและไสยศาสตร์แตกต่างกันออกไป  สังคมที่มีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีอยู่แล้ว    มักให้ความสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์น้อยมาก   ในขณะที่ความสนใจในเรื่องทางศาสนาก็แคบลง เป็นเรื่องที่เน้นในทางปรัชญามากกว่า ส่วนสังคมในประเทศที่ยังล้าหลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น   ยังให้ความสนใจกับเรื่องไสยศาสตร์และศาสนาที่เน้นการสยบต่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติอยู่   ความแตกต่างกันระหว่างสังคมทั้งสองระดับนี้เห็นได้จากการประกอบพิธีกรรม สังคมที่พัฒนาแล้วไม่สนใจในเรื่องพิธีกรรมในระบบความเชื่อทั้งศาสนาและไสยศาสตร์  ส่วนสังคมที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามักเน้นความสำคัญของพิธีกรรมในกิจกรรมต่างๆ อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย  สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติตลอดเวลา   โดยเฉพาะต้องพึ่งฝนที่ลมมรสุมพัดพามาตกเป็นประจำ  เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จึงต้องมีการประกอบพิธีกรรมทั้งทางศาสนาและไสยศาสตร์กันต่างๆ นานาเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เหตุนี้จึงทำให้ระบบความเชื่อของคนไทยมีลักษณะซับซ้อนและหลากหลายในเรื่องประเพณีพิธีกรรมอย่างไม่เสื่อมคลายคนไทยทั่วไปไม่ค่อยจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องที่เป็นปรัชญาทางศาสนา    แต่ยังผูกติดกับการประกอบพิธีกรรมที่คิดว่าเมื่อกระทำเรียบร้อยแล้วก็บรรลุความมุ่งหมาย
          ทุกวันนี้ศาสนาและไสยศาสตร์ที่คนไทยเชื่อถือกันมานาน เป็นระบบความเชื่อที่เกิดจากการผสมผสานของศาสนาใหญ่ๆ  เช่น  พุทธศาสนา  ศาสนาฮินดู  ที่มาจากภายนอกกับระบบความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับการถือผีและลัทธิเกี่ยวกับวิญญาณที่มีมาแต่เดิม จากการผสมผสานที่มีมาช้านานดังกล่าวนี้ ทำให้ภาพพจน์และความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลของคนไทยมีความซับซ้อนและหลากหลาย  นั่นก็คือการที่คิดว่ามีทั้งโลกนี้และโลกหน้า และความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่ขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรมคือถ้าหากทำกรรมดีก็จะเกิดในที่ดี  เป็นขุนนางเป็นกษัตริย์  เป็นเทวดา แต่ถ้าทำกรรมชั่วจะไปเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจหรือผีเปรตในนรกอย่างไรก็ตามความคิดในเรื่องจักรวาลที่เกี่ยวกับโลกนี้และโลกหน้าของคนไทยก็มีความแตก-ต่างไปเป็น ๒ ระดับคือระดับคนทั่วไปกับผู้รู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต  ในระดับคนธรรมดาทั่วไป โลกนี้โลกหน้าประกอบด้วยสวรรค์  โลกมนุษย์  และนรกที่อยู่ใต้บาดาล สวรรค์เป็นที่อยู่ของเทพ โลกเป็นที่อยู่ของมนุษย์และอมนุษย์เช่นพวกผีที่มีทั้งดีและร้าย  ส่วนนรกเป็นที่อยู่ของผู้ที่ตายไปแล้วไปเกิดเป็นเปรต แต่ละแห่งต่างก็มีการแบ่งชั้นและการแบ่งชั้นของบุคคลแตกต่างกันไปตามกฎแห่งกรรม  อย่างเช่น  บนสวรรค์ก็มีเทวดาหรือเทพหลายระดับ มีทั้งเทวดาชั้นต่ำที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามและเป็นเพียงบริวารของเทวดาผู้ใหญ่  ซึ่งล้วนแต่เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูเกือบทั้งสิ้น เช่น พระอินทร์  พระอิศวร  พระนารายณ์  พระพรหม พระอาทิตย์  พระจันทร์  เป็นต้น ในโลกมนุษย์ก็มีการแบ่งมนุษย์ออกเป็นคนธรรมดาสามัญพวกไพร่ ข้าทาส เจ้าขุนมูลนาย คหบดี ขุนนาง ข้าราชการ  เจ้านายและกษัตริย์ นอกจากมนุษย์แล้วก็มีสิ่งนอกเหนือ  ในขณะที่ในนรกก็แบ่งออกเป็นชั้นๆ  ตามกรรมของผู้ที่อยู่และรับโทษทั้งสวรรค์  โลกมนุษย์  และนรกนั้น  มักมีการเขียนภาพแสดงไว้ให้เห็นตามผนังโบสถ์  วิหารของวัดวาอารามและตามสมุดข่อย  ใบลานที่ใช้ในการเทศน์และศึกษาเล่าเรียนของพระและประชาชนทั่วไป
          ส่วนในระดับคนที่มีความรู้เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น  ความรู้ความเข้าใจในเรื่องจักรวาลและศาสนาจะแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไปคือมีความลุ่มลึกในทางที่เป็นปรัชญามากกว่าการให้ความสำคัญทางด้านพิธีกรรม เรื่องของโลกนี้และโลกหน้านั้นหาได้ประกอบด้วย  สวรรค์โลก  และนรกไม่ หากเป็นเรื่องของภูมิสามภูมิคือ  กามภูมิ  รูปภูมิ  และอรูปภูมิ เรื่องของนรกโลก และสวรรค์ของคนทั่วไปรวมทั้งของศาสนาอื่นๆ ด้วยนั้น  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่ในกามภูมิเท่านั้น  เพราะยังเป็นเรื่องของความรู้สึกทางโลกีย์อยู่  ดังเห็นได้จากภาพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ก็แวดล้อมไปด้วยเทวดาหญิง-ชายเป็นคู่กันอยู่  แม้แต่เรื่องของพระอิศวร  พระนารายณ์  พระพรหม  ก็ยังมีพระอุมา  พระลักษมี  และพระสุรัสวดีเป็นชายารูปภูมิอยู่เหนือกามภูมิขึ้นไปเป็นที่อยู่ของบรรดาพรหม  คือผู้ที่หมดความรู้สึกในเรื่องโลกีย์แต่ยังต้องการมีตัวตนอยู่  เพราะฉะนั้นพระพรหมในทางพุทธศาสนาจึงมีหลายองค์และในภาพเขียนที่ปรากฏในหนังสือไตรภูมิจึงมักเป็นภาพของเทวดาสี่หน้าที่สถิตอยู่ในวิมานแต่เพียงผู้เดียวอรูปภูมิเป็นที่อยู่ของบรรดาพรหมที่หมดความต้องการในเรื่องการมีตัวตน แต่ยังมีความรู้สึกอยู่   มักปรากฏในภพไตรภูมิเพียงวิมานที่ว่างเปล่าในภูมิที่เรียกว่าอรูปภูมิเท่านั้น ถ้าหากดับความรู้สึกความต้องการทั้งหมดได้  บุคคลนั้นก็พ้นอรูปภูมิเข้าสู่โลกุตระถือนิพพานอันเป็นความมุ่งหมายสุดยอดของพระศาสนา
          ความเข้าใจในเรื่องระบบความเชื่อและจักรวาลที่ไม่ทัดเทียมกันของบุคคลต่างๆ  ในสังคมไทยนี้  มีผลเกี่ยวข้องไปถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของคนไทยเป็นอย่างมาก   ทำให้เกิดความหลากหลายในแง่มุมของการมองโลกที่แตกต่างกันออกไปตามฐานะทางสังคม    ในสังคมหมู่บ้านตามท้องถิ่นชนบทที่ชาวบ้านมีการศึกษาน้อย  มักทำอะไรตามกันเป็นแบบประเพณีความเชื่อในทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่แสดงออกด้วยการประกอบประ-เพณีพิธีกรรมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมาก  พิธีกรรมที่เรียกว่าการทำบุญนั้นมีความหมายต่อการอยู่รวมกันในสังคมของชาวบ้านเป็นอย่างมากเพราะงานประเพณีทุกอย่างทั้งในระดับชุมชนและครอบครัวจะมีเรื่องของการทำบุญผสมอยู่ด้วยเสมอ  วัดประจำหมู่บ้านก็ดีและวัดประจำท้องถิ่นก็ดี  จึงกลายเป็นสถานที่ชุมนุมในกิจกรรมทางสังคม  ผู้คนทุกเพศทุกวัยที่อยู่ทั้งใกล้และไกลได้มาพบปะกัน  สังสรรค์กันและร่วมมือกันในการทำบุญร่วมกัน  นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ  สังคมและในด้านอื่นๆ ต่อไป    
          นอกจากนั้นงานประเพณีบางอย่าง  เช่น งานเทศน์มหาชาติ  ที่เน้นในเรื่องการให้ทานของพระเวสสันดร   และการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน  ที่บรรยายถึงการไปโปรดสัตว์ในนรกของพระมาลัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ทรมานในนรกนั้น   ก็ล้วนเป็นการอบรมในเรื่องของคุณธรรมและศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นกันเองของคนในสังคมชนบทเป็นอย่างดี   การทำบุญของคนในชนบทที่ปฏิบัติจนเป็นประเพณีนั้น  มุ่งหวังความสุขในโลกหน้าเพื่อจะเกิดใหม่มีฐานะดีกว่าแต่เดิมบ้าง  ให้อยู่ในสมัยพระศรีอาริย์บ้างนั้น  ล้วนเป็นความต้องการทางจิตใจที่นอกเหนือไปจากความต้องการทางวัตถุทั้งสิ้น แตกต่างไปจากคนในเมืองหรือคนที่มีฐานะมั่งคั่งที่มีการศึกษาดีกว่า  บุคคลเหล่านี้มักให้ความสนใจในเรื่องของโลกหน้าภพหน้าน้อย  หากสนใจที่จะรักษาสถานภาพความเป็นอยู่ในโลกนี้ให้ถาวร  การเข้าวัดและการทำบุญจึงมีความมุ่งหมายต่างไปจากบรรดาชาวบ้าน  คนในเมืองหรือคนรวยมักทำบุญเพื่อหวังว่าจะรวยเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็เพื่อจะได้แคล้วคลาดหลุดพ้นจากเคราะห์ร้ายโชคร้ายต่างๆ ยิ่งกว่านั้นการทำบุญแต่ละครั้งยังมุ่งหวังในเรื่องการแสดงความโอ่อ่าความสำคัญในเรื่องฐานะที่จะมีผลไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจกับผู้อื่นอีกด้วย  สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการเพียงความสุขในโลกนี้   ที่นอกเหนือไปจากการทำบุญก็คือความเชื่อในเรื่องโชคลางที่ต้องปรึกษาพวกหมอดู  หมอผี  มีการทำนายโชคชะตา  ผูกดวงสะเดาะเคราะห์ที่นำไปสู่การประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ต่างๆ นานา  ล้วนแต่เป็นการเน้นในเรื่องวัตถุนิยมและการเป็นปัจเจกบุคคลที่อาจกระทบกระเทือนต่อศีลธรรมและจริยธรรมทางสังคมได้

จักรวาล, จักรวาล หมายถึง, จักรวาล คือ, จักรวาล ความหมาย, จักรวาล คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu