
โรคเบาหวานเป็นโรคซึ่งพบได้บ่อยมากและพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งการกินอยู่ของพลเมืองดีขึ้น โรคเบาหวานเป็นโรคซึ่งมีความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุของโรคเบาหวานส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างและการปลดปล่อยอินซูลิน (insulin) ร่วมกับการทำงานของอินซูลินและเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่เกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคของต่อมตับอ่อน เช่น มีภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือตัดเอาต่อมตับอ่อนออก ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์อินซูลินได้ จะปรากฏว่ามีโรคเบาหวานเกิดขึ้น นอกจากนี้เบาหวานยังอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือกลุ่มอาการคุชิง (cushing syndrome) ได้รับคอร์ทิโคสตีรอยด์ (corticosteroid) มากเกินปกติเป็นเวลานาน และในหญิงมีครรภ์ เป็นต้น กรรมพันธุ์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวกับสาเหตุของโรคนี้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความรวดเร็วและความรุนแรงของความผิดปกติของเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต การติดเชื้อซึ่งอาจจะเกิดขึ้นร่วมกับโรคเบาหวาน แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอาจไปพบแพทย์ด้วยอาการดังต่อไปนี้
๑. การตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ การตรวจปัสสาวะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายโดยทั่วไป เช่น ตรวจเพื่อเข้าทำงานหรือประกันชีวิต ในการตรวจนี้อาจพบน้ำตาลได้โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ
๒. เบาหวานที่มีอาการเริ่มต้นช้าๆ ผู้ป่วยเบาหวานอาจจะมีอาการเริ่มต้นช้าๆ เช่น มีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปัสสาวะมากและบ่อยในเวลากลางคืน ผู้ป่วยอาจจะมีประวัติน้ำหนักตัวลด และผอมลงภายในเวลาหลายเดือน แต่ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักขึ้นเล็กน้อยก่อนที่จะมีอาการผอมลง อาการอย่างอื่นที่พบได้ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย อาการคันที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ฝีที่ผิวหนังอาการกามตายด้านหรือหมดความรู้สึกทางเพศ ลักษณะอาการเริ่มต้นดังกล่าว มักพบได้ในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยกลางคนมากกว่าผู้ป่วยที่มีอายุน้อยหรือผู้ป่วยที่สูงอายุ
๓. เบาหวานที่มีอาการเริ่มต้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยเบาหวานประเภทนี้มักจะมีอาการมากขึ้นในเวลาอันสั้นเช่น มีอาการปัสสาวะบ่อยและจำนวนมาก อาการดื่มน้ำจำนวนมาก น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และอาจจะมีอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น อาการคีโทอะซิโดซิส(ketoacidosis) ทำให้มีอาการซึมจนถึงหมดสติได้ภายในเวลาไม่นานนัก อาการอื่นที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน อาการชา อาการไวต่อการกระตุ้น อาการเริ่มต้นดังกล่าว มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือวัยรุ่น และอาจพบได้ในผู้ป่วยที่สูงอายุด้วย
๔. เบาหวานที่ไปพบแพทย์ด้วยโรคแทรก ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุมักจะไปพบแพทย์ด้วยโรคแทรกเช่น อาการต้อแก้วตา ประสาทส่วนปลายหลายเส้นอักเสบ โรคแทรกทางไตและอื่นๆ