ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ป่านศรนารายณ์ (sisal), ป่านศรนารายณ์ (sisal) หมายถึง, ป่านศรนารายณ์ (sisal) คือ, ป่านศรนารายณ์ (sisal) ความหมาย, ป่านศรนารายณ์ (sisal) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ป่านศรนารายณ์ (sisal)

          ป่านศรนารายณ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าอะกาเว ไซซาลานา (Agave sisalana  Perr.) เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลอะกาเวซีอี (Agaveceae) ใบป่านศรนารายณ์มีสีเขียว   แตกจากลำต้นแผ่กว้างออกไปรอบโคนต้น   ใบยาวประมาณ  ๑.๒๐ เมตร  ปลายใบเรียวเล็กจนถึงปลายสุดมีหนามแข็งแหลมอยู่ ๑ อัน ผิวนอกของใบมีขี้ผึ้งหรือไขคลุมอยู่ทั่วทำให้ไม่เปียกน้ำ การออกดอกของต้นป่านขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและการตัดใบโดยปกติเมื่อป่านศรนารายณ์อายุ ๘ ปี จะออกดอก แต่แทบไม่พบเห็นเมล็ดพันธุ์ แต่เกิดเป็นต้นอ่อน  (bulbil) จากก้านดอกย่อย ไม่ได้เกิดจากเมล็ด เมื่อโตเต็มที่ต้นอ่อนจะหลุดออกจากก้าน (ประมาณ ๔-๖ เดือน) ตกลงมาที่พื้นดินแล้วเจริญเติบโตต่อไปเอง  ถ้าเราจะใช้ปลูก  ต้องนำไปเพาะชำให้โตดีเสียก่อนจึงจะได้ผลดี  ซึ่งใช้เวลาเพาะชำ  ๖  เดือน หรือจนมีความสูงประมาณ  ๓๐ เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย  หลังจากที่ต้นป่านออกดอกแล้วก็จะตาย โดยหาเมล็ดสำหรับสืบพันธุ์ได้ยาก
          ป่านศรนารายณ์ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ให้เส้นใยจากใบที่จัดอยู่ในประเภทพืชเส้นใยแข็งส่วนใหญ่จึงใช้ในการผลิตเชือกขนาดใหญ่ใช้ลากจูงเรือ และใช้ในวงการก่อสร้าง ใช้ทำที่ขัดหรือลูกบัฟ (buff) ขัดโลหะ เช่น ช้อนส้อมตลอดจนใช้ทอผ้ารองพรม พรม และงานหัตถกรรมต่าง ๆ ต้นป่านศรนารายณ์เมื่อยังเล็กจะมีลักษณะคล้ายต้นสับปะรด แต่เมื่อเจริญเติบโตจะมีขนาดใหญ่กว่าต้นสับปะรดมาก   มีปลูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเป็นไม้ประดับและรั้วบ้าน บางท้องถิ่นปลูกเพื่อใช้ประดิษฐ์สิ่งของในครอบครัว เช่น แส้ปัดยุง หมวกและกระเป๋าถือ เป็นต้น
          พืชชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ต้องการแสงแดดจัด สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  ต้องการปุ๋ยน้อย ต้องการการดูแลการเอาใจใส่มาก  ในระยะเริ่มต้นปลูกที่ยังตั้งตัวไม่ได้เท่านั้น หลังจากอายุประมาณ ๒-๓ ปี ก็เจริญเติบโตเต็มที่สามารถตัดใบมาใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกครั้งหนึ่งนั้นต้นป่านศรนารายณ์จะมีอายุยืนนานสามารถตัดใบไปได้จนกว่ามันจะตาย  ซึ่งมีระยะประมาณ ๘-๑๐ ปี จึงปลูกใหม่ โดยใช้หน่อ(sucker) ที่เกิดจากลำต้นใต้ดิน  (ต้นแม่) ซึ่งนำไปใช้ปลูกต่อไปได้เช่นเดียวกับสับปะรด โดยใช้ระยะระหว่างแถว ประมาณ ๑-๒  เมตร และระหว่างต้น ๕๐-๘๐ เซนติเมตร นอกจากนั้นสามารถใช้ต้นอ่อนที่เกิดที่ช่อดอก ดังกล่าวไว้แล้ว
          การตัดใบป่าน  เป็นงานค่อนข้างยากต้องใช้แรงงานและความชำนาญ นิยมใช้มีดที่มีด้ามไม้กว้าง  ๓  เซนติเมตร  ยาว  ๑๘  เซนติเมตร ตัดใบป่านจรดลำต้น  แล้วตัดหนามแหลมที่ปลายยอด  วิธีแยกเส้นใยที่ทำกันในประเทศไทยสมัยเริ่มแรกนั้น   กระทำโดยวิธีแช่หมักใบป่านให้เน่าเปื่อยเสียก่อน แล้วจึงนำมาทุบให้แหลก แล้วสั่นหรือเขย่าให้เปลือกหลุด   นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ได้มีการพัฒนาแยกเส้นใยเสียใหม่ เรียกว่า วิธีขูดป่านสดซึ่งอาจใช้เครื่องหรือขูดด้วยมือก็ได้ ในการขูดด้วยมือโดยไม่ต้องอาศัยเครื่อง จะขูดได้ประมาณวันละ ๒-๓ กิโลกรัม โดยผ่าใบป่านตามยาวของใบออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ  กว้างประมาณ  ๑-๒ นิ้ว (๒.๕-๕.๐ เซนติเมตร) แล้วจึงนำไปดึงผ่านใบมีดที่ทำด้วยเหล็กหรือไม้ลวกที่มีความคม  ๒ ใบ ที่วางชิดกันพอให้ส่วนหนาของใบป่านผ่านได้ ดึงใบป่านไปตามความยาวของใบผ่านใบมีดนี้หลาย ๆ   ครั้ง  จนกว่าเปลือกจะลอกหมด  ก่อนนำไปทำเครื่องหัตถกรรม นำเส้นใยตากแดดให้แห้งประมาณ ๒ วัน อย่าให้ถูกแดดจัดเกินไป เพราะจะทำให้สีของเส้นใยซีดลง ย้อมสีและผึ่งลมให้แห้ง แยกป่านที่ขูดได้  ๕-๑๐ เส้น   ฟั่นเป็นเกลียวหรือถักเป็นเปียจาก นั้นจึงถักเป็นกระเป๋า เย็บเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ
          ปริมาณหรือน้ำหนักของเส้นใยที่จะได้จากป่านนั้น  จากการทดลองของงานปอและพืชเส้นใย   กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปรากฏว่าน้ำหนักใบป่านสด ๑๐๐ กิโลกรัม จะให้เส้นใย ๒.๕-๓.๐ กิโลกรัม ใบป่านสด ๒๕๐ ใบ จะหนักประมาณ  ๑๐๐ กิโลกรัม ในเนื้อที่ ๑ ไร่ กสิกรอาจผลิตเส้นใยป่านได้ ๖๐-๘๐ กิโลกรัม โดยขายได้กิโลกรัมละ ๑๐-๑๖ บาท ในกรณีใบสดขายตันละประมาณ ๒๐๐ บาท ใน ๑ ไร่ จะได้ใบป่านสดประมาณ ๕ ตันต่อไร่



ป่านศรนารายณ์ (sisal), ป่านศรนารายณ์ (sisal) หมายถึง, ป่านศรนารายณ์ (sisal) คือ, ป่านศรนารายณ์ (sisal) ความหมาย, ป่านศรนารายณ์ (sisal) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu