ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อุบัติเหตุ, อุบัติเหตุ หมายถึง, อุบัติเหตุ คือ, อุบัติเหตุ ความหมาย, อุบัติเหตุ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อุบัติเหตุ

 "อุบัติเหตุ" หมายถึง "เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันคิด" ถือกันว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่คาดฝันมาก่อน คำว่า "อุบัติเหตุ" ตรงกับคำว่า "accident"ในภาษาอังกฤษ ซึ่งทางการแพทย์หมายถึง "เหตุที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดฝัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเนื้อเยื่อ (tissue) และทางเมแทบอลิซึมของร่างกายให้ปรากฏ"

          อุบัติเหตุทำให้เกิดบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และถึงตายได้ แม้บางคนอาจเข้าใจตามความในนิยามข้างต้นว่า  อุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันนั้น เป็นคราวเคราะห์ของผู้ประสบซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในทางตรงกันข้ามอุบัติเหตุย่อมป้องกันได้และหลีกเลี่ยงได้หากไม่ประมาท จึงมีความสำคัญที่เราต้องมาศึกษา เพื่อหาทางป้องกันลดหย่อนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ

การศึกษาอุบัติเหตุ 
          การศึกษาอุบัติเหตุควรศึกษาเช่นเดียวกับโรคทุกชนิดคืออนุโลม "อุบัติเหตุ" ขึ้นเป็นโรคหนึ่งเพื่อเป็นแนวทางสู่การแก้ไขและหลีกเลี่ยง 
          โดยทั่วไป การศึกษาโรคทุกชนิดควรมอง ๓ ด้านด้วยกัน   คือ
                    ๑. ผู้ที่เกิดโรค (host)
                    ๒. สิ่งที่ทำให้เกิดโรค (agent)
                    ๓. สิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การเกิดโรค (environment) 
          อุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับหลัก ๓ ประการ เช่นเดียวกัน คือ
                    ๑. ผู้รับอุบัติเหตุ
                    ๒. สิ่งที่เป็นเหตุ
                    ๓. เวลาและสถานที่เกิดเหตุ
          จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมี ๓ ด้านด้วยกัน เช่น บุคคลบางประเภทดูเหมือนว่าได้รับอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป  ตัวการบางอย่างทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและบ่อย  ตลอดจนสิ่งแวดล้อมบางอย่างบางเวลาก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เป็นต้น

ระบาดวิทยาของอุบัติเหตุ
           ในประเทศไทย จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปีพ.ศ. ๒๔๙๐ อัตราตายของประชากรจากอุบัติเหตุ การเป็นพิษและพลวเหตุ (accidents, poisonings and violence) อยู่ในอันดับที่ ๔รองลงมาตามลำดับจากโรคไข้จับสั่น  โรคท้องร่วง  วัณโรคระบบหายใจ  และโรคปอดอักเสบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ อัตราตายจากอุบัติเหตุ ยังคงเป็นอันดับที่ ๔ รองลงมาจาก โรคท้องร่วง โรคปอดอักเสบ วัณโรคระบบหายใจ  และไข้จับสั่นตามลำดับ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อัตราตายจากอุบัติเหตุ เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ ๓ รองมาจากโรคท้องร่วง และวัณโรคระบบหายใจตามลำดับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา อัตราตายจากอุบัติเหตุ การเป็นพิษ และพลวเหตุกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยทั้งประเทศ  สูงกว่าอัตราตายจากโรคอื่นๆ ทุกประเภทสาเหตุมาจากการแพทย์สาธารณสุขเจริญขึ้น ประชาชนเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน ความก้าวหน้าทางวัตถุและการเพิ่มของประชากร ทำให้อัตราตายจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นและสูงสุดเป็นอันดับที่ ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน

การแบ่งประเภทของอุบัติเหตุ 
          เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ ได้แก่
                    ๑. ตัวการหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ยานยนต์ อาวุธปืน สารพิษ ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม
                    ๒. ผลจากอุบัติเหตุ เช่น บาดแผลของผิวหนังศีรษะหรือสมองบาดเจ็บ กระดูกหัก แผลจากวัตถุระเบิดและกระสุนปืน แผลลวก - ไหม้
                    ๓. สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การจราจร บ้าน โรงเรียน สถานที่ประกอบการ เช่น โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง สนามกีฬา สนามรบ
                    ๔. ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน อุบัติเหตุในเด็ก คนงาน นักกีฬา คนชรา

อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจร
          อุบัติเหตุเนื่องจากการจราจรแบ่งออกเป็น
                    ๑. อุบัติเหตุยานยนต์ในถนนหลวง ซึ่งเป็นอุบัติเหตุการจราจรที่พบมากที่สุด
                    ๒. อุบัติเหตุรถไฟ
                    ๓. อุบัติเหตุในการขนส่งทางน้ำ
                    ๔. อุบัติเหตุในการขนส่งทางอากาศ

          เมื่อเปรียบเทียบกับยานยนต์แล้ว  รถไฟให้ความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารมากกว่ารถยนต์  ทั้งนี้เพราะว่ารถไฟมีระบบทางเดินรถที่แน่นอนของตนเอง และมีการดูแลควบคุมที่ทั่วถึง ในปีหนึ่งๆ ยังมีอุบัติเหตุรถไฟตกรางอยู่บ่อยๆ แต่มักไม่ร้ายแรงมีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายจำนวนน้อย  เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวน่าสะเทือนขวัญของคนทั่วไป  คือ  รถไฟ ๒ ขบวน วิ่งชนกันเกิดการพลิกคว่ำ มีผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายคราวละมากๆ สาเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่าย เช่น พนักงานขับรถหรือพนักงานสับเปลี่ยนรางรถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท พนักงานขับรถไฟด้วยความเร็วเกินอัตราที่กำหนด หรือฝ่าฝืนสัญญาณความปลอดภัย เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังพบอุบัติเหตุรถไฟทับคนบาดเจ็บแขนขาขาดหรือถึงแก่ความตายเป็นครั้งคราว อันมีสาเหตุมาจากคนนอนหลับข้างรถไฟ คนหรือยานยนต์ฝ่าสัญญาณวิ่งตัดหน้าขบวนรถไฟ เหตุการณ์เหล่านี้อาจป้องกันได้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย

อุบัติเหตุ, อุบัติเหตุ หมายถึง, อุบัติเหตุ คือ, อุบัติเหตุ ความหมาย, อุบัติเหตุ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu