ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โครงสร้างของเนื้อไม้, โครงสร้างของเนื้อไม้ หมายถึง, โครงสร้างของเนื้อไม้ คือ, โครงสร้างของเนื้อไม้ ความหมาย, โครงสร้างของเนื้อไม้ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โครงสร้างของเนื้อไม้

          ถ้าตัดไม้พวกไม้สัก หรือไม้สนมาท่อนหนึ่ง มองดูหน้าตัด จะเห็นว่า ที่อยู่รอบ ๆ นอก ซึ่งสามารถแกะให้หลุดล่อนออกไปได้โดยง่ายนั้น คือ ส่วนที่เรียกว่า เปลือก  เปลือกส่วนนอกประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว แต่ตอนใน ๆ ยังมีชีวิต ทำหน้าที่สำคัญ คือ ลำเลียงอาหารที่ปรุง  แล้วจากใบลงมาหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของลำต้น ถัดจากเปลือกเข้าไป เป็นส่วนที่เรียกว่า ไม้  โดยทั่ว ๆ ไป เนื้อไม้ตอนนอก ๆ จะมีสีจางกว่าตอนใน ๆ  และมีไม้หลายชนิดที่ความเข้มจางเช่นว่านี้แบ่งกันชัดเจน  ส่วนที่มีสีจางตอนนอกเรียกว่า  กระพี้ ส่วนที่มีสีเข้มตอนใน เรียกว่า แก่น เนื้อไม้มีหน้าที่ในการส่งน้ำและแร่ธาตุจากพื้นดินขึ้นไปสู่ใบ  กักตุนอาหารหรือสารประกอบอื่น ๆ และทำความแข็งแรงให้กับลำต้น  เมื่อไม้ยังเป็นต้นเล็ก ๆ จะยังไม่มีแก่น เนื้อไม้ทั้งหมดต่างก็ช่วยกันทำหน้าที่ลำเลียงน้ำ  แต่ส่วนที่เป็นแก่นแล้ว  ท่อน้ำถูกอุดตันใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ถ้าหากไม้ส่วนที่เป็นกระพี้ถูกตัดขาดโดยรอบลำต้น ซึ่งเรียกว่า กาน ไม้ต้นนั้นจะตาย  สารที่แทรกอยู่ในไม้ส่วนที่เป็นกระพี้  ได้แก่  สารที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตของพืช คือ แป้ง  น้ำตาล  และโปรตีน  ทำให้ไม้ส่วนนี้ขึ้นราได้ง่ายและมอดชอบกิน ส่วนแก่นนั้น กลับมีสารซึ่งให้โทษแก่ตัวการที่จะทำอันตรายต่าง ๆ จึงทำให้มีความทนทานมากกว่ากระพี้   สำหรับไม้ที่แก่นกับกระพี้แบ่งกันไม่ชัด อาจถือได้ว่าเป็นไม้ไม่มีแก่น และมักจัดเข้าไว้เป็นไม้ ที่เรียกว่าไม้เนื้ออ่อน
          ที่ใกล้ ๆ ใจกลางของหน้าตัด จะมีจุดหยุ่น ๆ อยู่จุดหนึ่ง เรียกว่า ใจ  ใจนี้เกิดขึ้นมาแต่แรกเริ่มที่ไม้งอกงาม เพิ่มพูนขนาดออกไปทางความยาว หรือความสูงของลำต้น
          อนึ่ง   ระหว่างเปลือกและไม้มีแนวเซลล์อยู่โดยรอบต้นแนวหนึ่ง เป็นเซลล์แม่ที่ทำหน้าที่แบ่งตัวออกเป็นไม้บ้าง เปลือกบ้าง การเจริญทางขวางหรือทางส่วนโตของลำต้น  ล้วนแต่เกิดจากการแบ่งตัวของแม่เซลล์ที่กล่าวนี้  การที่มีแนวแม่เซลล์ในลักษณะดังกล่าว ทำให้ไม้ใบแคบหรือใบกว้างแตกต่างกับไม้พวกผักกูด หมาก หรือมะพร้าวอย่างชัดแจ้ง เพราะ ไม้พวกหลังนี้ไม่มีแม่เซลล์รอบ ๆ ลำต้น  มีแต่ตอนยอดซึ่งไม่อาจทำให้มีการพอกพูนทางส่วนโตได้
          การที่ไม้ส่วนใหญ่  เกิดจากการแบ่งตัวของแม่เซลล์รอบๆ ลำต้นนี่เอง จึงทำให้หน้าตัดของซุงมีลักษณะเห็นได้เป็นวงๆ ล้อมรอบใจ  ทั้งนี้จากความแตกต่างของเนื้อไม้ที่เกิดในตอนต้นกับที่เกิดในตอนปลายฤดู วงดังกล่าว  เรียกว่า วงเจริญ หรือ วงปี เพราะตามปกติไม้จะเกิดขึ้นปีละ ๑ วงเท่านั้น 
          ไม้ที่ตัดเป็นท่อนแล้ว    มีสัณฐานเหมือนรูปทรงกระบอกหรือกรวยตัด การที่ไม้มีลักษณะเช่นนี้  ทำให้เราสามารถยืมคำที่เกี่ยวกับวงกลมมาใช้ได้ ๒ คำ  คือ คำว่า "รัศมี" และ "สัมผัส" ใจไม้นั้นอาจเทียบได้กับจุดศูนย์กลางของวงกลมแนวเส้นที่ลากจากใจหรือจุดศูนย์กลางไปสู่เปลือกหรือวงปีแต่ละวง  เรียกว่า  รัศมี ถ้าเราผ่าไม้ตามแนวยาวของลำต้น หรือผ่าตามเสี้ยนไปตามแนวนี้ จะได้ด้านที่เรียกว่า ด้านรัศมี การผ่าตามแนวยาวของลำต้นที่ตั้งฉากกับแนวรัศมี ได้ด้านที่เรียกว่า ด้านสัมผัส เพื่อใช้ร่วมกับ "ด้านรัศมี" และ "ด้านสัมผัส" เขากำหนดให้เรียกด้านที่เกิดจากการตัดทอนไม้ได้แนวตั้งฉากกับลำต้นว่า   "ด้านตัดขวาง"
          การแบ่งเรียกด้านทั้งสามให้แตกต่างกันดังกล่าว  ไม่เฉพาะเพื่อให้มีความถูกต้องตามหลักเรขาคณิตเท่านั้น  รูปร่างลักษณะและการเรียงตัวของเซลล์ต่างๆ  ในเนื้อไม้ยังแตกต่างกันไปด้วย
          ได้กล่าวมาแล้วว่า  ไม้มีหน้าที่รับใช้ให้ลำต้นมีชีวิตอยู่ได้ ๓ ประการ คือ ลำเลียงน้ำ ค้ำจุนลำต้น และเก็บสะสมอาหารและวัตถุธาตุอย่างอื่น หน้าที่ดังกล่าวนี้ เซลล์ซึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน  ๓  พวก แบ่งหน้าที่กันไปทำเซลล์ลำเลียง  ปกติมีขนาดใหญ่และผนังบาง เซลล์ค้ำจุนมีหัวแหลมท้ายแหลม ผนังหนา  ความหนาบางของผนังเซลล์พวกนี้มีส่วนสัมพันธ์กับน้ำหนักและความแข็งแรงของไม้ชนิดต่างๆ  อยู่มาก และถือว่าเป็นเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำเยื่อกระดาษ  ส่วนเซลล์สะสม  มี ๒ แบบ คือ เซลล์  รูปหัวแหลมท้ายแหลม  เหมือนเซลล์ค้ำจุน แต่ผนังบาง และมักมีผนังแบ่งช่องเซลล์เป็นช่องๆ เรียงตัวไปตามแนวเดียวกับเซลล์ลำเลียงและเซลล์ค้ำจุนแบบหนึ่ง และที่ทอดไปตามแนวตั้งฉากกับลำต้น จากใจไปสู่เปลือก มีผนังบาง รูปสี่เหลี่ยมคล้ายอิฐเรียงเป็นชั้นๆ  ต่อเนื่องกันไปอีกแบบหนึ่ง ไม้ใบแคบบางชนิด มีเซลล์ค้ำจุนตามแนวเดียวกันนี้ด้วย เซลล์ทุกชนิดที่เรียงตัวไปตามแนวยาวของต้นไม้รวมเรียกว่า เซลล์ตามยาว  ซึ่งบางทีก็ เรียกว่า เสี้ยน และที่เรียงไปตามแนวรัศมี  เรียกว่า เซลล์รัศมี
          ไม้ต่างชนิดกัน จะมีรูปร่างลักษณะ ขนาด และการเรียงตัวของเซลล์พวกต่างๆ แตกต่างกันไป และเป็นแบบเฉพาะตัว ทำให้สามารถรู้จักชนิดไม้ได้จากการดูเนื้อไม้โดยตรง  ไม่จำเป็นต้องได้เห็นต้น ใบ ดอก และผลก่อนเสมอไป  นอกจากนั้น  ลักษณะที่เห็นได้ง่ายๆ  เช่น  กระพี้  แก่น วงปี ตลอดจนสี กลิ่น รส มีส่วนช่วยในการตรวจจำแนกชนิดไม้ได้มาก

โครงสร้างของเนื้อไม้, โครงสร้างของเนื้อไม้ หมายถึง, โครงสร้างของเนื้อไม้ คือ, โครงสร้างของเนื้อไม้ ความหมาย, โครงสร้างของเนื้อไม้ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu