
กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายนพ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นบริการเทเลกซ์ระหว่างประเทศ ติดต่อตรงกับประเทศญี่ปุ่นด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง และผ่านประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆได้อีก๑๒ ประเทศ คือ ไต้หวัน แคนาดา สหรัฐอเมริกา เปรูอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก เบลเยียมเนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เครื่องโทรพิมพ์แต่ละเครื่องจะป้อนสัญญาณเข้าเครื่องแบ่งช่องสัญญาณ และเครื่องแก้คำผิดโดยอัตโนมัติ ก่อนที่จะไปเข้าเครื่องส่งวิทยุระบบนี้ต้องใช้พนักงานเป็นผู้ต่อสายให้ (manual)
ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์ ภายในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อให้ผู้เช่าสามารถติดต่อส่งข่าวสารกับผู้เช่าเครื่องโทรพิมพ์อื่นๆ ที่อยู่ในข่ายชุมสายเทเลกซ์เดียวกันได้เอง ต่อมาได้เปิดชุมสายเทเลกซ์ในต่างจังหวัด คือ ที่หาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา)ลำปาง และนครราชสีมา และได้เปิดชุมสายเทเลกซ์สาขาขึ้นที่นครสวรรค์ เชียงใหม่ และสระบุรีอีกด้วย ผู้เช่าใช้เครื่องเทเลกซ์ทุกข่ายสายเทเลกซ์ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สามารถติดต่อส่งข่าวสารไปได้ทั้งภายในประเทศและไปต่างประเทศ
อนึ่ง ในการติดต่อทางบริการเทเลกซ์กับต่างประเทศในระยะเริ่มแรก ผู้ใช้บริการจะต้องจองการใช้บริการเทเลกซ์มายังศูนย์ควบคุมการติดต่อเพื่อให้พนักงานเทเลกซ์ที่ศูนย์ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศให้ นับว่าขาดความสะดวกและไม่รวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ติดตั้งเครื่องชุมสายเทเลกซ์ต่างประเทศ แบบอัตโนมัติสมบูรณ์(fully automatic) ซึ่งผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศสามารถหมุนหมายเลขเรียกติดต่อกับต่างประเทศด้วยตนเองได้โดยตรงไม่ต้องให้พนักงานประจำศูนย์เป็นผู้เชื่อมโยงสายให้ดังแต่ก่อนนอกจากนั้น ชุมสายเทเลกซ์แบบอัตโนมัติสมบูรณ์ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศต่างๆแต่ละประเทศ ได้ติดต่อถึงกันได้โดยผ่านชุมสายเทเลกซ์อัตโนมัติสมบูรณ์นี้อีกด้วย