กิจการโทรเลขในประเทศไทย
กิจการโทรเลขในประเทศไทย, กิจการโทรเลขในประเทศไทย หมายถึง, กิจการโทรเลขในประเทศไทย คือ, กิจการโทรเลขในประเทศไทย ความหมาย, กิจการโทรเลขในประเทศไทย คืออะไร
เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๒ รัฐบาลสมัยพระ-บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้อนุมัติให้ชาวอังกฤษ ๒ นาย จัดตั้งบริษัทก่อสร้าง และบำรุงรักษาทางสายโทรเลขภายในราชอาณาจักรตามคำเสนอขอแต่การดำเนินงานของบุคคลทั้งสองล้มเหลว
ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการเองโดยมอบหมายให้กรมกลาโหมสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ (จังหวัดสมุทรปราการ) และวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปถึงกระโจมไฟ นอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางยาว ๔๕ กิโลเมตรเพื่อให้ทางราชการใช้ส่งข่าวเกี่ยวกับการผ่านเข้าออกของเรือกลไฟ
พ.ศ. ๒๔๒๑ กรมกลาโหมได้สร้างทางสายโทรเลขสายที่ ๒ จากกรุงเทพฯ ถึงพระราชวังบางปะอิน และภายหลังได้ขยายทางสายออกไปถึงกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)เพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการเช่นกัน
ใน พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นรับช่วงงานโทรเลขจากกรมกลาโหมมาทำต่อไปได้เริ่มสร้างทางสายใช้ลวดเหล็กอาบสังกะสีเป็นสายแรกจากกรุงเทพฯ ผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรี-โสภณ ไปถึงคลองกำปงปลัก ในจังหวัดพระตะบอง (ในสมัยนั้นยังเป็นของไทย) และเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีนไปถึงเมืองไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศได้เปิดให้สาธารณชนใช้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ และในปีเดียวกันนั้นก็ได้มีประกาศเป็นทางการให้สาธารณชนทั่วไปใช้โทรเลขสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ-อยุธยา ได้ด้วย
กรมโทรเลขได้สร้างทางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่านกาญจนบุรีไปถึงชายแดนติดต่อกับเมืองทวายในประเทศพม่าและเชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษไปยังเมืองมะละแหม่งเปิดใช้งานเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ (ภายหลังได้เลิกใช้เนื่องจากการบำรุงรักษาไม่สะดวก เพราะทางสายผ่านป่าดงทึบและห้วยเขาคงให้เหลือไว้เพียงแค่จังหวัดกาญจนบุรี)
พ.ศ. ๒๔๔๐ กรมโทรเลขได้สร้างทางสายจากกรุงเทพฯไปแม่สอดจังหวัดตาก ไปต่อกับทางสายโทรเลขของอังกฤษไปเมืองมะละแหม่ง และย่างกุ้ง
ทางภาคใต้ ได้สร้างทางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่านเพชรบุรี ชุมพร ทุ่งสง ไปหาดใหญ่ และสงขลา ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๔๑ ได้สร้างทางสายต่อจากสงขลาออกไปถึงไทรบุรี(เดิมเป็นของไทย ปัจจุบันเป็นรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย)และกัวลามุดา เชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษ ไปยังปีนังและสิงคโปร์
ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ทางราชการได้รวมกรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคมพ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลขมีที่ทำการอยู่ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ในปัจจุบัน)
เมื่อครั้งจัดตั้งกรมโทรเลขขึ้นนั้น ทางราชการไม่สามารถจัดหาตัวบุคคล ผู้มีความรู้ความสามารถเข้าประจำตำแหน่งงานเพราะต้องใช้ความรอบรู้ในวิชาการความชำนาญงาน และต้องติดต่อประสานงานกับต่างประเทศอีกด้วย จึงจำเป็นต้องจ้างชาวยุโรปมารับราชการ เป็นเลขานุการช่างกล สารวัตรตรวจการ พนักงานรับส่งสัญญาณโทรเลข ฯลฯ การรับส่งโทรเลขก็ต้องใช้รหัสสัญญาณมอร์สสากลอักษรโรมัน ดังนั้น ข้อความโทรเลขที่จะส่งไปมาถึงกันได้ จึงต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษหากประสงค์จะส่งข้อความเป็นภาษาไทย ก็ต้องเขียนภาษา-ไทยด้วยอักษรโรมัน เช่น จะส่งข้อความว่า "ฉันไปไม่ได้"ก็ต้องเขียนเป็น "CHAN PAI MAI DAI" ทำให้อ่านเข้าใจยาก เพราะคำ MAIอาจอ่านเป็น "ไม ไม่ ไม้ ไหม ใหม่ ใหม้ หรือ หม้าย" ก็ได้
ด้วยความจำเป็นที่ทางราชการทหารกับกรมรถไฟจะต้องใช้สัญญาณโทรเลขแบบเดียวกัน และกรมไปรษณีย์โทรเลขก็มีความจำเป็นจะต้องใช้รหัสสัญญาณโทรเลขภาษาไทย ในการรับส่งโทรเลขของประชาชนภายในประเทศ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายกระทรวงกลาโหม ฝ่ายกรมรถไฟและฝ่ายกรมไปรษณีย์โทรเลข พิจารณาจัดทำรหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สภาษาไทยขึ้นได้ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)
การจัดทำรหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สภาษาไทยนี้ มิได้กำหนดรหัสสัญญาณประจำทุกตัวพยัญชนะ และสระ หากพยัญชนะ หรือสระตัวใดมีเสียงอ่านเหมือนกัน หรือคล้ายกันก็กำหนดให้ใช้รหัสสัญญาณเหมือนกัน
รหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สภาษาไทยนี้ ใช้งานได้สะดวกตลอดมาเป็นเวลานานถึง ๒๔ ปี จึงได้มีการเพิ่มรหัสสัญญาณ"ไม้ยมก (ๆ)" ขึ้นอีกตัวหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๙ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายนพ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นบริการเทเลกซ์ระหว่างประเทศ ติดต่อตรงกับประเทศญี่ปุ่นด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง และผ่านประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆได้อีก๑๒ ประเทศ คือ ไต้หวัน แคนาดา สหรัฐอเมริกา เปรูอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก เบลเยียมเนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เครื่องโทรพิมพ์แต่ละเครื่องจะป้อนสัญญาณเข้าเครื่องแบ่งช่องสัญญาณ และเครื่องแก้คำผิดโดยอัตโนมัติ ก่อนที่จะไปเข้าเครื่องส่งวิทยุระบบนี้ต้องใช้พนักงานเป็นผู้ต่อสายให้ (manual)
ในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดให้ใช้บริการเทเลกซ์ ภายในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อให้ผู้เช่าสามารถติดต่อส่งข่าวสารกับผู้เช่าเครื่องโทรพิมพ์อื่นๆ ที่อยู่ในข่ายชุมสายเทเลกซ์เดียวกันได้เอง ต่อมาได้เปิดชุมสายเทเลกซ์ในต่างจังหวัด คือ ที่หาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา)ลำปาง และนครราชสีมา และได้เปิดชุมสายเทเลกซ์สาขาขึ้นที่นครสวรรค์ เชียงใหม่ และสระบุรีอีกด้วย ผู้เช่าใช้เครื่องเทเลกซ์ทุกข่ายสายเทเลกซ์ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สามารถติดต่อส่งข่าวสารไปได้ทั้งภายในประเทศและไปต่างประเทศ
อนึ่ง ในการติดต่อทางบริการเทเลกซ์กับต่างประเทศในระยะเริ่มแรก ผู้ใช้บริการจะต้องจองการใช้บริการเทเลกซ์มายังศูนย์ควบคุมการติดต่อเพื่อให้พนักงานเทเลกซ์ที่ศูนย์ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศให้ นับว่าขาดความสะดวกและไม่รวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ติดตั้งเครื่องชุมสายเทเลกซ์ต่างประเทศ แบบอัตโนมัติสมบูรณ์(fully automatic) ซึ่งผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศสามารถหมุนหมายเลขเรียกติดต่อกับต่างประเทศด้วยตนเองได้โดยตรงไม่ต้องให้พนักงานประจำศูนย์เป็นผู้เชื่อมโยงสายให้ดังแต่ก่อนนอกจากนั้น ชุมสายเทเลกซ์แบบอัตโนมัติสมบูรณ์ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงให้ผู้ใช้บริการเทเลกซ์ในประเทศต่างๆแต่ละประเทศ ได้ติดต่อถึงกันได้โดยผ่านชุมสายเทเลกซ์อัตโนมัติสมบูรณ์นี้อีกด้วย
กิจการโทรเลขในประเทศไทย, กิจการโทรเลขในประเทศไทย หมายถึง, กิจการโทรเลขในประเทศไทย คือ, กิจการโทรเลขในประเทศไทย ความหมาย, กิจการโทรเลขในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!