ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ หมายถึง, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ คือ, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ ความหมาย, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ


          ก๊าซที่เราใช้เป็นเชื้อเพลิงกันอยู่ในปัจจุบันนี้  ได้มาจากการแยกส่วนน้ำมันต่างชนิดออกจากน้ำมันดิบ  โดยกระบวนการต้มกลั่น   น้ำมันดิบนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า น้ำมันปิโตรเลียม   ปกติน้ำมันปิโตรเลียมมีลักษณะเป็นของเหลวที่ข้นทึบ มีสีค่อนข้างดำแต่บางครั้งอาจมีสีอ่อนและข้นน้อยกว่า

          การแยกส่วนประกอบน้ำมันดิบออกจากกัน ทำโดยใช้ความร้อน  ทำให้น้ำมันดิบกลายเป็นไอ  เมื่อไอระเหยเย็นลงก็จะกลับเป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่างๆ  เนื่องด้วยส่วนประกอบของน้ำมันดิบมีจุดเดือดต่างกัน   ดังนั้น การกลั่นน้ำมัน โดยวิธีเพิ่มอุณหภูมิจึงสามารถแยกส่วนประกอบของน้ำมันออกจากกันได้

          เตาสำหรับต้มกลั่นประกอบด้วยถังเหล็กบรรจุน้ำมันดิบเมื่อน้ำมันดิบได้รับความร้อน ส่วนประกอบของน้ำมันดิบจะเดือด และระเหยเป็นไอก่อนหลังเป็นลำดับ กล่าวคือ ก๊าซและน้ำมันแกโซลีนจะระเหยออกมาก่อน  เมื่อน้ำมันดิบได้รับความร้อนและอุณหภูมิสูงมากขึ้น   ส่วนประกอบที่เรียกว่าน้ำมันก๊าด(kerosene) ก็จะระเหยออกมา  เมื่อไอระเหยเย็นลงจะได้น้ำ-มันก๊าด เมื่อเตายิ่งร้อนแรงขึ้น  ส่วนประกอบอื่นๆของน้ำมันดิบก็จะแยกออกไป ส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันข้นใช้หล่อลื่นเครื่องจักรอีกส่วนหนึ่งกลายเป็นน้ำมันประเภทจาระบี (grease) หรือน้ำมันไขสำหรับใช้อัดฉีดล้อรถ  และส่วนที่มีการเคลื่อนที่ของเครื่องจักรในขั้นสุดท้ายก็จะเหลือกากเหนียวสีดำอยู่ในหม้อกลั่นกากนี้เรียกว่า ยางมะตอย หรือยางแอสฟัลต์

          ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันที่ทันสมัยประกอบด้วยถังมหึมา และหอสูงจำนวนมากเชื่อมถึงกันโดยท่อเหล็กที่มีความยาวและขนาดต่างๆ  โรงกลั่นนี้จะให้ความร้อนแก่น้ำมันดิบได้อย่างเต็มที่  และยังนิยมใช้ความดันสูง และใช้สารเคมีภัณฑ์หลายชนิดในการกลั่น และทำให้ไอระเหยเย็นตัวลง

          วิธีการที่ทันสมัยในปัจจุบันซึ่งใช้ในการกลั่นน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันชนิดต่างๆนั้นใช้เตาแยกส่วนน้ำมัน ซึ่งเป็นเตาเหล็กรูปทรงกระบอก  เตาบางเตามีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง  ๔  เมตรและสูงถึง ๓๐ เมตร ภายในเตามีถาดเป็นรูปแผ่นเหล็กวางเป็นขั้นตามแนวนอนอยู่ตามระดับต่างๆ กัน  ตั้งแต่ใกล้ส่วนบนสุดของเตามาจนถึงส่วนล่าง  ชั้นต่างๆนี้มีรูเจาะไว้เพื่อให้ไอน้ำมันสามารถลอยสูงขึ้นไปจนถึงยอดเตาได้    ภายในเตาแยกส่วนน้ำมันดิบ (fractionhationg tower) นี้ได้รับความร้อนไม่เท่ากัน  ส่วนล่างสุดของเตาจะร้อนจัดและจะร้อนน้อยลงตามระดับที่สูงขึ้นใกล้กับส่วนนบนของเตา

          เมื่อสูบน้ำมันดิบไปยังตอนล่างของเตาแยกส่วนน้ำมันส่วนประกอบต่างๆ ในน้ำมันดิบจะเดือด และจะระเหยเป็นไอผ่านรูของถาดจากชั้นล่างๆ ขึ้นไปยังเตาชั้นบน  เมื่อไอเหล่านี้ลอยสูงขึ้นจนถึงระดับที่อุณหภูมิภายในเตาแยกส่วนอยู่ต่ำกว่าจุดเดือดของส่วนประกอบชนิดใดชนิดหนึ่ง  ส่วนประกอบชนิดนั้นก็จะกลั่นตัว หรือบางทีก็เรียกว่า ควบแน่นเป็นของเหลวตกอยู่ในถาด   ไอที่เกิดจากของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำกว่าอุณหภูมิของชั้นล่างก็ยังคงลอยสูงขึ้นไป  และจะไปกลั่นตัวเป็นของเหลวในชั้นบนๆ

          รูของถาดต่างๆซึ่งวางตามแนวนอนในเตามีลักษณะดังในภาพ

          ฝาครอบจะบังคับให้ไอน้ำมันต้องลอดผ่านของเหลวที่กลั่นตัวอยู่ตามชั้นต่างๆ  และจะช่วยให้ไอน้ำมันกลั่นตัวในชั้นดังกล่าวมากขึ้น  ในกรณีที่เกิดการกลั่นตัวมากในชั้นใดชั้นหนึ่งของเหลวที่เกิดก็จะหกล้นจากถาดบนลงไปยังถาดล่าง  และแล้วก็จะถูกเผากลายเป็นไอลอยขึ้นชั้นบนๆ เพื่อไปกลั่นตัวซ้ำใหม่อีก

          โดยวิธีการดังกล่าวนี้  ส่วนประกอบต่างๆ ของน้ำมันดิบก็จะแยกตัวออกจากน้ำมันดิบเดือดเป็นไอ  และไอนี้จะกลั่นตัวอยู่ตามถาดของชั้นต่างๆภายในเตาแยกส่วนน้ำมัน    น้ำมันต่างๆที่กลั่นตัวนี้จะไหลไปตามท่อ ซึ่งติดตั้งไว้คอยรับน้ำมันที่กลั่นได้ตามชั้นต่างๆ ไอที่ลอยสูงขึ้นไปจนใกล้ยอดบนของเตา  เราเรียกว่า  ไอของส่วนประกอบชนิดเบา  ส่วนไอที่กลั่นตัวเป็นของเหลวอยู่ในถาดตอนล่างๆของเตาเป็นส่วนประกอบชนิดหนัก    ส่วนประกอบที่เบาที่สุดซึ่งออกมาจากยอดสุดของเตา  ได้แก่  ก๊าซที่เรานำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม   โดยอัดใส่ถังด้วยความดันสูง ก๊าซที่เกิดขึ้นนี้อาจจะนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเผาเตาที่ใช้แยกส่วนน้ำมันดิบเองก็ได้

          ก๊าซที่ใช้ตามบ้านนั้น    จะถูกบรรจุไว้ในถังเหล็กรูปทรงกระบอกด้วยความดันสูง   ถังเหล็กมีหลายขนาด   แต่ที่ใช้ตามบ้านพักอาศัยมักจะเป็นถังขนาดกลาง บรรจุก๊าซคิดเป็นน้ำหนัก๑๔ กิโลกรัม สำหรับการใช้ก๊าซจากถังดังกล่าว  ผู้ใช้จะต้องต่อท่อทองแดง ท่อยาง หรือท่อพลาสติกจากถังไปยังหัวเตาก๊าซที่หัวถังจะมีปุ่มพลิกสำหรับเปิดปิดก๊าซในถังให้ออกไปตามท่อทองแดง นอกจากนั้น ที่หัวเตาก๊าซยังมีปุ่มปิดเปิดใช้บังคับการไหลของก๊าซได้อีกชั้นหนึ่ง เวลาจะติดเตา ผู้ใช้อาจจุดไม้ขีดไฟแล้วยื่นไปรอไว้ที่หัวเตา ในขณะเดียวกันก็รีบเปิดปุ่มที่หัวเตาให้ก๊าซได้พุ่งออกไปพบกับไฟที่จุดรอไว้  ก๊าซก็จะลุกติดไฟให้เปลวไฟสีน้ำเงินและให้ความร้อนออกมา เตาบางชนิดมีเครื่องจุดไฟในตัว  เมื่อเปิดปุ่มบังคับของหัวเตาใด   ไฟก็จะลุกติดที่หัวเตานั้นได้เอง  เมื่อต้องการจะเลิกใช้ก็หมุนปุ่มบังคับไปยังตำแหน่งปิด  ก๊าซก็จะหยุดไหลมายังหัวเตาและไฟที่เตาก็จะดับทันที

          การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงนี้ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ยิ่งกว่าเตาถ่านมาก ผู้ที่จะติดเตาไม่ต้องไปหาเศษฟืน ขี้ไต้ สำหรับจุดนำการติดไฟของถ่าน ในขณะที่ก๊าซติดไฟก็ไม่เกิดควันหรือเขม่ามากมายเหมือนเตาถ่าน    ห้องครัวซึ่งใช้ปรุงอาหารก็จะรักษาให้สะอาดได้ง่าย  เพราะไม่มีเศษเถ้าถ่าน เขม่าจับติดผนังหรือตกลงที่พื้นในห้องครัว

          ในต่างประเทศบางแห่งก็มีการสร้างโรงผลิตก๊าซโรงใหญ่   เป็นศูนย์กลางแล้วต่อท่อขนาดต่างๆ จากโรงผลิตไปยังอาคารบ้านเรือน เช่นเดียวกับการวางท่อประปาจากโรงสูบน้ำไปยังบ้านพักอาศัย บ้านที่มีท่อก๊าซต่อไปถึงจะต้องติดตั้งมาตรวัดก๊าซ (gas   meter)  สำหรับวัดอัตราการใช้ก๊าซของบ้านหลังนั้นทำนองเดียวกับการวัดอัตราการใช้น้ำประปา


กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ หมายถึง, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ คือ, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ ความหมาย, กรรมวิธีที่ใช้แยกก๊าซออกจากน้ำมันดิบ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu