ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ฝาย, ฝาย หมายถึง, ฝาย คือ, ฝาย ความหมาย, ฝาย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ฝาย


          เป็นอาคารที่สร้างขวางทางน้ำเพื่อทำหน้าที่ทดน้ำ และให้น้ำไหลล้นข้ามไปบนสันของอาคารได้  เมื่อเราสร้างฝายที่ลำน้ำซึ่งจะใช้เป็นต้นน้ำของโครงการชลประทาน   ฝายจะทำหน้าที่เป็นอาคารทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำประเภทหนึ่ง สำหรับทดน้ำที่ไหลมาตามลำน้ำให้มีระดับสูง จนน้ำสามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก   ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามสันฝายไป ฝายทุกแห่งจึงจำเป็นต้องสร้างให้มีความสูงมากพอ   สำหรับทดน้ำให้เข้าคลองส่งน้ำได้   และจะต้องมีความยาวมากพอที่จะให้น้ำที่ไหลมาในฤดูน้ำ   ไหลล้นข้ามฝายไปได้อย่างปลอดภัย  โดยไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมตลิ่งสองฝั่งลำน้ำที่บริเวณด้านเหนือฝายมากเกินไปด้วย โดยทั่วไปแล้ว  ฝายจะเป็นอาคารที่มีขนาดความสูงไม่มากนัก และมีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู

          ฝายที่สร้างขึ้นในแต่ละท้องที่อาจมีความมั่นคงแข็งแรงและมีอายุการใช้งานได้นานมากน้อยต่างกัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งความถูกต้องของการออกแบบและการก่อสร้างเป็นสำคัญ   ตัวอย่างเช่น ฝายที่ราษฎรช่วยกันสร้างในภาคเหนือ บางแห่งอาจจะมีอายุของการใช้งานได้ไม่นานนักเพราะใช้วัสดุซึ่งมีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่เช่น  กิ่งไม้ ใบไม้ ไม้ไผ่ เสาไม้ ทราย และกรวด เป็นต้นฝายดังกล่าวจึงมีลักษณะไม่คงทนถาวรมากนัก และนอกจากนี้การก่อสร้างอาจไม่ประณีต   เพราะต้องการสร้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อจะใช้งานได้ทันที

          วิธีการก่อสร้างฝายของราษฎรที่ทำกันโดยทั่วไป  ได้แก่การตอกเสาไม้ให้ห่างกันเป็นระยะๆขวางลำน้ำ ให้ได้หลายแถวตามที่ต้องการ   และนำไม้เคร่ามาตอกติดกับเสา  แล้วกรุด้วยไม้ไผ่ติดกับเคร่า พร้อมกับอัดกิ่งไม้ใบ ไม้และกรวดทรายลงไปในคอกให้เต็ม เมื่อใช้งานไปชั่วระยะหนึ่ง ใบไม้และกิ่งไม้จะเน่าเปื่อย ทำให้ฝ่ายชำรุดเสียหายได้  ซึ่งต้องคอยเปลี่ยนกิ่งไม้ใบไม้ในคอกเสียใหม่เป็นประจำเช่นนี้ทุกปี    ฝายประเภทนี้เรียกว่า"ฝายเฉพาะฤดูกาล"   หากต้องการให้ฝายดังกล่าวใช้งานได้นานขึ้น ก็ต้องสร้างให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก  โดยอาจนำกิ่งไม้และใบไม้มามัดรวมกันเป็นฟ่อนทิ้งอัดลงไปเป็นชั้นๆ  แต่ละชั้นอัดด้วยทรายด้วยทรายและกรวดแทรกลงไปในช่องว่างให้แน่น   ถ้าหมั่นคอยดูแลซ่อมแซมวัสดุที่ชำรุดเสียหายและที่หลุดลอยตามน้ำไปให้อยู่ในสภาพดีเสมอ  ฝายประเภทนี้จะมีอายุของการใช้งานได้นานหลายปีเรียกว่า "ฝายชั่วคราว"

          ในการสร้างฝายให้มีอายุของการใช้งานได้นานยิ่งขึ้นไปอีก  ก็อาจใช้วัสดุก่อสร้างอันประกอบด้วย เสาไม้ขนาดใหญ่ทราย กรวด และหินขนาดต่างๆ  มีฝายลักษณะหนึ่งที่แต่ก่อนนิยมสร้างกัน คือ จะวางเสาไม้ต่อกันยาวตามลำน้ำ ให้เป็นแถวๆตลอดความกว้างของลำน้ำ แล้วสลับกับวางตามขวางของลำน้ำทำให้เป็นคอกสูงลดหลั่นกันเป็นรูปฝายตามที่ต้องการ  หลังจากนั้นจึงทิ้งหินขนาดต่างๆ  พร้อมทั้งกรวดและทรายลงไปในคอกจนเต็ม   หิน กรวด และทรายจะต้านทานน้ำที่ไหลผ่านตัวฝายและน้ำที่ไหลล้นข้ามสันฝายได้เป็นอย่างดี  ทำให้ฝายแบบนี้มีความแข็งแรงและมั่นคงถาวรมากยิ่งขึ้น  จึงสามารถใช้งานได้นานฝายชนิดนี้คือ "ฝายคอกหมู" ซึ่งเป็นฝายประเภทกึ่งถาวร

          เมื่อต้องการสร้างฝายให้มั่นคงแข็งแรงและใช้งานได้ตลอดไป ก็จะต้องใช้วัสดุที่มีความคงทนถาวรเป็นหลัก ได้แก่หิน ซีเมนต์ คอนกรีตล้วน  และคอนกรีตเสริมเหล็ก  เป็นต้นโดยจะต้องคำนวณออกแบบ  กำหนดส่วนสัดของฝายให้เหมาะ-สมกับสภาพภูมิประเทศ ให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่จะมีมามากที่สุดในลำน้ำ ให้ไหลล้นข้ามไปได้โดยปลอดภัย  และจะต้องทำการก่อสร้างให้ถูกวิธีและประณีตด้วย

          การออกแบบฝายลักษณะถาวรที่สำคัญ  จะต้องกำหนดให้ฝายมีขนาดความยาวมากพอที่จะระบายน้ำให้ล้นข้ามไปได้ โดยระดับน้ำด้านหน้าฝาย   ไม่ล้นสูงกว่าขอบตลิ่งมากจนทำให้น้ำไหลอ้อมมากัดเซาะปลายฝายที่บริเวณตลิ่งทั้งสองข้าง  หรือทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกที่บริเวณด้านหน้าฝายจนได้รับความเสียหาย   นอกจากนี้ การออกแบบตัวฝายก็จะต้องกำหนดให้มีขนาดรูปร่าง  และน้ำหนักที่จะต้านแรงดันของน้ำที่กระทำกับตัวฝายได้ในทุกกรณี   อีกทั้งการออกแบบเกี่ยวกับฐานราก ซึ่งมีขนาดความยาวและความหนาของพื้นฝาย  จะต้องมีความพอเหมาะพอดีกับลักษณะดินฐานราก  จนฝายที่ก่อสร้างนั้นสามารถตั้งอยู่และระบายน้ำให้ไหลล้นข้ามไปได้อย่างปลอดภัยเสมอ

          เมื่อน้ำไหลล้นข้ามสันฝาย  ปริมาณน้ำที่ไหลล้นข้ามสันฝาย  ความยาวของสันฝาย และความสูงของน้ำด้านหน้าฝายเหนือสันฝาย จะมีความสัมพันธ์กันตามสูตรดังนี้
          Q  =  CLH๓/๒
          เมื่อ Q  =  ปริมาณน้ำที่ไหลล้นข้ามสันฝาย เป็นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที
          C  =  สัมประสิทธิ์ของการไหลของน้ำล้นข้ามสันฝาย ซึ่งจะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามความสูงของฝาย  รูปร่างของสันฝายตลอดจนระดับน้ำด้านท้ายฝายขณะที่น้ำล้นข้ามนั้นจะสูงกว่าระดับสันฝายเพียงไรหรือไม่
          L  =  ความยาวของสันฝาย เป็นเมตรหรือฟุต
          H  =  ความสูงของน้ำด้านหน้าฝายเหนือสันฝายเป็นเมตรหรือฟุต

          วิธีการคำนวณโดยใช้สูตรข้างต้นจะไม่กล่าวในที่นี้    แต่ผู้สนใจจะสามารถศึกษาค้นคว้าได้ในหนังสือชลศาสตร์ทั่วไป

ฝาย, ฝาย หมายถึง, ฝาย คือ, ฝาย ความหมาย, ฝาย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu