ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน หมายถึง, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน คือ, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน ความหมาย, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน

          ลักษณะพื้นท้องทะเลที่เป็นพื้นดินเลนที่อ่อนนุ่มหรือพื้นหินแข็งเป็นแนวปะการัง และขนาดของดินตะกอน จัดเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งสำหรับสัตว์ทะเลหน้าดิน โดยเฉพาะความ สำคัญในแง่ปริมาณอาหาร ปริมาณออกซิเจนและการซึมของน้ำในดิน พบว่าปริมาณอินทรียสารจะสูงในบริเวณที่เป็นดินโคลนและทรายละเอียดสัตว์ทะเลแต่ละชนิดจะเลือกอยู่ในบริเวณที่มีขนาดของดินตะกอนที่พอเหมาะ เช่น บริเวณหาดทรายนั้นสัตว์มักจะเลือกอยู่บริเวณทรายละเอียดประมาณ ๐.๑๕-๐.๒๖ มิลลิเมตร และเป็นทรายที่มีขนาดเม็ดทรายใกล้เคียงกัน ความร่วนซุยของดินทรายก็มีความสำคัญสำหรับสัตว์ทะเลหน้าดิน  ถ้าดินทรายละเอียดเกินไปจะจับตัวกันแน่นมากยากแก่การฝังตัวของสัตว์ทะเลหน้าดิน
          หอยนางรม เพรียงหิน ปะการัง และหอยแมลงภู่ จัดเป็นพวกสัตว์ทะเลหน้าดินที่เกาะติดกับที่ โดยที่สัตว์สามชนิดแรกมีส่วนที่ช่วยยึดตัวมันติดกับพื้น  เป็นสารพวกหินปูน ส่วนหอยแมลงภู่อาศัยเส้นใยเหนียวที่เรียกว่า เกสรหอย ช่วยยึดตัวมันกับพื้น หอยฝาชีหรือหอยหมวกเจ๊กที่พบอยู่ตอนบนของหาดหิน ก็สามารถยึดตัวมันเองให้แน่นกับก้อนหินโดยใช้ส่วนเท้าที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงของมัน นอกจากนี้มันยังปล่อยเมือกเหนียวออกมาช่วยยึดตัวมันเองด้วย  ลิ่นทะเลและหอยเป๋าฮื้อก็เช่นเดียวกัน ที่ใช้ส่วนเท้าที่แข็งแรงยึดตัวมันเองกับพื้นหิน สัตว์ทะเลหน้าดินหลายชนิดจะยึดเกาะกับพื้นบางช่วงขณะ และจะคืบคลานหากินไปตามพื้น เช่น พวกหอยหมวกเจ๊กลิ่นทะเล และหอยเป๋าฮื้อ  นอกจากนี้พวกดอกไม้ทะเลก็จะมีส่วนปลายสุดของลำตัวที่แผ่ออกใช้ยึดเกาะกับพื้น มันสามารถขยับตัวเคลื่อนย้ายไปมาได้เช่นเดียวกับดาวขนนก ความแรงของกระแสน้ำและคลื่นจะเป็นตัวกำหนดรูปร่างของสัตว์ทะเลหน้าดินที่เกาะอยู่ตามพื้น ในบริเวณที่มีคลื่นแรงจะมีพวกสัตว์ทะเลหน้าดินที่มีเปลือกหนาแข็งแรงอยู่ได้ เช่น ลิ่นทะเล และเพรียงหิน เป็นต้น ในบริเวณที่คลื่นสงบมักจะเป็นที่อยู่ของพวกที่ค่อนข้างเปราะบาง เราจะเห็นได้ชัดเจนในพวกปะการังพวกที่มีกิ่งก้านมักจะอยู่ในบริเวณที่คลื่นสงบ ส่วนพวกที่เป็นก้อนกลุ่มใหญ่จะขึ้นได้ดีบริเวณที่รับคลื่นหรือกระแสน้ำ สัตว์ทะเลหน้าดินที่ไม่มีส่วนยึดเกาะมักจะหลบซ่อนอยู่ตามซอกหินหรือรอยแยกในหิน เช่น พวกหอยเม่น หอยเม่นบางชนิดจะใช้หนามแหลมของมันกัดกร่อนพื้นหินให้เป็นแอ่งเพื่อตัวมันจะลงไปอยู่ในแอ่งดังกล่าว เป็นการป้องกันตัวมันไม่ให้ถูกคลื่นซัดพาไป
          ก้ามดาบ ปูลม หอยเสียบ และไส้เดือนทะเล จัดเป็นพวกสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขุดรูฝังตัวอยู่ในพื้นท้องทะเล เวลาที่หอยเสียบจะฝังตัวเองลงในพื้นทราย มันจะทำการสำรวจพื้นทรายก่อนแล้วจึงใช้ส่วนเท้าแทรกลงดิน ลักษณะฝาหอยเสียบจะตั้งขึ้นทำให้มีน้ำหนักกดลงบนส่วนเท้าที่แทรกลงดิน ส่วนเท้าจะขยายใหญ่และแผ่ออกในดิน ดึงส่วนฝาและตัวให้ลึกลงไปในดิน ปูก้ามดาบและปูลมจะขุดรูฝังตัวเองในดิน รูของมันมีลักษณะเฉพาะอาจมีทางออกได้หลายทาง ปูก้ามดาบจะเอาก้อนดินอุดปากรูของมันแน่นป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในขณะที่น้ำขึ้น รูปูมักจะขุดลึกลงไปถึงระดับน้ำใต้ดิน ทั้งนี้เพื่อให้ปูวิ่งลงไปแช่ตัวให้ชุ่มชื้นได้ยามที่น้ำลงและอากาศร้อนจัด ไส้เดือนทะเลหลายชนิดจะขุดรูแบบถาวรเป็นรูปตัวอักษรตัวยูและฝังตัวอยู่ภายใน บางชนิดจะใช้กรวดทรายตลอดจนเศษใบไม้ตกแต่งรูของมัน
          สัตว์ทะเลหน้าดินบางชนิดจะอาศัยอยู่ภายในก้อนหิน แนวปะการังหรือเนื้อไม้ โดยการเจาะไชเข้าไปอยู่ภายใน การเจาะไชของสัตว์กลุ่มนี้อาศัยการกัดกร่อนพื้นผิว และสารเคมีที่มันปล่อยออกมาจะช่วยในการละลายพื้นผิวที่มันเจาะไชเข้าไปอยู่อาศัย ฟองน้ำ หอยเจาะในแนวปะการัง และหนอนถั่ว เป็นตัวอย่างของสัตว์ทะเลกลุ่มนี้ การเจาะไชอาจไม่ใช่เพื่อการเข้าไปอยู่
          อาศัยอย่างเดียว อาจจะเนื่องมาจากการล่าเหยื่อด้วยเช่น ในกรณีของหอยกระแจะหรือหอยมะระที่ชอบกินหอยนางรมและเพรียงหิน สัตว์ทะเลหน้า ดินบางชนิดจะอาศัยอยู่ในตัวของสัตว์อื่น เช่นไส้เดือนทะเลบางชนิดที่อาศัยอยู่กับปูเสฉวน โดยอาศัยอยู่ภายในเปลือกเดียวกัน ไส้เดือนทะเลจะเคลื่อนที่ไปยังบริเวณต่างๆ ตามปูเสฉวน นอกจากนี้ยังได้เศษอาหารที่เหลือจากปูอีกด้วย การอยู่ร่วมกันในลักษณะดังกล่าวพบมากในทะเล สืบเนื่องมาจากการหาที่อยู่อาศัยและการป้องกันตัวมันเองจากศัตรู
          เราได้เห็นแล้วว่าพื้นท้องทะเลมีความสำคัญอย่างไรต่อสัตว์ทะเลหน้าดิน แต่ถ้าเรามองย้อนในมุมกลับบ้าง เราก็จะเห็นว่าสัตว์ทะเลหน้าดินนั้นมีความสำคัญ คือ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบริเวณพื้นท้องทะเล การรบกวนหรือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้เกิดการกวนผสมกันของดินตะกอนขนาดต่างๆ หรือทำให้เกิดการแยกขนาดของดินตะกอนออกมาโดยกิจกรรมของสัตว์ทะเล เราเรียกว่า ไบโอเทอร์เบชัน (Bioturbation) กิจกรรมของสัตว์ทะเลที่เป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดการรบกวนพื้นท้องทะเล ได้แก่ การขุดรูฝังตัวและการกินอาหารหรือล่าเหยื่อ ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของพื้นท้องทะเลซึ่งเกิดจากกิจกรรมของสัตว์ทะเลหน้าดินที่พบเสมอ ได้แก่ การที่ดินบริเวณนั้นมีการจับตัวกันแน่นขึ้นเนื่องจากมีการยึดดินตะกอนขนาดต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการที่สัตว์ทะเลปล่อยสารเหนียวบางอย่างมาช่วยยึดอนุภาคของดินตะกอนเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นรูที่อยู่อาศัยหรือสร้างปลอกหุ้มตัว นอกจากนี้จะมี
          พวกของเสียหรืออุจจาระที่ขับถ่ายออกมาเป็นก้อนเล็กๆ รวมตัวกันอีก การเจาะไชของสัตว์ทะเลหน้าดินในแนวปะการังหรือบริเวณหาดหินทำให้เกิดการสึกกร่อนของหินเร็วขึ้น การขูดขีดเพื่อหาอาหารบริเวณผิวของหาดหินและการฝังตัวในหินทำให้หินแตกหักหรือกร่อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมถึงหรือได้รับอิทธิพลของคลื่นลมกิจกรรมการขุดรูของสัตว์ทะเลหน้าดินทำให้ปริมาณออกซิเจนและน้ำจากบริเวณผิวหน้าดินสามารถซึมไหลเวียนลงไปสู่ดินชั้นที่ลึกลงไป

ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน หมายถึง, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน คือ, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน ความหมาย, ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหน้าดิน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu