ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ หมายถึง, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ คือ, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ ความหมาย, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ

           ได้แก่ ตา สำหรับการเห็น จมูก สำหรับรับกลิ่น  ลิ้น สำหรับรับรส หู สำหรับการฟัง และผิวหนัง รับความรู้สึก ทั่วไป ได้แก่ เจ็บ สัมผัส กด ร้อน เย็น

          เป็นอวัยวะสำหรับการฟัง และการทรงตัว หูประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ หูส่วนนอก หูส่วนกลาง และหูส่วนใน
 
หูส่วนนอก 

ประกอบด้วยใบหู และรูหู

          ใบหู ยื่นเป็นมุมประมาณ ๓๐ องศา จากด้านข้างของศีรษะ แกนกลางของใบหูเป็นกระดูกอ่อนชนิดยืดหยุ่นได้ (elastic)ชิ้นเดียว หุ้มด้วยผิวหนังทั้งสองด้าน ยกเว้นติ่งหู ไม่มีกระดูกอ่อน มีแต่เยื่อพังผืด และไขมันหลวมๆ กระดูกอ่อนนี้
ไม่เรียบ แต่มีส่วนนูนยื่นขึ้นมา และระหว่างส่วนที่นูนก็เป็นแอ่งใบหูจึงไม่เรียบทั้งสองด้าน
 
          รูหู เป็นช่องทางติดต่อระหว่างแอ่งลึกสุดของใบหูไปจนถึงเยื่อแก้วหูลึกประมาณ ๒๔ มิลลิเมตร ประกอบด้วย ๒ ส่วนคือ รูหูส่วนกระดูกอ่อน ยาว ๘ มิลลิเมตร เป็นส่วนที่ต่อจากกระดูกอ่อนของใบหู และรูหูส่วนกระดูกยาว ๑๖ มิลลิเมตร
เป็นส่วนที่มีผนังเป็นกระดูก ติดต่อลึกเข้าไปจากส่วนกระดูกอ่อน

          รูหูทั้งหมดไม่เป็นช่องตรงทีเดียว แต่จะโค้งเล็กน้อย  รูหูจะคอดเป็นบางแห่ง เช่น ที่รอยต่อระหว่างส่วนกระดูกและส่วนกระดูกอ่อน และที่ส่วนกระดูกห่างจากเยื่อแก้วหู ๒-๓  มิลลิเมตร
 
          รูหู จะบุด้วยผิวหนัง ที่ส่วนกระดูกอ่อน ผิวหนังค่อนข้างหนา และมีขน และยังมีต่อมขี้หูด้วย

          เยื่อแก้วหู รูปร่างเป็นแผ่นกลม ก้นบุ๋ม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๐ มิลลิเมตร วางเฉียงๆ หันลงล่างไปทางข้างหน้า และใกล้ริม ในคนมีชีวิต เยื่อแก้วหู มีสีเทาเป็นเงา แต่อาจมีสีเหลืองอ่อน และแดงปนด้วย มีด้ามของกระดูกค้อนติดที่ด้านในของเยื่อแก้วหู จุดกึ่งกลางของเยื่อแก้วหูจึงถูกดึงเข้าไปเป็นรอยบุ๋ม
 
หูส่วนกลาง
 
          เป็นโพรงอากาศเล็กๆ ในกระดูก อยู่ระหว่างเยื่อแก้วหูกับหูส่วนใน ภายในโพรงนี้มีกระดูกหูเล็กๆ ๓ ชิ้น คือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ซึ่งต่อกันจากเยื่อแก้วหูไปยังผนังใกล้ริมของหูส่วนใน เพื่อนำคลื่นเสียงที่มากระทบเยื่อแก้วหูไปยังหูส่วนในได้ หูส่วนกลางยาวและสูงประมาณ ๑๕ มิลลิเมตร   แต่กว้างเพียง ๖ มิลลิเมตรที่ส่วนบน ๔ มิลลิเมตรที่ส่วนล่าง และ ๑.๕-๒.๐ มิลลิเมตรที่ส่วนกลาง โพรงอากาศของหู   ส่วนกลางยังมีท่อทางข้างหน้าไปติดต่อกับคอหอยส่วนจมูก(nasopharynx) และมีท่อทางข้างหลังไปติดต่อกับโพรงอากาศในปุ่มกระดูกหลังใบหูด้วย
 
หูส่วนใน

          เป็นช่องที่มีสารน้ำอยู่ ค่อนข้างสลับซับซ้อนอยู่ภายในกระดูกที่เรียกว่า โบนีลาบีรินธ์ (bony labyrinth)และภายในโบนีลาบีรินธ์ ยังมีท่อหรือถุงซึ่งมีผนังบางๆ อยู่อีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า เมมเบรนัสลาบีรินธ์ (membranous labyrinth)
 
          โบนีลาบีรินธ์ ประกอบด้วย เวสติบูล (vestibule)ช่องเซมิเซอร์คูลาร์ (semicircular canals)และช่องโคเคลียร์ (cochlear canal) ซึ่งภายในมี เมมเบรนัสลาบีรินธ์ ซึ่งประกอบด้วย ยูตริเคิล
(utricle) แซคคูล (saccule) ท่อเซมิเซอร์คูลาร์ (semicircular ducts)และท่อโคเคลียร์ (cochlear duct)

          เวสติบูล เป็นส่วนกลางของ โบนีลาบีรินธ์ ทางหลังติดต่อกับ ช่องเซมิเซอร์คูลาร์ และทางหน้าติดต่อกับ ช่องโคเคลียร์ เป็นโพรงเล็กๆ ในกระดูกยาวจากหน้าไปหลัง ๖ มิลลิเมตร สูง  ๔-๕ มิลลิเมตร และกว้าง ๓ มิลลิเมตร
 
          ช่องเซมิเซอร์คูลาร์ มี ๓ ช่อง อยู่หลังช่องเวสติบูล ทั้งสามวางตั้งฉากซึ่งกันและกัน จึงให้มีชื่อตามที่อยู่ คือ อันหน้า    อันหลัง และอันใกล้ริม ช่องนี้อยู่ในกระดูกประมาณ ๒/๓ ของวงกลม ซึ่งปลายหนึ่งจะโป่งออก เรียกว่า แอมพูลลา (ampulla)
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ มิลลิเมตร แต่ที่แอมพูลลาประมาณ ๒.๐ มิลลิเมตร เปิดเข้าสู่เวสติบูลเพียง ๕ รู เนื่องจากปลายใกล้กลางของช่องอันหน้ากับปลายบนของอันหลังรวมกัน
 
          ช่องโคเคลียร์ เป็นโพรงคล้ายก้นหอย ฐานกว้าง ๙  มิลลิเมตร จากฐานถึงยอด ๕ มิลลิเมตร มีกระดูกเป็นแกนกลาง เรียก โมดิโอลุส (modiolus) ยาว ๓ มิลลิเมตร มีช่องโคเคลียร์ วนรอบโมดิโอลุส ประมาณ ๒ ๑/๒ - ๒ ๒/๓ รอบ ท่อทั้งหมดยาว ๓๒ มิลลิเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มิลลิเมตร  จากกระดูกแกน มีแผ่นกระดูกบาง (osseous spiral lamina) ยื่นออกวนรอบโมดิโอลุส คล้ายตะปูควง ยื่นเข้าไปประมาณครึ่งหนึ่งของช่องโคเคลียร์ จึงแบ่งช่องโคเคลียร์ออกเป็นสองช่อง แต่ไม่สมบูรณ์ จากปลายของแผ่นกระดูกวนรอบ มีแผ่นพังผืดบาสิลาร์ (basilar membrane) ไปติดกับผนังของช่องโคเคลียร์ ทำให้แบ่งช่องโคเคลียร์เป็นสองช่องโดยสมบูรณ์
 
          เมมเบรนัสลาบีรินธ์ อยู่ภายในโบนีลาบีรินธ์ ซึ่งมีรูปร่างเหมือนโบนีลาบีรินธ์ เว้นแต่มีถุงบางๆ ๒ ถุงอยู่ในเวสติบูล คือ
 
          ยูตริเคิล เป็นถุงยาวอยู่ตอนบนและหลังของเวสติบูล มีท่อเซมิเซอร์คูลาร์ มาเปิด ๕ ท่อ ภายในยูติเคิล มีเซลล์รับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวแล้วส่งความรู้สึกนั้นไปยังสมอง
 
          แซคคูล เป็นถุงรูปไข่ อยู่หน้ายูตริเคิล ภายในก็มีเซลล์รับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวเช่นเดียวกันทั้ง แซคคูล และ ยูตริเคิล มีท่อมาติดต่อซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ แซคคูลยังมีท่อไปต่อกับท่อโคเคลียร์ด้วย
 
          ท่อเซมิเซอร์คูลาร์ มีลักษณะเป็นท่ออยู่ภายในช่องเซมิเซอร์คูลาร์ ช่องเซมิเซอร์คูลาร์ส่วนใดโป่ง ท่อเซมิเซอร์คูลาร์ส่วนนั้นก็โป่งด้วย ภายในท่อเซมิเซอร์คูลาร์ที่โป่งออก มีสันขวางประกอบด้วยเซลล์รับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว
 
          ท่อโคเคลียร์ เป็นท่อวนรอบอยู่ภายในช่องโคเคลียร์ เป็นท่อรูปสามเหลี่ยม ด้านล่างเป็นแผ่นบาสิลาร์ และด้านบนเป็นแผ่นเยื่อบางๆ อีกแผ่นหนึ่ง เรียกว่า แผ่นเวสติบูลาร์(vestibular membrane) ขึงจากด้านบนของแผ่นกระดูกวนรอบไปยังผนังของช่องโคเคลียร์ อีกด้านหนึ่งเป็นแผ่นเยื่อของช่อง
โคเคลียร์ ด้านในช่องโคเคลียร์ที่ด้านบนของแผ่นบาสิลาร์มีอวัยวะสำหรับรับเสียง (organs of Corti) ซึ่งมีเซลล์สำหรับรับความรู้สึกในการได้ยิน
 
          ภายในเมมเบรนัสลาบีรินธ์ทั้งหมด มีน้ำที่เรียกว่า เอ็นโดลีมพ์ (endolymph)ซึ่งจะติดต่อกันทั้งหมด
 
          ภายในโบนีลาบีรินธ์ และภายนอกเมมเบรนัสลาบีรินธ์ก็มีน้ำอยู่ซึ่งเรียกว่า เพอริลีมพ์ (perilymph)ซึ่งติดต่อกันทั้งหมดเช่นเดียวกัน
 
          เมื่อมีคลื่นเสียงผ่านรูหูไปกระทบเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูก็สั่นสะเทือน ทำให้กระดูกหูเล็กๆ สั่นสะเทือน ส่งต่อไปยังเพอริลีมพ์ภายในเวสติบูล จากนั้นการสั่นสะเทือนก็แพร่ไปยังเพอริลีมพ์ของส่วนต่างๆ ไปสู่เซลล์สำหรับรับเสียงและเซลล์
สำหรับรับความรู้สึกในการทรงตัว ซึ่งจะส่งความรู้สึกต่อไปยังสมองได้ทางประสาทสมองคู่ที่ ๘

อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ หมายถึง, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ คือ, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ ความหมาย, อวัยวะรับความรู้สึกพิเศษ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu