ระบบประสาทเกี่ยวข้องกับการควบคุม และประสานงานของการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อจัดเตรียมร่างกายให้มีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ในขณะเดียวกันก็ควบคุมอวัยวะต่างๆ ภายในให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายใน ซึ่งจำเป็นสำหรับการยังมีชีวิตอยู่ คนเราเหนือกว่าสัตว์ต่างๆ ก็โดยที่ระบบประสาทโดยเฉพาะสมองเจริญดีกว่าสัตว์ทั้งปวง
ระบบประสาท แบ่งออกได้เป็น
๑. ระบบประสาทกลาง (central nervous system) ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง (spinal cord)ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมและประสานงานของการทำงานของร่างกายทั้งหมด
๒. ระบบประสาทนอก (peripheral nervous system)ซึ่งยังแบ่งต่อไปอีกเป็น
๒.๑ เส้นประสาทสมอง มี ๑๒ คู่ ออกจากสมองผ่านรูต่างๆ ของกะโหลกศีรษะ ส่วนใหญ่กระจายไปบริเวณศีรษะ
๒.๒ เส้นประสาทไขสันหลัง มี ๓๑ คู่ ออกจากไขสันหลังเป็นช่วงๆ ผ่านรูระหว่างกระดูกสันหลัง ไปสู่ร่างกายและแขนขา
๒.๓ ประสาทระบบอัตโนมัติ ควบคุมการทำงานของอวัยวะที่อยู่นอกอำนาจจิตใจและโดยไม่รู้สึกตัว เช่น การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน ผนังของหลอดเลือดและต่อมต่างๆ ระบบอัตโนมัติยังแบ่งต่อไปอีกคือ
๒.๓.๑ ระบบซิมพาเทติก (sympathetic)มีเซลล์กำเนิดอยู่ในไขสันหลัง
๒.๓.๒ ระบบพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) มีเซลล์กำเนิดอยู่ในสมองเป็นส่วนใหญ่
ประสาทสมอง มี ๑๒ คู่ เลี้ยงบริเวณศีรษะและคอเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นคู่ที่ ๑๐ ไปเลี้ยงอวัยวะภายในช่องอก และช่องท้อง
คู่ที่ ๑ ประสาทโอลแพคตอรี (olfactory nerve) เป็นประสาทรับความรู้สึกจากเยื่อเมือกของจมูก มีหน้าที่รับกลิ่น
คู่ที่ ๒ ประสาทออปติก (optic nerve) เป็นประสาทรับความรู้สึกจาก เรตินา (retina) ของตา มีหน้าที่รับความรู้สึกเกี่ยวกับแสงสีและภาพ
คู่ที่ ๓ ประสาทออกคูโลมอเตอร์ (occulomotor nerve)เป็นประสาทยนต์ เลี้ยงกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวลูกตา และกล้ามเนื้อดึงหนังตาบนขึ้น (ลืมตา) มีหน้าที่ทำให้ลูกตาเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน นอกจากนั้นประสาทสมองคู่ที่ ๓ ยังนำประสาทพวกพาราซิมพาเทติก ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นชัด และควบคุมขนาดของรูม่านตาให้เหมาะสมกับแสงสว่างอีกด้วย
คู่ที่ ๔ ประสาททรอเคลียร์ (trochlear nerve) เป็นประสาทยนต์เลี้ยงกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตา ๑ มัด
คู่ที่ ๕ ประสาทไทรเจมินัล (trigeminal nerve) เป็นประสาทที่มีทั้งประสาทยนต์และประสาทรับความรู้สึก ส่วนที่เป็นประสาทยนต์จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวกระดูกขากรรไกรล่างเกี่ยวกับการเคี้ยว กล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวเพดานอ่อน
และกล้ามเนื้อที่ทำให้เยื่อหูตึงขึ้นเพื่อการฟังชัด ส่วนที่เป็นหนังศีรษะส่วนครึ่งหน้า เยื่อบุของปาก เหงือก และลิ้น
คู่ที่ ๖ ประสาทแอบดิวเซนต์ (abducent nerve) เป็นประสาทยนต์เลี้ยงกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาอีกมัดหนึ่ง
คู่ที่ ๗ ประสาทเฟเชียล (facial nerve) เป็นประสาทยนต์เลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้า เพื่อบ่งบอกถึงอารมณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังนำประสาทพาราซิมพาเทติก ไปเลี้ยงต่อมของช่องจมูก เพดาน ต่อมน้ำตา ต่อมน้ำลายใต้คาง และใต้ลิ้นและยังรับรสจากลิ้นส่วนหน้า ๒๓
คู่ที่ ๘ ประสาทเวสติบูโล-โคเคลียร์ (vestibulo coclear nerve) เป็นประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการได้ยิน และการทรงตัว
คู่ที่ ๙ ประสาทกลอสโซ-ฟารีงเจียล (glosso pharyngeal nerve) มีทั้งประสาทยนต์และประสาทรับความรู้สึกประสาทยนต์ไปควบคุมกล้ามเนื้อของคอหอย ประสาทรับความรู้สึก รับความรู้สึกจากคอหอยส่วนหลังของลิ้น ช่องหูส่วนกลาง
นอกจากนี้ยังนำประสาทพาราซิมพาเทติกไปเลี้ยงต่อมน้ำลายพาโรติด และยังรับรสจากส่วนหลังของลิ้นด้วย
คู่ที่ ๑๐ ประสาทเวกัส (vagus nerve) ส่วนใหญ่เป็นประสาทพาราซิมพาเทติก มีประสาทยนต์เลี้ยงกล้ามเนื้อเรียบของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ จนถึงส่วนทอดขวางของลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน หัวใจ ปอด รวมทั้งต่อมต่างๆ ของทางเดินลำไส้ใหญ่ด้วย และมีประสาทรับความรู้สึก รับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ด้วย
คู่ที่ ๑๑ ประสาทแอคเซสซอรี (accessory nerve) มีประสาทยนต์ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวและไหล่ กล้ามเนื้อยกเพดานอ่อน กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการกลืน กล้ามเนื้อควบคุมการหายใจและการเปล่งเสียง
คู่ที่ ๑๒ ประสาทไฮโปกลอสซัล (hypoglossal nerve) ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อของลิ้นทำให้เกิดการเคลื่อนไหว
ประสาทไขสันหลัง มี ๓๑ คู่ แบ่งเป็น ประสาทสมอง ส่วนคอ ๘ คู่ ส่วนอก ๑๒ คู่ ส่วนเอว ๕ คู่ ส่วนก้น ๕ คู่ และส่วนก้นกบ ๑ คู่ แต่ละเส้นประกอบด้วยประสาทยนต์และประสาทรับความรู้สึกไปสู่กล้ามเนื้อและผิวหนังส่วนคอ แขน ส่วนอก ส่วนเอว ส่วนก้น และขา ตามลำดับ