ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การปลูกอ้อย, การปลูกอ้อย หมายถึง, การปลูกอ้อย คือ, การปลูกอ้อย ความหมาย, การปลูกอ้อย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การปลูกอ้อย

          อ้อยเป็นพืชที่ปลูกง่าย  สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน เช่น สภาพน้ำท่วมหรือแห้งแล้ง เป็นต้น  การปลูกอ้อยเพียงเพื่อให้ขึ้นนั้นทำได้ไม่ยากนัก  แต่การปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และคุณภาพดีด้วยทำได้ค่อนข้างยาก  ผู้ปลูกจะต้องมีทั้งความรู้และเงินทุนอย่างพอเพียง
          ความสำเร็จของการทำไร่อ้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง  แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือตัวกสิกรเองเพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับตัวกสิกรทั้งสิ้นนับตั้งแต่การตัดสินใจเลือกทำเล  พันธุ์  และการ
ปฏิบัติอื่นๆ ในที่นี้ที่สำคัญที่สุดคือ ทำเล  ถ้าทำเลไม่เหมาะก็อาจประสบกับการขาดทุน หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  ความจริงคำว่า  "ทำเล"  มีความหมายกว้าง  ซึ่งอาจรวมถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมของบริเวณนั้นด้วย ซึ่งจะได้กล่าวโดย ลำดับ
          ๑. สภาพพื้นที่  ต้องเป็นที่น้ำไม่ท่วมตลอดทุกฤดูกาล  น้ำท่วมระยะสั้นอาจทำให้การเจริญเติบโตลดลง  เป็นผลให้ผลผลิตลดลงด้วย  ถ้าน้ำท่วมเป็นเวลานานอ้อยอาจตาย นอกจากนี้ต้องไม่เป็นที่ลาดชันเกินไป เพราะนอกจากจะไม่สะดวกต่อการใช้เครื่องมือแล้วยังทำให้ดินพังทลายเมื่อมีฝนตกมากอีกด้วย
         ๒. การคมนาคมสะดวก  มีถนนหนทางที่ใช้สัญจรไปมาได้สะดวกทุกฤดูกาล  และถนนนั้นจะต้องสามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยได้ด้วย  มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขนส่งอ้อย
         ๓. ไม่ห่างไกลจากโรงงาน  ไร่ที่อยู่ใกล้โรงงานมากกว่าย่อมได้เปรียบ  ทั้งในด้านการขนส่งและติดต่อ ไร่อ้อยควรจะอยู่ห่างจากโรงงานไม่เกิน ๓๐ กิโลเมตร
         ๔. มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินควรเป็นบริเวณที่ไม่มีปัญหาจากนักเลงอันธพาล หรือโจรผู้ร้าย เป็นต้น

         นอกจากปัจจัยสี่ประการตามที่กล่าวแล้วจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ อีก ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าการเลือกทำเลทำไร่อ้อยเป็นไปอย่างเหมาะสม ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่
          ๑. สภาพของดิน  ต้องมีเนื้อดินลึกอย่างน้อย ๘๐ เซนติเมตร  เพราะอ้อยเป็นพืชอายุยืนและหยั่งรากลึก  นอกจากนี้ต้องเป็นดินที่มีการระบายน้ำดีอีกด้วย
          ๒. ความอุดมสมบูรณ์ของดิน  ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงค่อนข้างดี   จึงจะทำให้การปลูกอ้อยได้ผลดี  ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมากๆ เช่นป่าเปิดใหม่แม้ว่าจะได้น้ำหนักมาก  แต่ก็มักประสบปัญหาเรื่องอ้อยมีความหวานต่ำ
          ๓. น้ำฝนหรือน้ำชลประทาน  อ้อยเป็นพืชต้องการน้ำมาก  ถ้าเป็นน้ำฝนต้องไม่น้อยกว่าปีละ ๑,๕๐๐ มิลลิเมตร  และต้องมีการกระจายดีโดยเฉพาะในระยะที่อ้อยกำลังเจริญเติบโต  ถ้าที่ใดมีฝนตกน้อย หรือฝนกระจายไม่ดีจะต้องมีน้ำชลประ-ทานช่วย  นอกจากนี้ต้องมีระยะที่ขาดฝนและอากาศหนาวเพื่อให้อ้อยแก่และสุก
          ปัจจัยอื่นๆ นอกจากที่กล่าวแล้วก็คือ แสงแดดและอุณหภูมิ อ้อยเป็นพืชต้องการแสงแดดจัดตลอดเวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ดังนั้นบริเวณที่ได้รับแสงแดดน้อย จึงไม่เหมาะแก่การปลูกอ้อยสำหรับอุณหภูมินั้นเกี่ยวข้องกับคุณภาพหรือความหวานของอ้อย ในระยะที่ขาดฝนหรือขาดน้ำ ควรจะเป็นระยะที่อุณหภูมิต่ำหรืออากาศหนาวด้วย และสภาพอากาศหนาวควรจะมีเวลานานพอ ซึ่งจะทำให้อ้อยมีความหวานมากขึ้น          ก. การเตรียมพื้นที่   หมายถึงการทำให้พื้นที่อยู่ในสภาพที่จะใช้เครื่องมือทำไร่อ้อยได้สะดวกพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นพื้นที่ป่า  ที่รกร้างว่างเปล่า ที่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อน หรือพื้นที่ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้ว  วิธีการเตรียม  เครื่องมือ  แรงงาน  และทุนรอนที่ต้องการใช้แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยปลูกพืชอื่นมาก่อนและพื้นที่ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้วเท่านั้น เพราะเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กสิกรใช้ปลูกอ้อย
         ข. การปรับปรุงสมบัติของดิน ดินที่ปลูกอ้อยหรือพืชอื่นนอกจากพืชตระกูลถั่วติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  มักจะมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลงและสภาพทางกายภาพของดินเลวลงด้วย ทำให้ผลผลิตพืชที่ปลูกต่ำลง วิธีที่จะปรับปรุงให้ดินดีขึ้นกระทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ย  โดยเฉพาะพวกปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ  หรือโดยวิธีปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือผลพลอยได้จากโรงงานน้ำตาล ซึ่งได้แก่ กากตะกอน (filter-cake)  และชานอ้อย (bagasse) เป็นต้นเมื่อใส่สารอินทรียวัตถุเหล่านี้ลงดินจะช่วยทำให้ดินนั้นมีสมบัติทางเคมี  ทางกายภาพ  และทางชีวภาพดีขึ้น เป็นผลให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์จึงนับว่ามีความจำเป็น
         ค. การเตรียมดิน  เนื่องจากอ้อยเป็นพืชอายุยืนและมีรากหยั่งลึกมาก และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้วสามารถไว้ตอหรือเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ปริมาณผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง  ตลอดจนความยาวนานของการไว้ตอ นอกจากจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพลมฟ้าอากาศแล้ว  การเตรียมดินนับว่ามีบทบาทสำคัญมาก  ชาวไร่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ

         การไถ  สำหรับการเตรียมพื้นที่  ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้ว และต้องการรื้อตอเก่าเพื่อปลูกใหม่ก็เริ่มต้นด้วยการเผาเศษที่เหลืออยู่บนดินโดยเร็วภายหลังการเก็บเกี่ยว เพราะขณะนั้นดินยังมีความชื้นพอที่จะปฏิบัติไถพรวนได้สะดวก ก่อนใช้ไถบุกเบิกรื้อตอเก่า ควรใช้เครื่องไถระเบิดดินดาน (subsoiler) หรือไถสิ่ว (ripper) ไถแบบตาหมากรุกเพื่อให้ดินชั้นล่างแยกออกเสียก่อน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ดินนั้นเก็บน้ำไว้มากขึ้นภายหลังฝนตกและดินระบายน้ำได้ดีแล้ว ยังทำให้รากสามารถหยั่งลึกได้มากขึ้นอีก ขณะเดียวกัน ถ้าพื้นดินอยู่ในสภาพที่ขาดน้ำก็จะเป็น ทางให้อ้อยใช้น้ำใต้ดินได้อีกด้วย
          เมื่อไถระเบิดดินชั้นล่างแล้วก็ตามด้วยไถจาน ๓ อีก ๓-๔ ครั้ง  คือไถดะ  ๑ ครั้ง  แล้วไถแปร อีก ๑-๒ ครั้ง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและฤดูกาลที่ปลูก  สำหรับการปลูกต้นฝน อาจไม่จำเป็น ต้องเตรียมดินให้ละเอียดมากนัก  แต่ถ้าเป็นการปลูกปลายฝนการเตรียมดินให้ละเอียดเป็นสิ่งจำเป็นการไถควรไถให้ลึกมากๆ เพื่อให้สามารถเปิดร่องได้ลึกและปลูกได้ลึกด้วย
          ข้อที่ต้องระวังในการเตรียมดินก็คือ ไถในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ  วิธีง่ายที่สุดที่จะทราบว่าดินนั้นมีความชื้นพอเหมาะหรือไม่ก็คือเอาดินในชั้นที่จะมีการไถใส่ฝ่ามือ  แล้วกำพอแน่นแบมือออก  ถ้าดินมีความชื้นพอเหมาะ จะจับกันเป็นก้อนในลักษณะพร้อมที่จะแตกออกเมื่อมีอะไรมากระทบ ดินที่มีความชื้นน้อยเกินไปก็จะแข็งมากไถลำบาก   ถ้าดินมีความชื้นมากเกินไปก็จะจับกันเป็นก้อน นอกจากนี้ถ้าเป็นพื้นที่ลาดเอียง การปฏิบัติต่างๆ ในการเตรียมดินต้องกระทำในทิศทางตั้งฉากกับความลาดเอียงเสมอ  ทั้งนี้เพื่อช่วยลดการชะกร่อนของดินเนื่องจากน้ำ
          ง. การปรับระดับ  เมื่อไถเสร็จแล้วควรปรับระดับพื้นที่ให้ราบเรียบพอสมควร และให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยทางใดทางหนึ่งที่จะสะดวกต่อการให้น้ำและระบายน้ำ ในกรณีที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนการปรับระดับจะทำให้น้ำไหลช้าลงช่วยลดการชะกร่อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
          ในที่บางแห่งซึ่งมีความลาดเอียงค่อนข้างมากอาจต้องทำคันดินกั้นน้ำเป็นตอนๆ ตัดขวางทางลาดเอียง  พร้อมทั้งมีร่องระบายน้ำด้วย  ทั้งคันดินและร่องน้ำควรให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลช้าลง  บริเวณที่ลาดเอียงมากไม่ควรใช้ปลูกอ้อย
          จ. การยกร่อง  การยกร่องหรือการเปิดร่องสำหรับปลูกอ้อยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนอกจากจะสะดวกแก่การปฏิบัติต่างๆ เช่น  การปลูก  การให้น้ำ และการระบายน้ำแล้ว  ยังทำให้ปลูกได้ลึกอีกด้วย การปลูกลึกช่วยให้อ้อยไม่ล้มง่าย  ทนแล้งได้ดี  และสามารถไว้ตอได้นานกว่าการปลูกตื้น เครื่องยกร่องอาจเป็นผานหัวหมู  หรือหางยกร่องซึ่งใช้สำหรับยกร่องโดยเฉพาะ  แนวร่องที่ยกควรให้ตัดกับความลาดเอียงของพื้นที่ ระยะระหว่างร่องประมาณ ๙๐-๑๔๐ เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้และวัตถุประสงค์ในการปลูก

การปลูกอ้อย, การปลูกอ้อย หมายถึง, การปลูกอ้อย คือ, การปลูกอ้อย ความหมาย, การปลูกอ้อย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu