ของสหประชาชาติ มีสถานภาพเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศ และมีธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของรัฐสมาชิกมีมติรับรองเป็นเอกฉันท์ รัฐที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจ่ายเงินค่าบำรุงรายปีตามสัดส่วนของรายได้ของประเทศ มีสิทธิได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกตามที่ตกลงกัน เช่น มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการเงินและทางด้านวิชาการ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี และการประชุมอื่นๆ ซึ่งองค์การจัดขึ้น มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญของประเทศให้เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ในองค์การตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
องค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอเชียและแปซิฟิก และมีสำนักงานภาคพื้นอยู่ในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้ ความอดอยากหิวโหยและขาดแคลนอาหารซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ประเทศต่างๆ ๔๔ ประเทศร่วมกันจัดตั้งองค์การอาหารและเกษตร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการลงนามให้สัตยาบรรณในกฎบัตรสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) เป็นต้นมา องค์การได้กำหนดวันที่ ๑๖ ตุลาคม ให้เป็นวันอาหารแห่งโลก (World Food Day) ในปัจจุบันรัฐสมาชิกของเอฟเอโอ มีอยู่ ๑๖๒ ประเทศ
ภารกิจหลักของเอฟเอโอ คือ ยกระดับโภชนาการและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรโลก ปรับปรุงสมรรถนะของการผลิตและการกระจายผลิตผลจากการเกษตร การทำไร่นา ป่าไม้ และการประมง ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวชนบท ซึ่งล้วนเป็นทางนำไปสู่การขจัดความหิวโหย กิจกรรมที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เพิ่มพูนผลิตผลด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้ถูกต้องตามหลักวิชา ขจัดโรคระบาดในสัตว์ พัฒนาการประมงน้ำจืด และน้ำเค็ม แสวงหาแหล่งพลังงานซึ่งใช้หมุนเวียนได้ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้โดยประหยัด และมีการปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โภชนาการ การปฏิรูปการเกษตร วิศวกรรมการเกษตร การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตร การใช้ดาวเทียมเพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันน้ำท่วม
เอฟเอโอ เป็นองค์การแรกของสหประชาชาติที่มาตั้งสำนักงานภาคพื้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙) เพราะภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกเป็นแหล่งที่ชาวชนบทถึงร้อยละ ๗๐ มีที่ดินเพื่อการเกษตรเพียงร้อยละ ๒๗ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการแผ่ขยายของความอดอยากยากจน ที่ดินเสื่อมโทรมมีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมาก และมีมลพิษในน้ำทะเล และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่จำต้องดำเนินการแก้ไขโดยรีบด่วน สำนักงานภาคพื้นมีแผนการที่ดำเนินการช่วยเหลือประเทศไทยโดยเฉพาะ องค์การนี้ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือการพัฒนาในประเทศต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิกกว่า ๕๐๐ โครงการ เช่น การฟื้นฟูป่า การควบคุมผลิตผลมิให้สูญเสีย การชลประทาน การปราบศัตรูพืช บำรุงเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง และการปฏิรูปด้านเกษตรทำงาน โดยร่วมมือกับองค์การอื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียและธนาคารโลก
สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่อาคารมะลิวัลย์ เลขที่ ๓๙ ถนนพระอาทิตย์กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๑-๗๘๔๔ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๔๔๕