ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อ้อย, อ้อย หมายถึง, อ้อย คือ, อ้อย ความหมาย, อ้อย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
อ้อย

          อ้อย (Sugarcane - Saccharum officinarum* L.)  เป็นพืชพวกหญ้าชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มากในแง่ของการใช้เป็นอาหาร อ้อยนับเป็นพืชสำคัญอันดับ ๔ ของโลกรองจากข้าวสาลี  ข้าวโพด และข้าว ตามลำดับ  แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของ  ผลผลิตคิดเป็นน้ำหนักแห้งที่เก็บเกี่ยวได้ต่อเนื้อที่ต่อปี  อ้อยมาเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เพราะอ้อยสามารถใช้ปัจจัยสำหรับการเจริญเติบโต  เช่น  แสงแดด  น้ำ อากาศ และธาตุอาหารได้มีประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง  นอกจากนี้อ้อยยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย และเมื่อปลูกครั้งหนึ่งแล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง อ้อยชอบอากาศร้อนและชุ่มชื้น  ดังนั้นประเทศที่ปลูกอ้อย  ซึ่งมีประมาณ ๗๐ ประเทศจึงอยู่ในแถบร้อน และชุ่มชื้นในระหว่างเส้นรุ้งที่ ๓๕ องศาเหนือและ ๓๕ องศาใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในปี  พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๑  ทั่วโลกผลิตน้ำตาลได้ ๙๓.๐๕ ล้าน เมตริกตัน ในจำนวนนี้ผลิตจากอ้อย  ๕๖.๙๔ ล้านเมตริกตัน และจากหัวบีท (sugar beet) ๓๗.๐๑ ล้านเมตริกตัน ประเทศที่ผลิตน้ำตาลจากอ้อยได้มากที่สุด คือ บราซิล ผลิตได้  ๗.๕  ล้านเมตริกตัน รองลงมาได้แก่ อินเดีย  คิวบา  ออสเตรเลีย  เม็กซิโก ฟิลิปปินส์  จีน และไทย ผลิตได้ ๖.๐, ๕.๘, ๓.๔, ๒.๖๙, ๒.๖๗, ๒.๖๐, ๒.๒๖ ล้านเมตริกตัน  ตามลำดับประเทศนอกเหนือจากที่กล่าวนี้ล้วนผลิตน้ำตาลใด้ในปีดังกล่าวน้อยกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น
          สำหรับประเทศไทยได้มีการปลูกอ้อยมาแต่โบราณกาล  แต่การทำน้ำตาลจากอ้อยได้เริ่มในสมัยกรุงสุโขทัยประมาณปี  พ.ศ. ๑๙๒๐  แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่เมืองสุโขทัย  พิษณุโลก และกำแพงเพชรน้ำตาลที่ผลิตได้ในสมัยนั้นเป็นน้ำตาลทรายแดง    (muscovado) หรือน้ำอ้อยงบ เชื่อกันว่าชาวจีนเป็น   ผู้ที่นำเอากรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรายแดงเข้ามาส่วนการผลิตน้ำตาลทรายขาว (centrifugal sugar) นั้นได้เริ่มที่จังหวัดลำปางเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากนั้นการผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยลำดับ  จากการผลิตเพียงเพื่อทดแทนปริมาณน้ำตาลที่เราต้องสั่งเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์และ  อินโดนีเซีย  จนกระทั่งผลิตได้พอใช้บริโภคภายในประเทศและเหลือส่งออกต่างประเทศเป็นจำนวนถึง ๕,๗๒๓ เมตริกตัน  คิดเป็นมูลค่า ๘.๑๐ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๐๓  มูลค่าส่งออกของน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท เป็น ๓๓๐  ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และเป็น ๑,๒๕๒ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๐ มูลค่าส่งน้ำตาลออกได้เพิ่มขึ้นเป็น ๗,๓๙๕  ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้สูงสุดนับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการส่งน้ำตาลเป็นสินค้าออกและนับเป็นรายได้อันดับ ๓ รอง จากข้าวและมันสำปะหลัง ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือเพียง ๓,๙๗๒ ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากน้ำตาลล้นตลาดและราคาตกต่ำ  แม้กระนั้นก็ยังเป็นรายได้ ๑ ใน ๑๐ ของสินค้าออกทั้งหมด จึงนับได้ว่าอ้อยเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

--------------------------------------------------------------------------------
    * คำ - Saccharum มาจากภาษาสันสกฤตว่า สกฺกรา หรือบาลีว่า สกขรา (sakara หรือ shakara) หมายถึงน้ำตาลก้อนหรือน้ำตาลอ้อย

          อ้อยเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมานานนับหมื่นปีการปลูกโดยวิธีตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ มีการกำจัดวัชพืชและป้องกันสัตว์ต่างๆ ที่จะมาทำลายอ้อยที่ปลูก นับว่าเป็นศิลปะที่เก่าแก่มาก ในสมัยโบราณอ้อยปลูกเป็นพืชสวนครัวสำหรับบริโภคโดยตรงภายในครัวเรือนเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจากพืชสวนครัวมาเป็นพืชไร่นั้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อหลายร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช  ส่วนกรรมวิธีการทำน้ำตาลจากอ้อยนั้นเพิ่งจะมาทราบกันเมื่อไม่นานมานี้เอง
ก่อนที่จะกล่าวถึงถิ่นกำเนิดของอ้อย  ใคร่ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งพืชในสกุล (genus) Saccharum  เสียก่อน   การแบ่งชนิด (species) ของพืชในสกุลนี้ ได้กระทำโดยนักพฤกษศาสตร์หลายท่านในวาระต่างๆ กัน แต่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือการแบ่งของกราสซึล (Grassl, 1968) ซึ่งได้แบ่งพืชในสกุลนี้ออกเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) อ้อยปลูกดั้งเดิม (S.officinarum L.) (๒) อ้อยป่าแถบร้อน (S. spontaneum L.)  (๓) อ้อยอินเดีย   (S. barberi Jesw.) (๔)  อ้อยป่านิวกินี (S. robustum Brand. et Jesw. ex Grassl.)

ลักษณะทั่วๆ ไปและถิ่นกำเนิดของอ้อยชนิดต่างๆ มีดังนี้
          ๑. อ้อยปลูกดั้งเดิม  เป็นอ้อยที่เกิดแถบเกาะนิวกินี  ลักษณะของอ้อยชนิดนี้ถือเป็นลักษณะประจำของพืชในสกุลนี้   ลักษณะที่สำคัญคือลำใหญ่ใบยาวและกว้าง  มีน้ำตาลมาก เปลือกและเนื้อนิ่มและมีสีสวย  ซึ่งเรารู้จักกันในนามของ "อ้อยเคี้ยว" เท่าที่มีอยู่ในบ้านเรา คือ อ้อยสิงคโปร์  อ้อยมอริเชียส (Mauritius) และอ้อยบาดิลา  (Badila)  ซึ่งชาวดัทช์ที่อยู่ในชวาสมัยก่อนเรียกอ้อยเหล่านี้ว่า  โนเบิล  เคน (noble  cane)  ต่อมาบรานดิซ (Brandes,  ๑๙๕๖)*    เรียกว่า  เนทิฟ  การ์เดน  ชูการ์เคน (native garden sugarcane หรือ native sugarcane) เพราะชาวเกาะนิวกีนีปลูกไว้ในสวนเพื่อใช้รับประทานสด  อ้อยชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลกในสมัยเริ่มแรกเป็นอย่างมาก  อ้อยที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันก็สืบเชื้อสายมาจากอ้อยชนิดนี้ดังนั้น  เมื่อกล่าวถึงประวัติและถิ่นฐานดั้งเดิมของอ้อยจึงหมายถึงอ้อยชนิดนี้เสมอ
          ๒. อ้อยป่าแถบร้อน  เป็นอ้อยป่าซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบร้อนและชุ่มชื้น มีอยู่หลายร้อยชนิดแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด แต่มีลักษณะที่สำคัญคล้ายคลึงกัน คือมีอายุยืน (perennial)  ขึ้นอยู่เป็นกอมีลำต้นใต้ดิน (rhizome) ลำต้นผอมและแข็ง  ไส้กลวงมีความหวานน้อย  ในประเทศไทยเรียกว่าแขมพง  หรือ อ้อยป่า (wild cane)
          ๓. อ้อยอินเดีย  เป็นอ้อยที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตอนเหนือ  นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นอ้อยที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติ  ระหว่าง S.officinarum และ S.spontaneum อ้อยพวกนี้มีลำต้นขนาดเล็กใบเล็ก  ข้อโป่ง  มีความหวานสูง  เปลือกและเนื้อนิ่มอ้อยขาไก่ในประเทศเราอาจเป็นอ้อยพวกนี้
          ๔. อ้อยป่านิวกีนี  เป็นอ้อยป่าแถบเกาะนิวกินี เปลือกแข็ง ไส้ฟ่าม มีลักษณะลำต้นใหญ่ แข็งแรง อาจสูงถึง ๑๐ เมตร มีความหวานต่ำ ชาวเกาะใช้ปลูกทำรั้ว  อ้อยชนิดนี้พบว่ามีในประเทศไทย  นักวิชาการเชื่อกันว่าเป็นต้นตระกูลของอ้อยปลูกดั้งเดิม
         อ้อยได้ถูกนำไปจากเกาะนิวกีนี โดยการติดต่อค้าขายและการล่าเมืองขึ้นของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์  อย่างไรก็ดีบรานดิซได้สันนิษฐานการแพร่กระจายของอ้อยจากนิวกินีไว้เป็นสามทางตาม ลำดับเวลา คือ
        ๑. ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่หมู่เกาะโซโลมอน นิวเฮบริดิส และนิวคาเลโดเนีย เกิดขึ้นนานนับจำนวนหมื่นๆ ปีก่อนคริสต์ศักราช
        ๒. ไปทางทิศตะวันตกสู่หมู่เกาะชวา  ประเทศอินโดนีเซีย  แหลมมลายู  ฟิลิปปินส์  อินโดจีนซึ่งรวมถึงประเทศไทย  ตลอดถึงชายฝั่งแถบอ่าวเบงกอลประเทศอินเดีย  การกระจายตัวด้านนี้เริ่มเมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช  กว่าที่อ้อยจะกระจายจากนิวกินีไปถึงอินเดียนั้น ต้องใช้เวลาถึง ๓,๐๐๐ ปี  การกระจายตัวทางทิศตะวันตกนี้มีความสำคัญมาก เพราะได้ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาล  จนมีความเจริญอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
       ๓. ไปทางทิศตะวันออกสู่เกาะต่างๆ คือ ฟิจิ  ตองกา  ซามัว  คุก  มาร์เคซัส  โซไซเอตี อิสเทอร์ และฮาวาย รวมทั้งเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย   การกระจายตัวตามทิศทางดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่เกิน ๕๐๐ ปี  หลังจากที่อ้อยถึงอ่าวเบงกอลแล้ว

--------------------------------------------------------------------
 * Brandes,E.W.1956. Origin, dispersal and use in breeding of the Melanesian garden sugarcanes and their derivatives, Saccharum officinarum L.Proc. ISSCT,9 :709-750.

อ้อย, อ้อย หมายถึง, อ้อย คือ, อ้อย ความหมาย, อ้อย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu