
เมื่อดอกไม้ได้รับการผสมเกสรและผสมพันธุ์ส่วนต่างๆ ของดอกจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ ไข่(ovule) จะเจริญไปเป็นเมล็ดซึ่งข้างในจะมีคัพภะ(embryo) และมีเอนโดสเปอร์ม (edosperm) อยู่ระยะหนึ่งหรือตลอดไป ผนังรังไข่จะเจริญไปเป็นเปลือกผล (pericarp) รังไข่ (ovary) และฐานรองดอก (receptacle) จะเริ่มขยายตัวพองออก ส่วนต่างๆ ของดอกที่อยู่รอบๆ รังไข่มักจะเริ่มเหี่ยวและ จะร่วงไปในที่สุด ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า "การติดผล" สำหรับดอกที่ไม่ได้รับการผสมจะบานได้นานกว่าดอกที่ผสมติด แต่ในที่สุดจะร่วงไปทั้งดอก
การเจริญเติบโตของผลไม้ทุกชนิดแบ่งออกได้เป็น ๔ ระยะ คือ ระยะแรก รังไข่มีการแบ่งเซลล์อย่างมากมายหลังจากได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ระยะที่สอง เซลล์ที่แบ่งตัวแล้วนั้นมีการขยายตัวในช่วงนี้ไซโทพลาสซึมจะเคลื่อนเข้าหาขอบเซลล์ ทำให้เกิดช่องว่างภายในเซลล์และมี sap บรรจุอยู่เต็ม ซึ่งอาจกินเนื้อที่ประมาณ ๘๐ % ของปริมาตรเซลล์ เซลล์จะมีอาหารพวกแป้ง น้ำตาล และโปรตีน เมื่อผลเจริญถึงขั้นเต็มที่ก็ถึงระยะที่สาม ซึ่งจะมีการสร้างสารที่ทำให้เกิดรสชาติ (flavour) ปลายของระยะนี้ผลก็จะสุกหรืออย่างน้อยก็แก่พอที่จะเก็บได้ หลังจากนี้ก็เข้าระยะที่สี่ ซึ่งเรียกว่า ระยะสุกงอม (senescence) จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในผลอย่างมาก ผลจะเริ่มสุกงอมและจะเละ หรือแห้งเหี่ยวไปในที่สุด
ปกติผลไม้จะมีเมล็ด ถ้าเมล็ดไม่เจริญก็จะทำให้ผลไม้นั้นร่วงหล่นไป แต่ไม้ผลบางชนิดสามารถมีผลที่ไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดตายได้ เพราะรังไข่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ขบวนการเกิดผลแบบนี้เรียกว่า "parthenocarpy" ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบด้วยกัน คือ แบบแรก ผลจะเกิดขึ้นได้โดยที่ดอกไม่ได้รับทั้งการผสมเกสรและผสมพันธุ์ ปัจจัยที่ทำให้ผลเจริญเติบโตจะเกิดมีเองในดอกหรือรังไข่ โดยไม่ต้องได้รับการกระตุ้นจากภายนอก พืชที่เกิดผลแบบแรกได้นี้ ตามธรรมชาติยอดเกสรตัวเมียไม่พร้อมที่จะรับการผสม ตัวอย่างเช่น กล้วยหอมมะละกอ ส้มบางชนิด เป็นต้น แบบที่สองเป็นการเกิดผล โดยได้รับการกระตุ้นจากการผสมเกสรกล่าวคือขณะที่หลอดเรณูไชชอนลงไปตามก้านเกสรตัวเมีย จะมีการสร้างสารบางอย่างขึ้น และสารนี้ จะไปกระตุ้นให้มีการขยายตัวของเซลล์ในรังไข่จนเจริญเป็นผลโตเต็มที่ได้ แต่เนื่องจากหลอดเรณูแตกหรือตายลงกลางทาง เชื้อตัวผู้จึงไม่มีโอกาสเข้าผสมกับเชื้อตัวเมีย หรือคัพภะที่เกิดขึ้นแล้วไม่สมบูรณ์ จึงหยุดเจริญ ผลที่ได้จึงไม่มีเมล็ดหรือเมล็ดลีบ เช่น ทุเรียนบางพันธุ์ เป็นต้น