ในประเทศไทยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยฝีมือซึ่งเป็นงานหัตถกรรม มีอยู่มากมายหลายชนิดทำด้วยวัสดุและวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากจะมุ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักแล้ว ยังสอดใส่ศิลปะในการประดิษฐ์ลงไปในสิ่งประดิษฐ์ให้ดูสวยงามทำให้ชิ้นงานต่างๆ ดูมีคุณค่าและความงามอย่างโดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรมของชนชาวไทยตลอดมาไม่แพ้ชนชาติอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ผลิตในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมากเกินกว่าจะนำมากล่าวได้หมดในที่นี้ หัตถกรรมของไทยแต่ละชนิดจะมีรูปแบบแหล่งผลิต และประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันไปดังจะยกมากล่าวเพียง ๓ ประเภท ที่สำคัญมาก ดังนี้
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของไทยมีการผลิตกันมานาน จากประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยทุกคนคงเคยได้ยินถึงการผลิต "เครื่องสังคโลกหรือถ้วยชามสังคโลก" ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ มีรูปทรงลวดลายสีสันสวยงามมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและได้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ ๕ ประเภทตามลักษณะของเนื้อดิน ดังนี้
ก. เทร์ราคอตตา (TERRA COTTA) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหยาบสีออกแดงน้ำตาล มีทั้งชนิดเคลือบ และไม่เคลือบ เช่น กระถางต้นไม้แจกันดิน โอ่งมังกร เป็นต้น
ข. เอิร์ทเทนแวร์ (EARTHENWARE) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อดินแน่น ทึบแสง เคลือบมันส่วนใหญ่ผลิตเป็นเครื่องถ้วยชาม
ค. สโตนแวร์ (STONEWARE) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อแข็งทึบแสง มีเนื้อดินผสมมากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้แก่ เครื่องใช้และเครื่องประดับบ้าน
ง. พอร์ซเลน (PORCELAIN) เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นดีมีเนื้อแกร่ง โปร่งแสง เคลือบเป็นมัน เคาะดูมีเสียงกังวาน ไม่ดูดน้ำ ผลิตเป็นของใช้ประจำวัน งานแพทย์ วิทยาศาสตร์และเครื่องประดับชนิดต่างๆ
จ. โบนไชนา (BONE CHINA) เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่ดีที่สุด ราคาแพงที่สุด มีความขาวและวาวมาก เนื้อบางเบาแข็งแกร่ง มีการใช้เถ้าจากกระดูกสัตว์ผสม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความเบาและเงางาม ผลิตเป็นเครื่องใช้ และเครื่องประดับชนิดต่างๆ
นอกจากจะแบ่งตามลักษณะเนื้อดินแล้วยังมีการแบ่งตามลักษณะการใช้งานอีกด้วยคือ
ก. เครื่องใช้สำหรับการก่อสร้าง เช่น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และสุขภัณฑ์
ข. เครื่องใช้สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น ถ้วย จาน ชาม ต่างๆ
ค. เครื่องใช้สำหรับใช้ประดับตกแต่ง และของชำร่วย ของที่ระลึกต่างๆ เช่น แจกัน ตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
ง. เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบเครื่องจักรกลหรือเครื่องไฟฟ้า เช่น ลูกถ้วยไฟฟ้า เป็นต้น
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทยปัจจุบันได้พัฒนาจากการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและทดแทนการนำเข้า มาเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่จากต่างประเทศเข้ามาช่วย ด้วยการเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ผลิตของไทย เป็นต้น
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. ๒๕๓๕ แสดงให้ทราบว่ามีโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวม ๙๓ ราย โดยแยกเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ ๑๖ ราย มีกำลังการผลิตกระเบื้องโมเสก ๑๑๑,๓๐๐ ตันต่อปี กระเบื้องปูพื้นบุผนัง ๔๗๔,๕๐๐ ตันต่อปี เครื่องสุขภัณฑ์ ๖๔,๓๐๐ ตันต่อปี ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในครัวเรือน ของชำร่วยของที่ระลึก เครื่องประดับบ้าน รวม ๗๗ ราย มีกำลังการผลิตรวม๑๑๙,๕๕๓ ตัน และ ๘๔.๖ ล้านชิ้น เป็นต้น โดยโรงงานเหล่านี้มีการลงทุนค่อนข้างสูงและบางรายร่วมลงทุนกับชาวต่างประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตที่ทำการผลิตในรูปอุตสาหกรรมในครัวเรือนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถรวบรวมจำนวนและกำลังการผลิตได้
แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของไทยคือภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปางและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการผลิตในภาคกลางที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี เป็นต้น ส่วนภาคอีสานมีมากที่ ตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น