เป็นระบบขับถ่ายระบบแรกที่มีท่อเป็นทางออก พบในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายเซลล์ พวกตัวพลานาเรีย พยาธิใบไม้และพยาธิตัวตืด ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กมากไม่มีเส้นเลือดและไม่มีช่องว่างของลำตัวที่แท้จริง ระบบขับถ่ายนี้โดยทั่วๆ ไปประกอบไปด้วยหลอดที่มีกิ่งก้านสาขาอยู่ ๒ ข้าง ตลอดความยาวของลำตัว ในพลานาเรียซี่งเป็นหนอนตัวแบนที่หากินเป็นอิสระอยู่ในน้ำจืดและดินชื้นๆ หลอดเหล่านี้จะมาเปิดเป็นท่อมากมายที่บริเวณผิวของลำตัว
ในพวกพยาธิใบไม้ หลอดเล็กๆ อาจมารวมกันเป็นถุงขนาดใหญ่ก่อนเปิดติดต่อกับภายนอก ส่วนสำคัญของระบบขับถ่ายแบบนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มของเซลล์ที่ทำหน้าที่ขับถ่าย มีลักษณะคล้ายเป็นเบ้าเล็กๆ ยื่นออกมาจากข้างหลอดขับถ่ายมากมาย แต่ละอันก็จะมีเซลล์ ซึ่งมีช่องว่างอยู่ตอนกลาง ซึ่งในช่องว่างนี้มีขนยาวๆ เรียก ซิเลีย (cilia) รวมกันอยู่เป็นกลุ่มยื่นเข้ามาในช่องว่างทำหน้าที่พัดโบกน้ำและของเสียจากเซลล์ขับถ่าย ซึ่งเรียก เฟลมเซลล์ เข้าสู่ช่องว่างตอนกลางซี่งติดต่อกับท่อขับถ่าย การพัดโบกของกลุ่มขนของเฟลมเซลล์นี้มีลักษณะคล้ายกับเปลวไฟที่ปลายเทียนไข จึงมักมีผู้เรียกเซลล์ขับถ่ายนี้ว่าเฟลมเซลล์เช่นเดียวกับคอนแทรกไทล์แวคคิวโอล เฟลมเซลล์ทำหน้าที่สำคัญในการรักษาระดับสมดุลของน้ำในร่างกาย เพราะส่วนใหญ่ของเสียซึ่งเป็นของเหลวที่เกิดจากเมตาโบลิซึมในสัตว์พวกนี้จะถูกขจัดออกไปกับช่องทางเดินอาหารซึ่งทำหน้าที่เป็นทางผ่านของเลือด และขับถ่ายของเสียได้ด้วย เราเรียกช่องว่างนี้ว่า ช่องว่างแกสโตรวาสคูลาร์(Gastrovascular cavity) ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องการหายใจ