ผีเสื้อในประเทศไทย
ผีเสื้อในประเทศไทย, ผีเสื้อในประเทศไทย หมายถึง, ผีเสื้อในประเทศไทย คือ, ผีเสื้อในประเทศไทย ความหมาย, ผีเสื้อในประเทศไทย คืออะไร
จากการชมธรรมชาติที่สวยงามรอบบริเวณบ้านหรือในชนบทตามป่าเขาต่างๆ เราจะรู้สึกประทับใจในความสวยงามของผีเสื้อหลากสีที่บินวนเวียนกินน้ำหวานดอกไม้ หรือเกาะตามพื้นที่ชื้นแฉะอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ คนทั่วไปจึงรู้จักผีเสื้อต่างๆ มากชนิด ทั้งยังอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมันอีกด้วยว่ามันมีความเป็นอยู่อย่างไร ในประเทศไทย เรามีผีเสื้อมากน้อยเท่าใดและมีความแตกต่างจากผีเสื้อในประเทศอื่นมากน้อยเพียงไร
ในแง่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนและชนิดของผีเสื้อในป่าหนึ่งๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและสภาพที่แท้จริงของป่านั้นๆ ว่ามีความเป็นป่าสมบูรณ์เพียงใด เช่น ป่าที่ถูกเผาถางทำลายลงไปมากขึ้น จำนวนชนิดของผีเสื้อที่พบจะลดน้อยลงไปด้วย หรือถ้าพบแต่ผีเสื้อที่ตัวหนอนกินพืชจำพวกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วเท่านั้น ก็จะทราบได้ทันทีว่าสภาพป่าได้ถูกทำลายลงเป็นทุ่งหญ้าทั้งหมดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับผีเสื้อจึงค่อนข้างแน่นแฟ้น ผีเสื้อจะหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อป่าถูกทำลาย ความชื้นที่ผีเสื้อส่วนมากชอบก็จะหมดไป ต้นไม้ที่เป็นอาหารของตัวหนอนก็จะขาดแคลนด้วย
ผีเสื้อเป็นกลุ่มของแมลงที่นักสัตววิทยาจัดไว้ในอันดับเลพิดอปเทอรา (Order Lepidoptera) มาจากคำว่า lepis แปลว่าเกล็ด และ pteron แปลว่าปีก แมลงในอันดับนี้จึงมีแผ่นปีกปกคลุมด้วยเกล็ดสีเล็กๆ เรียงซ้อนกันแบบกระเบื้องมุมหลังคาเกล็ดสีเล็กๆเหล่านี้ เมื่อดูด้วยตาเปล่า จะเห็นเป็นผงสีต่างๆ ซึ่งจะหลุดติดมือออกมาเมื่อเราจับปีกของผีเสื้อ ผีเสื้อในอันดับนี้ยังแยกออกเป็น ๒ พวก คือ อันดับย่อยผีเสื้อกลางวัน (Butterflier) พวกนี้มีหนวดตอนปลายพองออกเป็นรูปกระบอง และอันดับย่อยผีเสื้อกลางคืน (Moths) ซึ่งมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ
ชื่อผีเสื้อนั้น ตามความคิดของผู้เขียน อาจมาจากการที่ผีเสื้อต่างๆ มีสีสันและลวดลายสวยงามเหมือนกับสีเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กัน แต่ผีเสื้อบินร่อนไปมาได้เอง คนโบราณจึงคิดกันว่ามีผีเข้าไปสิงอยู่ในตัว แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ในชนบทบางแห่งยังเรียกผีเสื้อว่า "แมลงผี" ส่วนชื่อภาษาอังกฤษว่า "butterfly" นั้น มีผู้สันนิษฐานไปได้ ๒ ทางคือ ทางหนึ่งแปลว่า เนยบิน เพราะผีเสื้อที่พบชุกชุมในแถบอบอุ่นปีกมีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเข้มคล้ายสีของเนย (butter) เมื่อบินไปมาจึงดูเหมือนเศษเนยลอยร่อนอยู่ ส่วนอีกทางหนึ่งเชื่อว่า เพี้ยนมาจากคำว่า beauty fliesซึ่งหมายถึง ความสวยงามที่บินไปมาได้
ผีเสื้อ ๒ พวกดังกล่าวมีความแตกต่างกันหลายประการพอที่คนทั่วไปจะสังเกตได้ คือ
๑. ผีเสื้อกลางวันมีปลายหนวดพองโตออกหนาคล้ายรูปกระบอง บางพวกมีหนวดตอนปลายโค้งงอเป็นรูปขอ ส่วนผีเสื้อกลางคืนมีหนวดรูปร่างต่างๆ กันหลายแบบ เช่น รูปเรียวคล้ายเส้นด้าย รูปฟันหวี มีบางพวกที่มีหนวดพองออกคล้ายผีเสื้อกลางวัน
๒. ลำตัวของผีเสื้อกลางวันค่อนข้างยาวเรียว เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของปีก และไม่ค่อยมีขนปกคลุมเหมือนกับผีเสื้อกลางคืนที่มีลำตัวอ้วนสั้น
๓. ผีเสื้อกลางวันส่วนใหญ่จะออกบินเวลากลางวัน มีเพียงบางพวกที่ออกหากินในตอนเช้ามืด และตอนใกล้ค่ำ ผีเสื้อกลางคืนออกบินในตอนค่ำ ดังที่เรามักพบบินมาตอมแสงไฟตามบ้านเรือน ผีเสื้อกลางคืนที่ออกหากินกลางวันมักมีสีฉูดฉาดคล้ายผีเสื้อกลางวัน
๔. การเชื่อมยึดปีกทั้งสองให้โบกไปพร้อมกันของผีเสื้อกลางวันต่างจากผีเสื้อกลางคืน โดยจะมีแผ่นปีกขยายกว้างออกซ้อนทาบกัน แต่ในผีเสื้อกลางคืนมีขนแข็งจากโคนปีกคู่หลังสอดเข้าไปเกี่ยวกับขอเล็กๆ ตอนโคนปีกด้านใต้ของปีกคู่หน้า(ยกเว้นผีเสื้อกลางวันชนิดหนึ่งในทวีปออสเตรเลีย)
๕. การเกาะพักของผีเสื้อกลางวัน มักจะยกปีกตั้งตรงขึ้นบนลำตัว เห็นด้านใต้ของปีก ส่วนผีเสื้อกลางคืนจะวางปีกราบลงกับพื้นที่เกาะ โดยขอบปีกด้านหน้าตกลงข้างตัวต่ำกว่าระดับของหลั ดูคล้ายรูปหน้าจั่วหลังคา และคลุมปีกคู่หลังจนมิดหมด
ลักษณะแตกต่างดังกล่าวมานี้ ไม่อาจใช้จำแนกผีเสื้อทุกชนิดได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากลักษณะและนิสัยต่างๆ มักปะปนกัน ทำให้มีข้อยกเว้นต่างๆมาก แต่ก็เป็นข้อแตกต่างอย่างกว้างๆ ที่จะช่วยให้คนทั่วไปแยกแมลง ๒ กลุ่มนี้ออกจากกันได้พอสมควร
ผีเสื้อในประเทศไทย, ผีเสื้อในประเทศไทย หมายถึง, ผีเสื้อในประเทศไทย คือ, ผีเสื้อในประเทศไทย ความหมาย, ผีเสื้อในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!