เรือนพื้นที่บ้าน แบ่งออกเป็นเรือนชั่วคราวและเรือนถาวร
เรือนถาวรหรือเรือนไม้จริง เป็นเรือนที่พัฒนาขึ้นมาจากเรือนแบบชั่วคราว รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากเรือนจั่วกาแลที่มีแบบแผน ฉะนั้นลักษณะทั่วไปจึงดูเหมือนเรือนลูกผสม โดยยกใต้ถุนสูงประมาณ๑.๕-๒ เมตร เสาและพื้นส่วนใหญ่ใช้ไม้เบญจพรรณชนิดถากแต่งรูป ไม่ค่อยเรียบร้อยหลังคาทรงจั่ว ด้านหน้ามีกันสาด คล้ายหลังคาเรือนชาวเขา ยื่นส่วนหนึ่งของกันสาดออกมาคลุมบันได โดยใช้เสา ๒ ต้นรับ โครงสร้างหลังคามีทั้งไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินเผาและโครงไม้ไผ่มุงด้วยใบตองตึง หลังคามุงด้วยใบตองตึงมีเป็นจำนวนมาก ฝาผนังใช้ไม้สานเป็นแบบลำแพน ลายอำ ลายตาล ไม้ไผ่ขัดแตะ ไม้ซางทุบเรียบ หรือใช้ไม้จริงตีนอน เป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นใกล้เคียงและราคาถูก
ตัวเรือน ประกอบด้วยห้องนอน เป็นห้องสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านในสุดของเรือน ปิดด้วยฝาสี่ด้าน ส่วนบนเว้นช่องระบายอากาศ ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง อาจมีบางหลังเจาะไว้เป็นช่องเล็ก ๆ บ้าง มีประตู ๑ บาน พื้นใช้ไม้จริงปูเรียบ
ระเบียง อยู่ส่วนหน้าของห้องนอน เป็นส่วนที่กึ่งเปิดโล่ง ใช้เป็นที่นั่งเล่น รับแขก พักผ่อนและใช้เป็นที่นอนของแขกที่มาพัก หากมีลูกสาวก็ให้ลูกสาวนอนในห้องนอน ส่วนพ่อแม่นั้นจะออกมานอนที่ระเบียงนี้ บางหลังมีระเบียงขนาด
ยาวเลยไปถึงหน้าห้องครัว ใช้ส่วนนี้เป็นที่รับประทานอาหาร พื้นเป็นไม้จริงเหมือนกับพื้นห้องนอน
ชาน อยู่ส่วนหน้าสุดของตัวเรือน เป็นที่เปิดโล่งมีรั้วโปร่งเตี้ย ๆ สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตรกั้นโดยรอบ สำหรับไว้นั่งเล่นตอนเย็น ตากผลไม้หรือตากผ้า พื้นชานใช้ไม้จริงตีเว้นร่องโปร่ง เรือนพื้นบ้านแบบเรือนถาวรอาจจะไม่มีชานก็ได้
ครัวไฟ อยู่ด้านหลังสุดซีกด้านข้าง กั้นด้วยฝาเป็นบางส่วน ด้านบนทำช่องระบายควันไฟ มุมหนึ่งของห้องทำพื้นยกขอบใส่ดินเรียบเป็นที่วางเตาไฟ ที่ฝาผนังอาจทำชั้นไว้ของ ยื่นออกไปนอกตัวเรือนตรงส่วนบน
บันได ถอยร่นเข้าไปในตัวเรือน ๑ ช่วงเสา หรือพาดขึ้นตรงด้านหน้าติดกับชาน ยื่นหลังคากันสาดออกมาคลุม ใช้ไม้จริงเข้าเดือยและตอกสลัก ไม่นิยมหันลงมาทางทิศตะวันตก ที่เชิงบันไดตั้งตุ่มดินใส่น้ำไว้ล้างเท้า
ร้านน้ำ ต่อชั้นไม้ยื่นออกมา สูงจากระเบียงหรือชาน ๐.๘-๑ เมตร ตั้งอยู่ใกล้บันไดเพื่อตั้งตุ่มดินใส่น้ำดื่ม