ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ หมายถึง, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ คือ, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ ความหมาย, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ

          ประเทศไทยมีพรรณไม้ที่หลากหลายมากบางชนิดมีหลายชื่อ และบางชนิดเรียกชื่อซ้ำกัน ทั้งที่เป็นคนละต้น ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นชนิดใด ทางวิทยาศาสตร์ให้ยึดถือเอาชื่อวิทยาศาสตร์ หรือชื่อสากลเป็นหลัก วรรณคดีจึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนช่วย พรรณไม้ที่กล่าวถึงในวรรณคดีมีอยู่หลายชนิดที่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นชนิดใด  เนื่องจากชื่อนั้นๆ หมายถึงพันธุ์ไม้หลายชนิด และในแต่ละบทกลอนไม่มีใครทราบว่า จินตกวีจะมุ่งหมายถึงด้านใดเพียงแต่สันนิษฐานกันอย่างมีหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยพิจารณาจากลักษณะพืช สภาพแวดล้อมและถิ่นที่เกิดวรรณคดีเรื่องนั้นๆ  เช่น กระสังชนิดหนึ่งหมายถึง ไม้ล้มลุกต้นเล็กๆ  ลำต้นเขียวใส ชาวบ้านใช้เป็นผัก และตามโรงเรียนนิยมใช้ทดลองการดูดน้ำสีของพืช อีกชนิดหนึ่งคือ ไม้ต้นขนาดกลาง อยู่ในวงศ์เดียวกับส้มและมะนาว ใบเขียวเข้ม และมีต่อมน้ำมันหอมๆ อยู่ที่ใบในบางท้องที่เรียกว่า มะสัง เมื่อพบชื่อกระสังในวรรณคดี ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณ เพื่อตัดสินว่าเป็นชนิดใด ตัวอย่างเช่น

          นกกระสาจับต้นกระสัง
         โนรีจับรังแล้วบินร่อน
         สาลิกาจับแก้วแล้วเรียงนอน
         ยูงจับยางฟ้อนชมกัน
               รามเกียรติ์
               พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

          พันธุ์ไม้ในวรรณคดีที่ชื่อออกเสียงว่า จัน  นั้นมีการเขียนอยู่ ๒ แบบ แบบหนึ่งคือ จัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้คำจำกัดความว่าหมายถึง พันธุ์ไม้พวก Diospyros อีกแบบหนึ่งคือ จันทร์ ซึ่งหมายถึง   พันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอม เช่น จันทร์แดง จันทร์ชะมด  จัน (Diospyros deccandra Lour.)สุนทรภู่กล่าวถึง จัน ไว้ในนิราศพระบาท ตอนหนึ่ง ดังนี้

           เห็นจันสุกลูกเหลืองตลบกลิ่น
          แมลงภู่บินร่อนร้องประคองหวง
          พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง
          พี่ยลพวงผลจันให้หวั่นใจ
              นิราศพระบาท
              บทประพันธ์ของสุนทรภู่

          จัน หรือจันอิน จันขาว จันลูกหอม เป็นไม้ต้นขนาดกลาง วงศ์เดียวกับมะพลับและมะเกลือ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมดำ เรือนยอดกลมหรือคล้ายรูปกรวย ใบดกแน่น ดอกขนาดเล็กสีขาว หรือเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกกันคนละต้น ผลกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓ - ๕ ซม. เมื่อสุกมีสีเหลืองเนื้อนุ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม รับประทานได้

          ผลของจันมีแตกต่างกันเป็น ๒ แบบแบบหนึ่งผลกลมแป้น มีรอยบุ๋มด้านล่างตรงกลาง เรียกกันว่า ลูกจัน  อีกแบบหนึ่งผลกลมหนากล้ายทรงกลม และไม่มีรอยบุ๋ม เรียกกันว่า ลูกอิน ปัจจุบันมักเรียกชื่อโดยรวมทั้งสองแบบไว้วรรณคดีจะพบว่า ชื่อนี้สุนทรภู่เคยใช้มาแล้วตั้งแต่ประพันธ์เรื่อง สิงหไกรภพ

           หอมระรื่นชื่นช่วยแต่สายหยุด
          สงสารนุชนึกถึงสวนให้หวนโดย
          หอมจันทน์อินกลิ่นโศกลมโบกโบย
           ทั้งยมโดยดอกดวงเป็นพวงงาม

          ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างออกไปกล่าวคือ ชนิดลูกกลมแป้นตรงกลางบุ๋ม ไม่มีเมล็ด  เรียกว่า ลูกจันอิน ชนิดลูกกลมรีมีเมล็ดเรียกว่า ลูกจันโอ

          จันเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีสรรพคุณทางสมุนไพร ตำรายาไทยใช้เนื้อไม้ต้มเป็นยาบำรุงประสาท แก้ปอดและตับพิการ และแก้ร้อนในเคยปลูกกันตามวัดและในชนบท ปัจจุบันพบได้น้อย



พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ หมายถึง, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ คือ, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ ความหมาย, พันธุ์ไม้ที่มีปัญหาเรื่องชื่อ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 24

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu