การพระราชทานเสื้อ
การพระราชทานเสื้อ, การพระราชทานเสื้อ หมายถึง, การพระราชทานเสื้อ คือ, การพระราชทานเสื้อ ความหมาย, การพระราชทานเสื้อ คืออะไร
ในสมัยโบราณผ้าดีๆ หายากและราคาแพงพระเจ้าแผ่นดินจะเก็บผ้าที่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ชาวต่างประเทศถวายหรือทรงซื้อเก็บไว้ในพระคลังเพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มีความดีความชอบ ตลอดจนทหารประจำการ ในสมัยก่อนการให้เสื้อผ้าถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง แม้พระเจ้าแผ่นดินต่อพระเจ้าแผ่นดินก็เคยถวายเสื้อให้แก่กัน เช่น มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุจีนฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า พระเจ้ากรุงจีนได้ประทานหมังเหล็งไต๊เผา คือเสื้อยศดำแพรหมังตึ้งปักลายมังกรแก่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้ขอประทานเสื้อลายมังกรจากพระเจ้ากรุงจีนมาอีก
เสื้อที่พระราชทานแก่ผู้ที่มีความดีความชอบนั้น เท่าที่ปรากฏหลักฐานเรียกว่า เสื้อสนอบ เข้าใจว่าจะเป็นเสื้อชั้นดี มีค่าสูงกว่าเสื้ออื่นๆ เสื้อสนอบนี้มีกล่าวถึงในกฎหมายเก่าและกฎมณเฑียรบาลหลายแห่ง เช่น
"ถ้าผู้ใดชนช้างชนะ บำเหน็จหมวกทองเสื้อสนอบทองปลายแขน ยกที่ขึ้นถือนา ๑๐,๐๐๐"
"อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวประสาทผ้าเสื้อสนอบแก่ทหารพลเรือนทั้งหลาย เมื่อแขกเมืองมาและเบิกเข้าไปถวายบังคม บ่มิได้นุ่งห่มเสื้อสนอบซึ่งพระราชทานนั้นและนุ่งห่มผ้าอื่นมิควรให้มาดูร้าย"
อนึ่ง เสื้อสนอบพระราชทานนั้น แลเอาไปนุ่งห่มแห่งอื่นด้วยประการอันมิชอบนุ่งห่มให้เศร้าหมอง ครั้นแขกเมืองมาไซ้นุ่งห่มเสื้อสนอบเก่านั้นให้ดูร้าย เมื่อเบิกแขกเมืองนั้นเข้าถวายบังคมควรให้ผู้ดูร้ายออกจากท้องพระโรงก่อน พิจารณาเห็นเป็นสัตย์ไซร้ให้ลงโทษดังนี้ ถ้าทีหนึ่งควรภาคทัณฑ์ ถึงสองทีให้ลงโทษตี ถึงสามทีให้ใส่คาแก่ผู้นั้นเสีย
อนึ่ง เสื้อสนอบพระเจ้าอยู่หัวประสาทควรเอาไปนุ่งห่มด้วยประการอันชอบ คือว่าการพระราชพิธีตรุษสารทก็ดี คือว่าการมหรสพแลโดยเสด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ถ้าแลผ้านั้นเก่าไซ้ ให้ เอาส่งแก่ขุนมุนนายอนาพยาบาลให้เอาถวายในที่ราชรโหถาน แลบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเสื้อสนองอื่นให้ อนึ่ง ถ้าจวนและมิทันถวายก็ดี ควรหาเสื้อสนอบอันควรนุ่งห่มอย่าให้ดู ร้าย อนึ่ง ขุนมุนนายอนาพยาบาลแห่งอาตมาบอกกำหนดว่าจะเบิกแขกเมืองถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวก็ดี รู้เองก็ดี และมิได้มาทัน ควรให้ลงโทษเอาออกจากราชการ"
ดังนี้ แสดงว่าเสื้อสนอบเป็นของดีที่ใช้แต่งรับแขกบ้านแขกเมืองได้ และเห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง เมื่อผู้ใดได้รับพระราชทานแล้ว ก็จะเก็บไว้ไม่นำมาใช้ในเวลาปรกติ เพราะเกรงว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเข้าสมาคมที่เป็นพิธีรีตองสำคัญเสื้อนั้นจะเก่าไป
คำว่า "ดูร้าย" ในกฎหมายเก่านั้น หมายถึงดูไม่งามตานั่นเอง เพราะเมื่อเสื้อเก่าก็ดูซอมซ่อไม่งดงาม เครื่องแบบเก่าทำให้เสียพระเกียรติยศด้วย เรื่องนี้มีตัวอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ ทูตสเปนมาดูแห่งคเชนทรัสวสนาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เสด็จออก รับสั่งว่า "อายมันด้วยไม่ทันรู้ตัว เครื่องแห่มีแต่เสื้อขาด กางเกงขาด"
เสื้อที่ใช้เป็นเครื่องแบบและใช้ในงานพระราชพิธีในสมัยโบราณตามที่ปรากฏในหนังสือวรรณคดีและตำราราชการต่างๆ มีกล่าวถึงก็คือเสื้อครุย เสื้อสนอบ เสื้อเสนากุฎ เสื้อหนาวเกี้ยวและเสื้อยันต์ นอกจากนี้ยังมีเรียกชื่อตามชนิดของผ้าอีก เช่น เสื้ออัตลัด เสื้อปัศตู เสื้อมัสรู่ เสื้อเยียรบับ เป็นต้น
ชื่อต่างๆ เหล่านี้บางชื่อก็ยังหาแบบอย่างไม่ได้ เช่น เสื้อหนาวเกี้ยว บางชื่อเรียกตามชื่อเมืองและเรียกตามลายหรือชนิดของผ้านั้นๆ จะยกมาพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้เสื้ออัตลัดหรืออัดตลัดมาจากภาษาอาหรับว่า อัตลัส เรียกตามชนิดของผ้า เป็นผ้าทอด้วยไหมแกมเส้นทอง และเงินเป็นลายเป็นดอกต่างๆไทยเรานิยมมาตัดทำเสื้อ จึงเรียก เสื้ออัตลัด
- เสื้อปัศตู ทำด้วยผ้าริ้วลายเป็นทางๆ
- เสื้อมัสรู่หรือมัศหรู่ ภาษาเปอร์เซียเรียกว่ามัซรู เป็นผ้าสองหน้า หน้าในเป็นด้าย หน้านอกเป็นไหม เป็นผ้าริ้วลายเป็นทางๆ
- เสื้อเยียรบับ เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่าส้าระบับ เป็นผ้ายกทอง มาจากภาษาเปอร์เซีย ซาร แปลว่า ทอง บัฟต์ แปลว่า ทอ
- ผ้าลายกรุษราช ตามหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่กล่าวมาข้างต้นนั้นหมายถึง ผ้าอินเดียที่ทำจากแคว้นคุรชระราษฎร์ในอินเดีย และไทยเรียกว่า กุศหราด
- ผ้าลายสุหรัด มีกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองว่า "พระเสแสร้งว่ากับท่านยายจะซื้อลายสุหรัดสักผืนหนึ่ง" ผ้าลายชนิดนี้ทำที่เมืองสุราษฎร์หรือสุรัฐในอินเดีย ไทยเรียก สุหรัดผ้าลายสุหรัดนิยมกันว่าเป็นของดี
ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผ้าที่มาจากต่างประเทศมีอิทธิพลต่อการเรียกชื่อเสื้อผ้าที่ใช้แต่งกายของคนไทย และในสมัยอยุธยามีชาวต่างประเทศเข้ามากันมาก เข้าใจว่าแบบเสื้อของชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกส ฯลฯ ก็น่าจะนำมาใช้เป็นแบบกันบ้าง แต่ไม่มีหลักฐานกล่าวไว้ มีกล่าวถึงแต่เสื้อญี่ปุ่นจนถึงสมัยกรุงธนบุรี จึงได้พบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยพระราชทานเสื้ออย่างฝรั่งตัวหนึ่งให้พระราชาเศรษฐีญวน เจ้าเมืองพุทไธมาศ ดังนี้ แสดงว่าในสมัยนั้นคงจะนิยมเสื้อแบบฝรั่งกันแล้ว
นอกจากใช้ชนิดของผ้ากำหนดแบบแผนการแต่งกายของเจ้านายและขุนนางแล้ว ยังมีเรื่องของสีอีกอย่างหนึ่ง (นอกจากสีแดงและสีอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ความทรงจำ" ตอนหนึ่งว่า
"มีการจัดทำขึ้นในราชสำนักในปีมะเมีย (พ.ศ. ๒๔๑๓) นั้นอย่างหนึ่ง คือเมื่อมีเครื่องแบบสำหรับแต่งตัวมหาดเล็กขึ้นแล้ว ทรงพระราชดำริให้มีเครื่องแบบสำหรับฝ่ายพลเรือนแต่งเข้าเฝ้าในเวลาปรกติด้วย ให้แต่งเสื้อแพรสีต่างกันตามกระทรวง คือเจ้านายสีไพล ขุนนางกระทรวงมหาดไทยสีเขียวแก่ กลาโหมสีลูกหว้า กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) สีน้ำเงินแก่ (จึงเกิดเรียกสีนั้นว่า "สีกรมท่า" มาจนทุกวันนี้) มหาดเล็กสีเหล็ก (อย่างเดียวกับเสื้อแบบทหารมหาดเล็ก) อาลักษณ์กับโหรสีขาว รูปเสื้อแบบพลเรือนครั้งนี้เรียกว่า "เสื้อปีก" เป็นเสื้อปิดคอมีชาย (คล้ายเสื้อติวนิคแต่ชายสั้น) คาดเข็มขัดนอกเสื้อ เจ้านายทรงเข็มขัดทอง ขุนนางคาดเข็มขัดหนังสีเหลือง หัวเข็มขัดมีตราพระเกี้ยว นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบงแทนสมปัก แต่เครื่องแบบพลเรือนนี้ไม่ได้บัญญัติให้ใช้ทั่วกันไป เป็นแต่ใครได้พระราชทานก็แต่ง ที่ไม่ได้พระราชทานก็คงแต่งตัวอย่างเดิม คือใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว เจ้านายทรงผ้าม่วง โจงกระเบนคาดแพรแถบ ขุนนางนุ่งสมปักชักพกคาดผ้าทราบ แต่เครื่องแบบพลเรือนที่ว่านี้ใช้มาเพียงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ พอเสด็จกลับจากอินเดียก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น"
ในหนังสือจดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ได้จดไว้เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะแม (วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๑๔) ว่า "ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอด้วยเป็นธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอก" ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มีมาแต่เมื่อเสด็จสิงคโปร์ (วันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๑๓) ในครั้งนั้นได้ทรงเห็นแบบอย่างของฝรั่งมามาก เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ จึงเปลี่ยนแปลงระเบียบภายในราชสำนักก่อน ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้า รองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ครั้นเมื่อเสด็จไปอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๔ จึงได้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นแบบฝรั่งเลยทีเดียว แต่ยังคงนุ่งผ้าไม่ใช้กางเกงเท่านั้น"
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เองได้ประดิษฐ์แบบเสื้อขึ้นใช้ในราชการ คือเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งได้เคยไปราชการทูตถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้คิดแบบเสื้อแขนยาว คอตั้ง ลูกกระดุม ๕ เม็ด ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามประดับเพชรเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้บัญญัติชื่อเรียกเสื้อนั้นว่า "เสื้อราชปะแตน" ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงเป็นเสื้อเครื่องแบบข้าราชการที่เรียกว่าชุดขาวในปัจจุบัน
การแต่งกายแบบใหม่ คือ สวมเสื้อนอกกระดุม ๕ เม็ด และนุ่งผ้าโจงกระเบน ยังคงเป็นที่นิยมต่อมาจนถึงสมัยประชาธิปไตย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้ประชาชนชาวไทยแต่งกายตามแบบสากลนิยมและการแต่งกายที่ไม่เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นในหรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย ตลอดจนนุ่งโสร่ง นุ่งกางเกงแพร นุ่งผ้าโจงกระเบน ก็ให้แต่งเฉพาะอยู่ในบ้าน ไม่ควรแต่งในที่ชุมนุมชน
อนึ่ง ในสมัยโบราณประชาชนไม่นิยมสวมรองเท้า เมื่อประกาศให้ประชาชนแต่งกายตามแบบสากล จึงให้สวมรองเท้าและสวมหมวกด้วย
การพระราชทานเสื้อ, การพระราชทานเสื้อ หมายถึง, การพระราชทานเสื้อ คือ, การพระราชทานเสื้อ ความหมาย, การพระราชทานเสื้อ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!