สังคมของมนุษย์ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐานบนผืนแผ่นดินไทยนั้น พบว่ามิใช่มีอายุเก่าแก่เพียงสมัยสุโขทัย สมัยล้านนา และสมัยอยุธยาเท่านั้น แต่หลักฐานของมนุษย์ในแผ่นดินไทยกลับมีอายุนับย้อนขึ้นไปกว่าห้าหมื่นปี ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาอันยาวนานพอที่จะสั่งสมและสร้างสรรค์อารยธรรมสังคมเมืองขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งตนได้อย่างสง่างาม และสมควรแก่ความภาคภูมิใจแก่ชนทั้งหลายที่ได้อาศัยกำเนิดและดำรงชีวิตดังเฉกเช่นปัจจุบัน
หากจะจำแนกแบ่งยุคสมัยของโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงร่องรอยอารยธรรมอันเก่าแก่ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยตามกาลเวลาที่สอดคล้องในวิชาโบราณคดี ประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว สามารถแบ่งยุคสมัยตามที่นักวิชาการทั้งหลายของไทยได้กำหนดไว้ดังนี้
เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยหินกลางหรือสังคมล่าสัตว์ ทำขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่พิถีพิถันนัก โดยใช้มือปั้นขึ้นรูปอย่างอิสระ จากนั้นได้พัฒนาให้มีความประณีตสวยงามขึ้นโดยใช้แป้นหมุนช่วยในการขึ้นรูป และตกแต่งผิวภาชนะด้วยการขัดผิวให้มัน ประดับลวดลายด้วยกรรมวิธีต่างๆ และเนื้อดินปั้นทำได้บางลง ดังที่พบในสมัยหินใหม่หรือสังคมเกษตรกรรม และยุคโลหะหรือสังคมเมืองเริ่มแรก
จากการที่เครื่องปั้นดินเผามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรม ดังนั้นจึงพบเศษเครื่องปั้นดินเผากระจายอยู่ตามแหล่งโบราณคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางชิ้นมีการตกแต่งเขียนลวดลายสวยงาม อันสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่ออันเป็นเหตุให้เกิดพิธีกรรมของกลุ่มชนในยุคนั้นๆด้วย แหล่งที่พบเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมีดังนี้
ยุคหินกลาง
ในยุคหินกลาง เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี ถึง ๗,๐๐๐ ปี ในยุคนี้ได้พบเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าที่สุดที่ถ้ำผีอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีทั้งที่เป็นภาชนะผิวเรียบและที่มีผิวขัดมัน รวมทั้งมีการตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ อันแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมโฮบิเหียน
ยุคหินใหม่
ยุคหินใหม่ มีอายุประมาณ ๗,๐๐๐-๔,๐๐๐ปีมาแล้ว ยุคนี้ได้พบเครื่องปั้นดินเผาตามแหล่งโบราณคดีในภาคต่างๆ เกือบทุกจังหวัดที่สำคัญอาทิเช่น จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพังงา เป็นต้น
สำหรับที่จังหวัดกาญจนบุรี พบที่หมู่บ้านเก่าตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง และที่ถ้ำเขาสามเหลี่ยม ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง ที่จังหวัดลพบุรี พบที่บ้านโคกเจริญ ตำบลบัวชุม และที่เนินคลองบำรุง ตำบลหนองยายโต๊ะ อำเภอชัยบาดาลส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราชพบที่นพพิตำ อำเภอท่าศาลา และจังหวัดกระบี่ พบที่อำเภออ่าวลึก
เครื่องปั้นดินเผายุคหินใหม่นี้มีหลายรูปแบบล้วนมีความประณีต สวยงามด้วยเทคนิคที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน แม้ว่าบางแหล่งยังคงขึ้นรูปอิสระด้วยมือสืบต่อมาก็ตาม รูปแบบของภาชนะมีทั้งหม้อก้นกลม หม้อสามขา และพาน ซึ่งล้วนมีเนื้อดินปั้นบางลง เนื้อดินละเอียดขึ้นและมีสีต่างๆ ทั้งสีดำ สีแดง สีเทา และสีน้ำตาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะส่วนผสมของดินและการเผาภาชนะเหล่านี้มีทั้งแบบเรียบและที่มีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ และลายขูดขีด
ยุคโลหะ
ยุคโลหะมีอายุระหว่าง ๕,๖๐๐-๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาในยุคนี้มีความสวยงามมาก บางแหล่งแสดงให้เห็นว่ามีการทำอย่างพิถีพิถันอย่างยิ่ง และทำควบคู่ไปกับการผลิตเครื่องใช้โลหะที่มีทั้งสำริด ทองแดง และเหล็ก แสดงถึงความเจริญในเรื่องเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่การหล่อโลหะทำได้ดี แต่เครื่องปั้นดินเผากลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร มีการตกแต่งแบบเรียบง่ายเช่น ทาน้ำดินสีแดงทั่วไป ไม่เขียนลวดลาย หรือทำขนาดเล็กๆ การตกแต่งเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญมีพบที่โนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีบ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูงจังหวัดนครราชสีมา และบ้านดอนตาเพชรอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
เครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวจะมีลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อาทิที่บ้านเชียง จะมีการพัฒนาลวดลายตกแต่งภาชนะต่างๆ ด้วย ซึ่งในระยะแรกภาชนะเป็นสีดำ เขียนลาดลายด้วยวิธีขูดขีดลงไปในเนื้อดินปั้น ในระยะต่อมามีการใช้ดินสีแดงเขียนเป็นลายต่างๆ โดยเฉพาะลายก้านขดและในระยะหลังก็มีการตกแต่งน้อยลง เพียงแต่ทาด้วยน้ำดินสีแดงเรียบๆ เท่านั้น สำหรับเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านปราสาท มีรูปแบบที่โดดเด่น คือหม้อมีเชิง ปากผายบานกว้าง