ชาติไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณนับได้ประมาณกว่า ๗๐๐ ปี จึงมีหนังสือวรรณคดีจำนวนมากที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมาจนถึงคนไทยในปัจจุบัน คนไทยทุกสมัยเห็นความสำคัญของวรรณคดีไทย จึงช่วยกันรักษาวรรณคดีไว้ด้วยความหวงแหน เพื่อให้เป็นวรรณคดีประจำชาติ มีความยั่งยืน และอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป
วรรณคดีมรดก เป็นคำที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้น เพื่อให้เป็นรายวิชาท ๐๓๓ ตามหลักสูตรภาษาไทย พ.ศ. ๒๕๒๔ หมายถึง "วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องกันมาหลายชั่วอายุคนในด้านวรรณศิลป์กับในด้านที่แสดงค่านิยมและความเชื่อในสมัยของบรรพบุรุษ ส่งเสริมให้เปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ในสมัยของบรรพบุรุษกับชีวิตในปัจจุบัน"
ก่อนที่จะกล่าวถึงวรรณคดีมรดกเรื่องต่างๆ ต้องกล่าวถึงความหมายของ วรรณกรรม และวรรณคดี เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดังนี้
คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายสองประการคือ ประการแรกหมายถึง งานหนังสือ ประการที่สองหมายถึง งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถาเทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพ
คำว่า " วรรณคดี" หมายถึง หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี
ในที่นี้จะไม่นำความหมายเชิงวิชาการวรรณคดีสากลมาใช้ เพราะมีความเหลื่อมล้ำกับความหมายตามพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ส่วนคุณสมบัติของวรรณคดีนั้น ทั้งไทยและสากลจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน สรุปได้ดังนี้
๑. มีเนื้อหาและรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นนิทาน นิยาย บทละคร นวนิยาย ฯลฯ
๒. มีศิลปะการใช้ภาษาอย่างประณีต
๓. แสดงความนึกคิดที่เฉียบแหลมของผู้แต่ง สอดแทรกประสบการณ์ชีวิต และให้ความรู้ในเรื่องสามัญของคนที่ได้รับการศึกษา
๔. แสดงพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้แต่งอย่างสูง ทั้งด้านความรัก ความทุกข์ ความสุข ความผิดหวัง ฯลฯ
๕. มีคุณค่าทางประวัติวรรณคดี แสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนตามกาลสมัยของการแต่งวรรณกรรม
๖. มีคุณค่าทางประวัติภาษา แสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนตามกาลสมัยของภาษาและการใช้ภาษา
หนังสือใดที่มีคุณสมบัติ ๖ ประการดังกล่าวจะได้รับยกย่องจากผู้ที่ศึกษาและสนใจในศิลปะทางวรรณคดีว่า สมควรรักษาไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ
วรรณคดีไทยที่ได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ล้วนมีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์และด้านสังคม ที่แสดงให้เห็นค่านิยมและ ความเชื่อของคนไทย ส่วนการแต่งวรรณกรรมก็ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านร้อยกรองและร้อยแก้ว ผู้แต่งวรรณกรรมร้อยกรองเรียกว่ากวี ส่วนผู้แต่งวรรณกรรมร้อยแก้วมักจะเรียกว่า
ผู้ประพันธ์ หรือจะเรียกตามประเภทของวรรณกรรมก็ได้ เช่น ผู้แต่งวรรณกรรมประเภทบทละครจะเรียกว่า ผู้แต่งบทละคร ผู้แต่งนวนิยายหรือเรื่องสั้นเรียกว่า ผู้แต่งนวนิยาย