การเลือกสมุนไพรที่จะพัฒนาไปใช้ในการสาธารณสุขมูลฐานมีหลักเกณฑ์ที่จะต้องยึดถือดังต่อไปนี้
๑. เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่วินิจฉัยได้เอง เช่น อาการจุกเสียด ท้องผูก ท้องเสีย บาดแผลเล็กน้อย และโรคผิวหนังบางชนิด เป็นต้น
๒. เป็นสมุนไพรที่หาง่ายในท้องถิ่น เพื่อประชาชนจะได้มีใช้เมื่อต้องการ
๓. ยาที่เตรียมขึ้นจากสมุนไพรต้องเป็นยาที่เตรียมได้ง่าย ไม่ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีหรือความชำนาญสูง เช่น เตรียมโดยวิธีต้ม บดและชง เป็นต้น
๔. ยาสมุนไพรนั้นต้องใช้ได้ง่าย หากเป็นสมุนไพรที่กินได้ยาก อาจแข่งขันกับยาแผนปัจจุบันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีรสขมมาก อาจจะต้องปรับปรุงรูปแบบโดยบรรจุในแคปซูลแทนการชงน้ำกิน
๕. สมุนไพรนั้นต้องปลอดภัย อย่างน้อยควรต้องมีการตรวจสอบทางพิษวิทยาอย่างเพียงพอ หากไม่มีหรือมีหลักฐานการตรวจสอบน้อยก็ควรจะเป็นพืชอาหาร หรือเป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น
๖. ต้องแน่ใจว่าสมุนไพรนั้นให้ผลดี อย่างน้อยควรจะมีหลักฐานทางเภสัชวิทยาที่ยืนยันผลการใช้ และถ้าจะให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรสาธารณสุขก็จะต้องมีหลักฐานครบถ้วนทั้งเภสัช-วิทยา พิษวิทยา และการทดลองทางคลินิก ดังนั้นขณะนี้จึงได้มีการส่งเสริมการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรเหล่านี้
๗. สมุนไพรที่นำมาใช้ต้องถูกชนิดจึงจะได้ผลในการรักษา
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจึงพอจะประมวลตัวอย่างสมุนไพรที่สมควรนำมาใช้รักษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้
สรรพคุณและวิธีใช้ เอาผลแก่จัด ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ขนาดครั้งละหนึ่งช้อนชาครึ่งถึงสามช้อนชา ชงกับน้ำอุ่น เอาน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการท้องอืด แน่น เฟ้อ