ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ทศพิธราชธรรม, ทศพิธราชธรรม หมายถึง, ทศพิธราชธรรม คือ, ทศพิธราชธรรม ความหมาย, ทศพิธราชธรรม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ทศพิธราชธรรม

          ทศพิธราชธรรม เป็นหัวข้อธรรมะที่มีผู้สนใจกันมาก เพราะเป็นธรรมะของผู้ปกครองโดยทั่วไป มิได้เจาะจงว่าต้องเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ธรรมะในข้อนี้เป็นของที่บัญญัติขึ้นก่อนสมัยพุทธกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาทางการเมืองการปกครองของโลกตะวันออก ที่วางกรอบปฏิบัติหรือธรรมนูญของผู้มีอำนาจปกครอง ต่อมานักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้รับเข้าไว้เป็นธรรมะในศาสนาของตน และผูกเป็นคาถาภาษาบาลี ดังนี้
                  ทานํ สีลํ  ปริจฺจาคํ       อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
                  อกฺโกธํ  อวิหํ  สญฺจ      ขนฺติญฺจ  อวิโรธนํ

          พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่  พระธรรมปิฎก  ได้ให้คำอธิบายดังนี้

          “ราชธรรม ๑๐ หรือ ทศพิธราชธรรม  (ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองธรรมของนักปกครอง)
               ๑.  ทาน  (การให้  คือ  สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์)
               ๒.  ศีล (ความประพฤติดีงาม คือสำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง  และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน)
               ๓.  ปริจจาคะ  (การบริจาค  คือ  เสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง)
               ๔.  อาชชวะ  (ความซื่อตรง  คือ  ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา  ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต  มีความจริงใจ  ไม่หลอกลวงประชาชน)
               ๕.  มัททวะ (ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย  ไม่เย่อหยิ่ง  หยาบคายกระด้างถือองค์  มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม  ให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง)
               ๖. ตปะ  (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบครองย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้  ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ  มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญ  มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์)
               ๗. อักโกธะ  (ความไม่โกรธ  คือ ไม่เกรี้ยวกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม  มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่นวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง)
               ๘. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด  เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง)
               ๙. ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อลอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม)
               ๑๐. อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม คือ  วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม  คงที่  ไม่มีความ  เอนเอียงหวั่นไหว  เพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี  นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง  ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป)

           มีที่น่าพิจารณาเป็นพิเศษ  คือ  ธรรมประการสุดท้าย อวิโรธนะ  คำว่า วิโรธนะ ไทยมาทับศัพท์ว่า  พิโรธ แปลว่า โกรธ บางคนแปล  อวิโรธนะ  ว่า  ไม่โกรธ ก็จะไปตรงกับ อักโกธะ เป็นการซ้ำกันไป พจนานุกรมบาลี-อังกฤษฉบับของชิลเดอร์  ให้คำแปลว่า Conciliationหมายถึง ความโอนอ่อนผ่อนปรน การประสมประสานสร้างความสามัคคีกลมเกลียว  ซึ่งอาจเป็นราช ธรรมที่สำคัญที่สุดในบรรดาทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักวิชาการทางรัฐศาสตร์ก็รับรองต้องกันว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางในทางการเมือง  ไม่ทรงฝักใฝ่เป็นข้างเดียวกับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดในทางการเมือง  ดังนั้น คุณประโยชน์อันสำคัญที่สุดที่พระมหากษัตริย์จะทรงทำให้แก่ประเทศชาติ และเป็นเรื่องยากที่ผู้อื่นจะสามารถทำได้ คือ การประสมประสานสร้างความสามัคคีในชาติ เป็นธรรมดาที่ผลประโยชน์ทางการเมืองอาจทำให้เกิดความแตกแยกในระหว่างพรรคการเมือง  หรือการแก่งแย่งแข่งดีในระหว่างบุคคลสำคัญของชาติ แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของทุกพรรคทุกฝ่ายและเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า ทรงยึดมั่นต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่  ดังนั้น ทุกๆ  ฝ่ายจึงยอมประนีประนอมข้อขัดแย้งต่างๆ  ถวายพระองค์ได้

          ธรรมอีกหมวดหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงยึดถือปฏิบัติ คือ จักรวรรดิวัตร ๑๒  ได้แก่
               ๑.  อันโตชนัสมิง พลกายัสมิง  สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร
               ๒.  ขัตติเยสุ  สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย
               ๓.  อนุยันเตสุ  สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ข้าราชบริพาร
               ๔.  พราหมณคหปติเกสุ  คุ้มครองพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
               ๕.  เนคมชานปเทสุ  คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย
               ๖.  สมณพราหมเณสุ  คุ้มครองเหล่าพราหมณ์ที่เป็นสมณะ
               ๗.  มิคปักขีสุ  คุ้มครองเนื้อและนกที่มีไว้สืบพันธุ์
               ๘.  อธัมมการปฏิกเขโป  ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม
               ๙.  อธนานัง  ธนานุปปทานัง  ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์
               ๑๐.  สมณพราหมเณ  อุปสังกมิตวาปัญหาปุจฉนัง  เข้าไปหาและสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์
               ๑๑.  อธัมมราคัสส  ปหานัง  เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม
               ๑๒.  วิสมโลภัสส  ปหานัง  เว้นโลภกล้าไม่เลือกควรไม่ควร

         ส่วนคตินิยมที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระธรรมิกราชนั้น  จะเห็นได้จาก จกฺกวตฺติ สุตฺต  ซึ่งอธิบายลักษณะแห่งพระจักรพรรดิ  ดังนี้

         “วัตร  คือ หน้าที่ของพระจักรพรรดิจะต้องเป็นผู้นิยมนับถือธรรม เป็นผู้สนับสนุนธรรม จะต้องเอาพระทัยใส่คุ้มครองรักษาบรรดาผู้อาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของพระองค์ คือ ผู้เป็นอันโตชน ผู้เป็นพลกาย ผู้เป็นขัตติย ผู้เป็นอนุยันตติดสอยห้อยตาม  ผู้เป็นพราหมณ์คหบดีผู้เป็นชาวบ้านชาวชนบท ผู้เป็นสมณพราหมณ์ตลอดจนสัตว์สี่เท้าสองเท้า  ต้องทรงสอดส่องมิให้มีการอธรรมเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์และเกื้อกูลคนจนด้วย
           อนึ่ง เมื่อผู้มีศีลรู้จักสำรวมตน และปฏิบัติตนเพื่อความดีมาสู่พระองค์ และทูลถามถึงอะไรดีอะไรชั่ว อะไรผิดอะไรชอบ  อะไรพึงทำอะไรพึงเว้น  พระองค์จะต้องฟังเขาโดยตลอดแล้วห้ามปรามเขาอย่าให้ไปทางที่ชั่ว  สนับสนุนให้เขาไปในทางที่ดี ดังนี้”

          และมีธรรมอีกหัวข้อหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์จะต้องพึงปฏิบัติคือ ราชสังคหวัตถุ ๔ อันควรกล่าวไว้ให้สมบูรณ์  ได้แก่
                ๑.  สัสสเมธะ  (ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์  ธัญญาหาร  ส่งเสริมการเกษตร)
                ๒.  ปริสเมธะ  (ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ  รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
                ๓.  สัมมาปาสะ  (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรมเป็นต้น)
                ๔. วาจาเปยยะ  (ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ  น้ำคำควรดื่ม  คือ  รู้จักพูดรู้จักปราศรัยไพเราะ สุภาพนิ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี  ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความเชื่อถือ)

          อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยแต่โบราณมี  ๒  มิติ  คือ  ทรงเป็นที่ตั้งของอำนาจสูงสุดของมนุษย์ในสังคมการเมืองส่วนอีกมติหนึ่งด้วยเหตุที่ทรงเป็นสมมติเทพ จึงทรงเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอำนาจหรืออานุภาพของธรรม  กับความเป็นไปของสังคมการเมืองของมนุษย์โดยส่วนรวม ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำรัสว่าในเมืองไทยนี้ แม้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็โทษพระเจ้าแผ่นดิน  พระราชจริยวัตรของพระมหากษัตริย์จึงเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม  การเมืองตามโลกทัศน์แบบไตรภูมิ ดังคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา  แต่งเมื่อพุทธศัก ราช  ๒๓๔๕  บรรยายถึงสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนนี้ว่า

          “ถ้าท้าวพระยาทั้งปวงไม่เป็นธรรม พระยาอุปราชแลเสนาบดีแลเศรษฐีทั้งปวงไม่เป็นธรรมแล้วไพร่ฟ้าประชากรชาวพระนครแต่บรรดาที่อยู่ในเขตแคว้นสิ้นทั้งปวงนั้น  ก็จะไม่เป็นธรรม  ตลอดทั้งวังจังหวัดขอบขัณฑสีมา ฝ่ายเทพยดาที่พิทักษ์รักษามนุษย์ทั้งปวง  ครั้นมนุษย์ไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะพลอยไม่เป็นธรรมไปด้วยสิ้น  ... ครั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลายไม่เป็นธรรมแล้ว  พระจันทร์แลพระอาทิตย์ก็จะเวียนไปมิได้เสมอ  ... ลมก็จะพัดวิปริต... ฝนก็จะไม่ตกชอบฤดู  ... แผ่นดินนั้นก็จะหาโอชะบ่มิได้  ... อาหารสรรพสิ่งทั้งปางนั้นแต่ล้วนปราศจากโอชะไปสิ้นด้วยกัน  ...  สรรพว่านยาต่าง ๆ แต่บรรดาที่เป็นโอสถระงับโรคนั้นจะปราศจากโอชะสิ้นทุกสิ่งทุกประการ”

           ดังนั้นจารีตประเพณีในสังคมไทยจึงเน้นย้ำเป็นพิเศษถึงทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการและจักรวรรดิวัตรจรรยา ๑๒  ประการ ของผู้ปกครองบ้านเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระราชาคณะผู้ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกถา ก็จะต้องนำธรรมดังกล่าวมาอธิบายขยายความ แสดงถวายพระมหากษัตริย์อยู่เสมอการละเลยหรือหละหลวมในวัตรปฏิบัติเหล่านี้จึงเชื่อกันว่า จะก่อให้เกิดความระส่ำระสายในโครงสร้างแห่งอำนาจทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างจนกระทั่งในที่สุดแล้ว อาจก่อให้เกิดความหายนะแก่สังคมมนุษย์หรือบ้านเมืองได้ จึงมีเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่อ้างความชอบธรรมทำรัฐประหาร ตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แทน

ทศพิธราชธรรม, ทศพิธราชธรรม หมายถึง, ทศพิธราชธรรม คือ, ทศพิธราชธรรม ความหมาย, ทศพิธราชธรรม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu