คณะองคมนตรี
คณะองคมนตรี, คณะองคมนตรี หมายถึง, คณะองคมนตรี คือ, คณะองคมนตรี ความหมาย, คณะองคมนตรี คืออะไร
ในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น โดยปกติพระมหากษัตริย์จะมีคณะที่ปรึกษาชุดหนึ่ง เพื่อถวายความคิดเห็นในพระราชกิจทั้งปวงที่ทรงปรึกษา หรือมีพระบรมราชโองการให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งถวาย คณะบุคคลดังกล่าวมีชื่อเรียกต่างๆ กัน แต่โดยทั่วไปมักจะมีชื่อเรียกว่า “คณะองคมนตรี” ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติสำคัญ ๒ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ เคาน์ซิลออฟสเตท คือ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และพระราชบัญญัติปรีวี เคาน์ซิล คือ ที่ปรึกษาในพระองค์ โดยที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (เคาน์ซิลออฟสเตท) นั้น อาจทรงได้แนวพระราชดำริมาจากสภาแห่งรัฐ (Council of State หรือ Consul d'Etat) ของฝรั่งเศส ส่วนที่ปรึกษาในพระองค์ (ปรีวี เคาน์ซิล) นั้นทรงได้แนวพระราชดำริมาจากคณะองคมนตรีอังกฤษอย่างแน่นอน
สภาทั้งสองมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างกัน คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น มีพระราชประสงค์ให้ “ช่วยคิดราชการแผ่นดินซึ่งจะให้มีคุณมีประโยชน์ทำนุบำรุงพระนครทั่วพระราชอาญาเขต ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข” (พระราชปรารภในพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตท คือ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) โดยมีหน้าที่หลัก คือ ถวายความเห็นในข้อราชการแผ่นดินที่ทรงปรึกษาหารือ และถวายคำแนะนำในการทรงตรากฎหมาย ดังปรากฏความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเปิดรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓ (พุทธศักราช ๒๔๓๗) ความว่า “ตั้งแต่ปีแรก ๆ ในราชสมบัติของเรานั้นเราได้มีความคิดเห็นว่า ถ้าจะได้มีผู้ประกอบสติปัญญาประชุมกันอยู่เป็นอัตราบ้าง สำหรับที่จะได้ช่วยกันแก้ไขกฎหมายเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว และสำหรับที่จะได้คิดทำกฎหมายใหม่ ดังนี้ ก็จะเป็นการดีอยู่ เหตุฉะนั้น เราจึงได้ตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่เราได้เป็นประธานเองนั้น เป็นที่ประชุมอันหนึ่งซึ่งได้เห็นเป็นประโยชน์ที่ได้ตกแต่งการที่เกี่ยวข้องด้วยกฎหมายมาเป็นหลายปีแล้ว” ผลงานของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีหลายประการ อาทิ การตรากฎหมายเกษียณอายุลูกทาส เป็นต้น
ส่วนสภาที่ปรึกษาในพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบราชการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วทำรายงานทูลเกล้าฯ ถวาย หรือชำระคดีความเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยมีอำนาจเหมือนศาลรับสั่ง เป็นที่แน่ชัดว่า ปรีวี เคาน์ซิล หรือสภาที่ปรึกษาในพระองค์นี้ ทรงได้แนวพระราชดำริมาจากอังกฤษ เพราะแม้แต่วาระการดำรงตำแหน่งขององคมนตรี หรือที่เรียกในเวลานั้นว่า ปรีวี เคาน์ซิล ก็มีวาระจนสิ้นแผ่นดิน และอยู่ต่อไปได้อีก ๖ เดือน หลังจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงแต่งตั้งสวรรคต (ดูข้อ ๑ พระราชบัญญัติปรีวี เคาน์ซิล คือ ที่ปรึกษาในพระองค์) ทั้งยังใช้พระราชอำนาจทรงแต่งตั้งคอมมิชชั่น (Commission) ทำนองเดียวกับคณะกรรมการของคณะองคมนตรีอังกฤษอีกด้วย ส่วนคอมมิตตีออฟปรีวี เคาน์ซิล (Committee of Privy Council) ก็ทำหน้าที่เป็นศาลรับสั่งเหมือนคณะกรรมการตุลาการของคณะองคมนตรีอังกฤษ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอำนาจ เด็ดขาด หรือที่ทรงเรียกว่า “กลายเป็นตัวคอเวอร์เมนต์” แล้วบทบาทและหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินก็หมดไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตท จ.ศ. ๑๒๓๖ (พุทธศักราช ๒๔๑๗) ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๗ ส่วนปรีวี เคาน์ซิล หรือสภาที่ปรึกษาในพระองค์ก็ลดบทบาทจากที่ปรึกษาลง คงทำหน้าที่ตรวจชำระความฎีกามาโดยตลอด และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีที่ปรึกษาในพระองค์ถึง ๒๒๗ คน และกลายเป็นสภาที่ใหญ่มากจนไม่สามารถประชุมปรึกษากันได้อย่างแท้จริง
ดังนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติปรีวี เคาน์ซิล คือ ที่ปรึกษาในพระองค์ จุลศักราช ๑๒๓๖ และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ แทน คำว่า “องคมนตรี” จึงใช้แทนคำว่า “ที่ปรึกษาในพระองค์” มาตั้งแต่บัดนั้น
ตามพระราชบัญญัติองคมนตรีนี้ พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสามารถในราชการแผ่นดินเป็นองคมนตรี มีวาระดำรงตำแหน่งจนพระมหากษัตริย์ผู้ทรงแต่งตั้งสวรรคตและอยู่ต่อได้อีก ๖ เดือน และทรงคัดเลือกกรรมการที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถด้านต่างๆ จำนวน ๔๐ คน เป็นสภากรรมการขององคมนตรี โดยมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกฝนและเตรียมการมีรัฐสภาในโอกาสต่อๆ ไป สภากรรมการองคมนตรีนี้มีหน้าที่คล้ายสภานิติบัญญัติคือ พิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น พึงสังเกตว่าสภากรรมการองคมนตรีในรัชสมัยนี้ทำหน้าที่คล้ายสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (เคาน์ซิลออฟสเตท) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. ๒๔๗๐ ก็ได้ถูกยกเลิกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คณะองคมนตรี, คณะองคมนตรี หมายถึง, คณะองคมนตรี คือ, คณะองคมนตรี ความหมาย, คณะองคมนตรี คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!