ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เฉลิมพระยศเจ้านาย, เฉลิมพระยศเจ้านาย หมายถึง, เฉลิมพระยศเจ้านาย คือ, เฉลิมพระยศเจ้านาย ความหมาย, เฉลิมพระยศเจ้านาย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
เฉลิมพระยศเจ้านาย

          การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลปัจจุบันเริ่มเมื่อ พุทธศักราช  ๒๔๙๓  ซึ่งเป็นระยะเวลา  ๔ ปี นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่  ๙  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๔๘๙

          ระยะเวลา ๔ ปีนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สมาพันธรัฐสวิส และเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช  ๒๔๙๓  และมีพระราชประสงค์ที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี การเฉลิมพระยศเจ้านายจึงมีขึ้นภายหลังเดือนมีนาคม ดังนี้

          วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช  ๒๔๙๓
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร  แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

          วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามพระราชประเพณี  ดังนั้นจึงทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสี ให้มีพระเกียรติสูงขึ้น  โดยเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินี
          อีก ๓ วันต่อมา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระยศเจ้านายโดยเลื่อนกรมเจ้านายซึ่งดำรงพระยศอยู่แล้วในรัชกาลก่อน ๑ พระองค์ ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าให้ทรงกรมเป็นพระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน๑  พระองค์  และเลื่อนชั้นหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า ๒  พระองค์  มีรายละเอียดดังนี้

          วันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนกรม  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร  ขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีคำนำหน้าพระนามตาบที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ ขึ้นเป็น พระองค์เจ้า มีคำนำหน้าพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา หม่อมเจ้านักขัตรมงคลกิติยากร ขึ้นเป็น พระองค์เจ้า มีคำนำหน้าพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล
         เวลาผ่านไป ๒ ปี จึงมีพระราชพิธีเฉลิม พระยศเจ้านาย โดยเลื่อนกรม ๑ พระองค์ และทรงกรม อีก ๔  พระองค์ ดังนี้

          วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเลื่อนกรม  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระชัยนาทนเรนทร ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

          วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม  มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศอุดมศักดิ์
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล  ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
          เวลาผ่านไปอีก ๔ ปี  จึงมีการเฉลิมพระยศ  เจ้านายขึ้น  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙
          มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
          การเฉลิมพระนามาภิไธยครั้งนี้ เนื่องจากทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช

          วันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมณศักดิ์และฐูานันดรศักดิ์ พระราชวงศ์แด่ สมเด็จพระราชอุปัชฌาจารย์  เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  และประกอบพระราชพิธี  ณ  พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยได้เปลี่ยนเศวตฉัตร ๓ ชั้นเป็นฉัตรตาดสีทอง  ๕  ชั้น สำหรับฐานันดรศักดิ์สมเด็จฯ กรมหลวง
        เป็นเวลายาวนานถึง ๑๔ ปี จึงมีการเฉลิมพระยศเจ้านายขึ้น  เมื่อวันที่ ๙  มิถุนายนพุทธศักราช  ๒๕๑๓
        มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
        มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
        เวลาผ่านไปอีก ๒ ปี ได้มีการเฉลิมพระยศเจ้านายเพียง ๑ พระองค์ เมื่อวันที่  ๒๘  ธันวาคม  พุทธศักราช ๒๕๑๕
        มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
        อีก ๕ ปีต่อมา จึงมีการเฉลิมพระยศเจ้านายขึ้นอีก ๓ พระองค์  ดังนี้

          วันที่ ๓  มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมหลวงโสมสวลี  กิติยากร  พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี  พระวรชายา

          วันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๐
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิตขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เนื่องจากทรงรับราชการเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในการพัฒนาชนบท จนถึงชีพิตักษัยในระหว่างปฏิบัติราชการในชนบท
        พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับการสถาปนาพระยศ เมื่อถึงชีพิตักษัยแล้ว  เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

          วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา  กิติวัฒนาดุลโสภาคย์เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ  สยามบรมราชกุมารี

          วันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช  ๒๕๒๕
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ของพระโอรสพระธิดา ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี  เป็น  พระเจ้าหลานเธอ  พระองค์เจ้า  ทุกพระองค์
         เวลาผ่านไปอีก ๙  ปี จึงมีการเฉลิมพระยศเจ้านายขึ้นอีก ๑ พระองค์ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช  ๒๕๓๔
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนาม  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี  ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ
         อีก ๓ ปีต่อมา มีการเฉลิมพระยศเจ้านายอีก ๑ พระองค์ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ  ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาภายหลังถึงชีพิตักษัยแล้ว

          วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติปีที่ ๕๐
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

          วันที่ ๙  มิถุนายน  พุทธศักราช  ๒๕๓๙  ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๑
         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
         การเฉลิมพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่งนี้ มีผู้ไม่ทราบพระราชประเพณีสงสัยว่า ได้มีการประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย  เมื่อเดือนสิงหาคมพุทธศักราช ๒๔๘๙   ซึ่งผ่านไปแล้วเป็นเวลา  ๕๐ ปี เหตุใดจึงต้องมีพระบรมราชโองการประกาศซ้ำ
การเฉลิมพระปรมาภิไธยครั้งแรกนั้น ต้องทำเพื่อถวายพระเกียรติพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นกรณีซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน  จึงเป็นพระราชพิธีซึ่งทำโดยย่อ
         พระมหากษัตริย์ซึ่งยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น  การออกพระนามก็จะใช้คำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”  ไม่มีคำว่าพระบาทสมเด็จ”  การถวายเศวตฉัตรก็ถวายได้เพียงฉัตร  ๗  ชั้น ไม่ได้ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร  (ฉัตร ๙ ชั้น)
         การถวายพระปรมาภิไธยในครั้งนั้น  ออกพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี  จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช  พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย” แล้วจัดนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นถวายที่พระบรมโกศ
         การเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้  จึงไม่สมบูรณ์ตามราชประเพณีในอดีต

         ตามแบบแผนซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวางระเบียบไว้ และปฏิบัติต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดังนี้
         ๑.  เริ่มด้วย “พระปรมินทร”  หรือ  “พระปรเมนทร” แสดงถึงเลขคี่หรือเลขคู่  ในรัชกาลของพระองค์ให้เขียนว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร”
         ๒.  ตามด้วยพระนามเดิมก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สมมติเทพธพงศ์
         ๓.  ตามด้วยข้อความอธิบายถึงพระคุณลักษณะพิเศษเป็นข้อความยาว ตามแบบแผนของการถวายพระปรมาภิไธย  ซึ่งมีมาในอดีต
         ๔. ลงท้ายด้วยพระนามแผ่นดิน  ซึ่งราษฎรจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

         ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่ราษฎรกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลางหรือออกพระนามเดิมโดยไม่บังควรด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว จึงสมควรที่จะเฉลิมพระปรมาภิไธย  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ให้สมบูรณ์ตามแบบแผนราชประเพณี

         ในศุภมงคลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงครองราชย์มาถึงปีที่ ๕๐  และได้ทรงประกอบพระราชพิธีกาญจนาภิเษก อันเป็นมงคลยิ่ง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีฉันทานุมัติให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในความจงรักภักดีของพสกนิกร ที่ยังคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก และเคารพของอเนกนิกรชนเสมอมา สมควรที่จะได้สนองพระเดชพระคุณถวายพระเกียรติยศให้ปรากฏไพศาลยิ่งขึ้น

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปีติโสมนัส ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายพระนาม  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ให้สมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

         ดังนั้น  จึงประกาศพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  ดังมีความโดยละเอียดในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับทะเบียนฐานันดรเล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑ ข. วันที่ ๘ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๓๙

        ส่วนการที่จะกล่าวถึงพระองค์ในภายหน้าได้วางระเบียบไว้ดังนี้
        ๑. เมื่อกล่าวถึงอย่างเต็มที่ ให้ใช้ตามที่ประกาศเฉลิมพระปรมาภพไธย ในราชกิจจานุเบกษา
        ๒. เมื่อกล่าวถึงอย่างมัธยม ให้ใช้ว่า  “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสกลไพศาล  มหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
        ๓. เมื่อกล่าวถึงอย่างสังเขปให้ออกพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทร”

เฉลิมพระยศเจ้านาย, เฉลิมพระยศเจ้านาย หมายถึง, เฉลิมพระยศเจ้านาย คือ, เฉลิมพระยศเจ้านาย ความหมาย, เฉลิมพระยศเจ้านาย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu