การเพาะเลี้ยงปลากัด
การเพาะเลี้ยงปลากัด, การเพาะเลี้ยงปลากัด หมายถึง, การเพาะเลี้ยงปลากัด คือ, การเพาะเลี้ยงปลากัด ความหมาย, การเพาะเลี้ยงปลากัด คืออะไร
ปลากัดเป็นปลาที่ผสมภายนอก และมีการสร้างรังโดยการก่อหวอดที่ประกอบด้วยฟองอากาศที่เกิดจากเมือกในปากปลากัดจะเจริญพันธุ์พร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่ได้ตั้งแต่อายุ ๓ เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามพ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ผสมพันธุ์ควรมีอายุตั้งแต่ ๕ - ๖ เดือน ขึ้นไป ปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์พร้อมเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีควรมีลักษณะแข็งแรง ปราดเปรียว ชอบก่อหวอดสร้างรัง ปลาเพศเมียที่เป็นแม่พันธุ์ควรสมบูรณ์แข็งแรง ปราดเปรียว มีลักษณะท้องอูมเป่ง บริเวณใต้ท้องมีตุ่มสีขาวใกล้รูก้น เห็นได้ชัดเจน ตุ่มสีขาวนี้เรียก ไข่นำ นอกจากลักษณะกว้างๆ ดังกล่าว ผู้เพาะพันธุ์ปลากัดอาจเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีสันหรือลักษณะรูปทรงของครีบแบบต่างๆ เพื่อผสมให้ได้สีสันและรูปทรงของลูกปลาตามที่ต้องการ
เมื่อคัดปลาพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว ควรเอามาใส่โหล และวางโหลชิดกันให้ปลาพ่อแม่พันธุ์มองเห็นกันตลอดเวลา เพื่อเร่งไข่ให้เกิดการพัฒนาให้เร็วขึ้น วิธีนี้เรียกว่า การเทียบคู่ บริเวณที่ใช้เทียบควรปราศจากสิ่งรบกวน เวลาที่ใช้เทียบอาจประมาณ ๓ - ๑๐ วัน ขึ้นอยู่กับว่าปลาเพศเมียจะมีความสมบูรณ์เพศระดับไหน ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณท้องที่อูมเป่ง เมื่อตัวเมียท้องอูมเป่งเต็มที่นำปลาตัวผู้และตัวเมียมาใส่รวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับใช้ผสมพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นภาชนะขนาดเล็ก เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ หรือโอ่งน้ำซึ่งขนาดพื้นที่ไม่ควรกว้างมากนัก เติมน้ำให้สูงจากก้นภาชนะ ๕ - ๑๐ เซนติเมตร ใส่พันธุ์ไม้น้ำที่ล้างสะอาดหรือใบไม้ เพื่อเป็นที่สำหรับก่อหวอด สร้างรังของปลา หากเป็นภาชนะขนาดเล็กที่ขอบไม่สูงมาก อาจต้องมีฝาปิดด้านบน เพื่อป้องกันปลากระโดด และป้องกันศัตรูปลา
ประมาณ ๑ - ๒ วันหลังจากนั้น ปลาตัวผู้จะเริ่มก่อหวอดสร้างรังติดกับพันธุ์ไม้น้ำหรือใบไม้ เมื่อสร้างหวอดเสร็จแล้ว ปลาตัวผู้จะแผ่พอง ไล่ต้อนปลาตัวเมียให้ไปอยู่ใต้บริเวณหวอด เมื่อปลาตัวเมียลอยตัวมาใต้ผิวน้ำบริเวณหวอด ปลาตัวผู้จะเข้ารัดโดยงอตัวประกบรัดด้านล่าง ปลาตัวเมียก็จะปล่อยไข่ออกมา ขณะเดียวกันปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นภาชนะ และปลาตัวผู้จะว่ายตามลงไป ใช้ปากดูดอมไข่ไว้ทีละฟองจนเต็มปาก จึงว่ายน้ำขึ้นไปพ่นติดไว้ที่หวอด แล้วว่ายขึ้นมาฮุบฟองอากาศ สลับกับการว่ายลงไปเก็บไข่ขึ้นมาพ่นไว้ที่หวอดจนหมด การรัดและวางไข่จะเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง จนตัวเมียวางไข่หมด แต่ละครั้งอาจทิ้งช่วงห่างกันตั้งแต่ ๑ - ๒ นาที จนถึง ๗ - ๘ นาที ระยะเวลาในการผสมพันธุ์วางไข่อาจใช้เวลาตั้งแต่ ๑ - ๖ ชั่วโมง เมื่อการวางไข่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียให้ออกไปห่างจากรัง และทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง โดยปลาตัวผู้จะคอยเก็บไข่ที่หล่นจากรังกลับไปพ่นไว้ที่หวอด เมื่อสังเกตว่าปลาตัวเมียวางไข่เสร็จแล้ว ให้ช้อนปลาตัวเมียออก เพื่อป้องกันตัวเมียกินไข่ที่ผสมแล้ว จากนั้นปล่อยให้ปลาตัวผู้ดูแลไข่ต่อประมาณ ๒ วัน จึงแยกปลาตัวผู้ออก ลูกปลาจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลาประมาณ ๓๖ ชั่วโมง
ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะเกาะอยู่ที่หวอด ในระยะนี้จะมีถุงอาหารติดตัวมาด้วย และจะใช้อาหารจากถุงอาหารนี้หมดในระยะเวลา ๓ - ๔ วัน ดังนั้นในช่วง ๓ - ๔ วันแรก จึงยังไม่จำเป็นต้องให้อาหาร หลังจากถุงอาหารยุบหมดแล้ว ลูกปลาจึงจะเริ่มกินอาหาร ซึ่งในระยะแรกต้องให้อาหารที่มีขนาดเล็ก เช่น ไข่แดงต้มสุกละลายน้ำกรองผ่านตะแกรงตาถี่ หยดกระจายให้ลูกปลาวันละ ๑ ครั้ง หรืออาจให้โรติเฟอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวขนาดเล็ก เป็นเวลาประมาณ ๓ - ๕ วัน จึงให้ไรแดงขนาดเล็กที่กรองคัดโดยใช้ตะแกรงตาถี่ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นให้ไรแดงตัวเต็มวัย จนกว่าลูกปลาโตสามารถกินลูกน้ำได้ ในกรณีที่มีปัญหาในการหาไรแดง อาจใช้ไรสีน้ำตาล หรือไข่ตุ๋นแทนได้ ในการอนุบาลถ้าเพาะปลาในภาชนะขนาดเล็ก ให้ย้ายไปอนุบาลในภาชนะขนาดใหญ่ โดยค่อยๆ เททั้งน้ำและลูกปลาลงไปในภาชนะที่เตรียมไว้อนุบาล ซึ่งอาจจะเป็นตู้กระจก อ่างดิน อ่างซีเมนต์ โอ่งน้ำ หรือถังไฟเบอร์ เพิ่มระดับน้ำวันละ ๓ - ๕ เซนติเมตร ใช้สายยางดูดตะกอนเศษอาหารออกเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย จนประมาณ ๑๐ วัน จึงเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยเปลี่ยนประมาณ ๑ ใน ๔ ของน้ำทั้งหมด เมื่อลูกปลาอายุประมาณ ๑๑/๒ เดือน ก็สามารถแยกเพศได้ ให้คัดแยกปลาออกไปเลี้ยงเดี่ยว เพื่อป้องกันการกัดกัน ลูกปลาอายุ ๑ เดือน จะมีขนาดลำตัวเฉลี่ยประมาณ ๑ เซนติเมตร และจะเพิ่มเป็นประมาณ ๓ เซนติเมตร ในเดือนที่ ๒
การเพาะเลี้ยงปลากัด, การเพาะเลี้ยงปลากัด หมายถึง, การเพาะเลี้ยงปลากัด คือ, การเพาะเลี้ยงปลากัด ความหมาย, การเพาะเลี้ยงปลากัด คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!