การพัฒนาชนบท
การพัฒนาชนบท, การพัฒนาชนบท หมายถึง, การพัฒนาชนบท คือ, การพัฒนาชนบท ความหมาย, การพัฒนาชนบท คืออะไร
ชนบทนอกจากจะเป็นที่รวมของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตและเป็นตลาดรองรับการขยายตัวของความเจริญเติบโตในภาคเศรษฐกิจสาขาอื่น ด้วยเหตุนี้ชนบทจึงเป็นรากฐานแห่งความเจริญและความมั่นคงของชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนบทจึงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบโยงใยถึงทุกส่วนของสังคม
การพัฒนาชนบทเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว จึงประสบอุปสรรคและข้อขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงลงได้โดยง่าย
ปัญหาของชนบทไทยนั้นมีมากมายหลายด้าน มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วปัญหาสำคัญที่ชนบทส่วนใหญ่มีเหมือนๆ กัน คือ ปัญหาความยากจน และความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงความเสื่อมโทรมในคุณภาพชีวิตวงจรของปัญหาดังกล่าวหมุนเวียนต่อเนื่องมาเป็นเวลานานและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวชนบทไม่สามารถพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง
ปัญหาหลักของชาวชนบทคือ การขาดแคลนความรู้ความสามารถในเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชา และการปรับปรุงรักษาคุณภาพ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ที่ดิน ในขณะที่ธรรมชาติแวดล้อมที่มีผลต่อการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ป่าไม้ ฯลฯ ต่างก็มีสภาพเสื่อมโทรมลงตลอดเวลา เป็นผลให้การพัฒนาชนบทที่ผ่านมาไม่บรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก การดำเนินการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นโครงการต่างๆ นั้น มีเป้าหมายสุดท้ายคือความสงบสุขมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ เช่นกัน แต่มีลักษณะการดำเนินงานและกลวิธีที่อาจแตกต่างกันบ้าง ซึ่งอาจแยกแยะแนวพระราชดำริของพระองค์ได้เป็น ๓ ลักษณะกว้างๆ ดังนี้
๑. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (ระยะสั้น)
๒. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาหลักของชาติ (ระยะยาว)
๓. โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นคว้า ทดลอง และวิจัย เพื่อการพัฒนา
๑. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประชาชนเผชิญอยู่เป็นลำดับแรกก่อนถึงแม้ว่าอาจจะมีข้อโต้แย้งทางวิชาการว่า มิได้เป็นการแก้ไขปัญหารากฐาน หรือปัญหาโครงสร้างในเรื่องนี้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวความคิดที่จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนดังนี้
"...ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก...ต้องแก้ไขปวดหัวนี้ก่อน...มันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อจะให้อยู่ในสภาพที่จะคิดได้..."
นอกจากนั้น ในจุดที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างรีบด่วน ซึ่งประชาชนไม่สามารถรอได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีแนวพระราชดำริชัดเจนอีกว่า "เราต้องถือจิตวิทยา ต้องไปเร็วที่สุด" ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรณี ๗ หมู่บ้านในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการพัฒนาของรัฐยังเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากปัญหาด้านการจัดลำดับความสำคัญของโครงการของรัฐ ภายหลังจากที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่เหล่านั้นแล้ว ปัญหาความมั่นคงที่เคยมีอยู่ก็ลดน้อยลง และหมดสิ้นไปในที่สุดนอกจากนี้ หลักจิตวิทยาและแนวทางที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนยังเห็นได้จากกรณีของโครงการแพทย์หลวงและแพทย์พระราชทาน ซึ่งเริ่มในพ.ศ. ๒๕๐๘ ตลอดจนโครงการธนาคารข้าวและธนาคารโค-กระบือ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการอุปโภคบริโภค และโครงการฝนหลวง เป็นต้น
อนึ่ง ตามแนวพระราชดำริที่ทรงถือหลักจิตวิทยาว่า "ต้องไปเร็วที่สุด" ด้วยนั้น มิใช่แต่เป็นเรื่องโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ยังรวมถึงโครงการอื่นๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาที่จะขยายวงลุกลามต่อไปได้ง่าย ซึ่งจะ "ต้องไปเร็วที่สุด" เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมด้วยนอกจากนี้ ยังทรงมีหลักในการพิจารณาบางกรณีด้วยว่า โครงการเมื่อเริ่มแรกอาจจะดูว่ามีราคาแพง แต่ถ้ารีบทำให้เสร็จโดยเร็ว ผลประโยชน์จากโครงการนั้นก็จะได้รับเร็ว ซึ่งเมื่อวิเคราะห์คำนวณตามหลักวิชาการแล้ว ผลที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่าในที่สุด แต่ในบางกรณี ก็ไม่อาจวิเคราะห์ ความคุ้มค่าของโครงการได้อย่างชัดเจน ดังเช่นกรณีที่เกี่ยวกับโครงการที่ต้องใช้หลักสังคมจิตวิทยาหรือหลักรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยในการตัดสินใจแทนหลักเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ก็จะทรงใช้วิธี "ใช้จ่ายให้เกิดผลประโยชน์แและประสิทธิภาพสูงสุด" เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการประหยัดอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๒. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาหลัก
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ มีเป้าหมายมุ่งตรงต่อการแก้ไขปัญหาในชนบทแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะชาวชนบทที่ยากจนอยู่ห่างไกล ทุรกันดาร หรืออยู่ในลำดับความสำคัญรอง เมื่อพิจารณาในเชิงขีดความสามารถในการพัฒนาจากภาครัฐบาล การดำเนินการตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มุ่งแก้ไขปัญหาหลักในชนบทดังกล่าวนี้ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ โครงการพัฒนาแบบผสมผสานหรือสมบูรณ์แบบหรือโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ
นับตั้งแต่แรกที่ทรงเริ่มมีพระราชดำริในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท โครงการพัฒนาแบบผสมผสานเป็นโครงการหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมาก เป็นเครื่องมือสำคัญต่อสู้กับปัญหาชนบท โดยเฉพาะความยากจนทั้งนี้เพราะทรงทราบดีว่าปัญหาความยากจนในชนบทนั้น มิใช่แก้เหตุปัจจัยใดเพียงเหตุปัจจัยเดียวแล้ว ความยากจนหรือปัญหาต่างๆ จะหมดไปแต่ต้องแก้เหตุปัจจัยหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องการความเชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชาร่วมกัน
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานนี้ คือการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวชนบท หรือการช่วยเหลือเกษตรกรยากจนให้มีการกินดีอยู่ดี ที่เรียกกันว่ามีคุณภาพแห่งชีวิต
เหตุที่ต้องมีการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน ก็เพราะว่าการพัฒนาชนบทนั้นไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยมุ่งที่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งแต่อย่างเดียว เช่น เป้าหมายเพิ่มผลิตผลเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร เป้าหมายการขจัดความยากจน เป้าหมายการเสริมสร้างการพึ่งตนเองของชุมชน ฯลฯ การพัฒนาชนบทจะสำเร็จได้ต้องมีเป้าหมายอย่างน้อยทุกประการข้างต้น เมื่อมีเป้าหมายหลายเป้าหมายการพัฒนาชนบทจึงเป็นเรื่องของสหวิทยาการซึ่งนักวิชาการและหน่วยราชการทุกสาขาจะต้องร่วมมือกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด
พระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้มีการจัด และพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนนั้น เป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะโครงการมีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ระดมสรรพกำลังของหน่วยราชการหลายๆ หน่วย เข้าไปดำเนินการร่วมกันอย่างสมัครสมานและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้ชาวชนบทนั้น "พออยู่ พอกิน" ตามควรแก่อัตภาพ
๓. โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นคว้า ทดลอง และวิจัย
โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษาค้นคว้า ทดลอง และวิจัยนี้ เป็นงานที่ทรงเริ่มอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาชนบทมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ทั้งที่ทรงศึกษาภายในเขตพระราชฐานและนอกเขตพระราชฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสังคมไทยระยะยาว ความพยายามดังกล่าวนี้ เป็นการเตรียมพระองค์ในด้านข้อมูลและความรอบรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์แก้ไขปัญหา และเผยแพร่แก่เกษตรกรในชนบท รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
การศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบทดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทุกเรื่องที่มีความสำคัญต่อปัจจัยการผลิต เช่น น้ำ ดิน ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทุน และการตลาด นอกจากนี้ ยังเจาะลึกในรายละเอียดว่า ในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิธีการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การพัฒนาที่จะได้ผลสูงสุด คือ การพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ จึงทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ทำการศึกษาค้นคว้า ค้นหาปัญหาและแนวการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพของภูมิภาคนั้นๆซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเป็นที่รวมของการพัฒนาต่างๆ ในทุกสาขาหลักที่จำเป็นของแต่ละภูมิภาคซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่าเป็น "สรุปผลของการพัฒนา" หรือ "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปเรียนรู้เรื่องการพัฒนาต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตนได้ ตามความต้องการรวมทั้งยังทำหน้าที่ให้การบริการทางวิชาการแก่พื้นที่อื่นๆ ที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา เผยแพร่ต่อไปด้วย ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯ ดังกล่าวมีอยู่จำนวน ๖ ศูนย์ คือ
๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทรา
๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี
๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้อยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่
๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
การพัฒนาชนบท, การพัฒนาชนบท หมายถึง, การพัฒนาชนบท คือ, การพัฒนาชนบท ความหมาย, การพัฒนาชนบท คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!